"วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ชี้ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ เพราะการยุบสภาไม่เป็นโมฆะ

"วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ชี้ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ เพราะการยุบสภาไม่เป็นโมฆะ

"วรเจตน์ ภาคีรัตน์ " ชี้ กำหนดวันเลือกตั้งใหม่ไม่ได้ เพราะการยุบสภาไม่เป็นโมฆะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ขัดต่อรัฐธรรมนูญ ว่า เกิดความเข้าใจผิดหลังจากที่หัวหน้าโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ แถลงผลคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมาก ให้พระราชกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ. 2556 ในส่วนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 ว่าการเลือกตั้ง เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา เป็นโมฆะ ทั้งที่ถ้าพิจารณาตามเอกสารที่เผยแพร่ออกมานั้น ไม่มีส่วนใดเลยที่บอกว่าการเลือกตั้งเป็นโมฆะ

อย่างไรก็ตาม ผลที่ตามมาจากคำวินิจฉัยดังกล่าว ก่อให้เกิดปัญหาในเชิงกฎหมายตามมาอยู่หลายประการ โดยนายวรเจตน์ ได้อธิบายว่า ปัญหาเกิดจากที่ศาลรัฐธรรมนูญตั้งประเด็นวินิจฉัย ไม่ตรงกับที่ผู้ร้องเสนอเข้ามา กล่าวคือ ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องว่า การจัดการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ โดย กกต. ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลหลายประการ โดยผู้ร้องได้ยื่นคำร้องผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อให้ส่งไปให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย โดยอ้างตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1)

ทั้งนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ได้รับคำร้องไว้พิจารณา แต่ได้ตั้งประเด็นวินิจฉัย ไม่ตรงกับผู้ที่ร้องเสนอเข้ามา โดยศาลได้ตั้งประเด็นวินิจฉัยไปว่า ตัวพระราชกฤษฎียุบสภาฯ พ.ศ. 2556 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 หรือไม่ โดยนายวรเจตน์ เห็นว่า การตั้งประเด็นวินิจฉัยของศาลที่ไม่ตรงกับคำร้องเช่นนี้ก็เพื่อที่จะให้ศาลสามารถใช้เป็นข้ออ้างว่า ตนมีอำนาจในการรับคำร้องไว้พิจารณาได้ เนื่องจากกฎหมายขัดรัฐธรรมนูญ แม้กระนั้นก็ตาม พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎรก็ไม่ใช่บทบัญญํติแห่งกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 245 (1)อยู่ดี


โดยตามคำวินิจฉัยกลางฉบับที่5/2557อย่างไม่เป็นทางการ ของสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ระบุว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้วินิจฉัยว่า การไม่มีการรับสมัครส.ส.จำนวน 28 เขตเลือกตั้ง เป็นผลทำให้ พระกฤษฎีกายุบสภา พ.ศ. 2556 เฉพาะในส่วนที่มีการกำหนดให้มีการเลือกตั้งในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 เพราะมิได้จัดการให้มีการเลือกตั้งวันเดียวกันทั่วราชอาณาจักร


ซึ่งถ้าใช้เหตุผลตามคำวินิจฉัยดังกล่าวนี้ถือเป็นเหตุผลทางกฎหมายที่รับไม่ได้และไม่มีที่ไหนในโลกเพราะเท่ากับว่าการที่มีผู้ไปขัดขวางการรับสมัครรับเลือกตั้ง ได้กลายเป็นสิ่งที่ทำให้ตัวพระราชกฤษฎีกาขัดต่อรัฐธรรมนูญ และถ้าจะวินิจฉัยให้ตัวพระราชกฤษฎีกายุบสภา เฉพาะในส่วนของการกำหนดวันเลือกตั้ง ขัดต่อรัฐธรมมนูญเพียงส่วนเดียว ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะการกำหนดวันเลือกตั้ง เป็นผลสืบเนื่องจากการยุบสภาฯ

ดังนั้น ถ้าต้องการกำหนดวันเลือกตั้งทั่วไปใหม่ก็ต้องทำให้การยุบสภาเป็นโมฆะ ซึ่งถึงอย่างไรก็ไม่สามารถกระทำได้แล้วตามรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจ ประกาศให้การยุบสภาเป็นโมฆะได้ด้วย



"พระราชกฤษฎีกายุบสภา ได้กำหนดให้มีวันเลือกตั้งเป็นวันเดียว ทั่วราชอาณาจักรแล้ว คือ วันที่ 2 กุมภาพันธ์ แต่ศาลไปเอาเรื่องการกำหนดวันเลือกตั้ง มาปนกับ การจัดการเลือกตั้ง ซึ่งรัฐธรรมนูญ เขาเขียนว่า ต้องกำหนดเป็นวันเดียวกัน ไม่ได้บอกว่ามันต้องจัดพร้อมกัน" อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ. กล่าว

นอกจากนี้ ศาลรัฐธรรมนูญ ยังไม่ได้ให้เหตุผลว่า การกำหนดวันเลือกตั้งในพระราชกฤษฎีกาฯ ไม่ชอบตามรัฐธรรมนูญเพราะอะไร,การดำเนินการจัดการเลือกตั้งชอบด้วยกฎหมายหรือไม่,การไปลงคะแนนเสียงของประชาชนจะทำอย่างไรรวมถึงนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการตามพระราชกฤษฎีกาที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญฉบับนี้ต้องรับผิดด้วยหรือไม่ ซึ่งตามเหตุผลจะไปเอาผิดกับผู้รับสนองพระราชกฤษฎีกาก็ไม่ได้ เพราะวันที่นายกรัฐมนตรี ประกาศยุบสภา และกำหนดให้มีการเลือกตั้ง เป็นวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ก็ไม่สามารถรู้อนาคตได้ว่าวันดังกล่าวจะจัดการเลือกตั้งได้หรือไม่ เพียงแต่กำหนดไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 108 วรรค 2 ที่กำหนดให้ เมื่อประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎร จะต้องตราพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งภายในระยะเวลาไม่น้อยกว่า 45 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน

ส่วนคะแนนเสียง 20 ล้านเสียงที่ไปลงคะแนนในการเลือกตั้ง 2 กุมภาพันธ์ ก็ยังไม่ถูกทำลายลงในระบบกฎหมาย แต่คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นเสมือนการบีบให้รัฐบาลและกกต. ต้องออกพระราชกฤษฎีกากำหนดวันเลือกตั้งใหม่ ซึ่งจะทำให้คะแนน 20 ล้านเสียงถูกทำลายลงไปโดยปริยาย แต่ทั้งนี้หากมีผู้นำประเด็นดังกล่าวไปร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญอีกก็จะมีประเด็นปัญหาให้ถกเถียงกันต่อไป

ทั้งนี้ผลกระทบในระยะสั้นจากนี้ไปกกต.จะต้องมาตีความคำวินิจฉัยที่ไม่มีความชัดเจนและจะเกิดปัญหาตามมามากมายเช่น การเลือกตั้งไม่เป็นโมฆะ เงินค่าสมัครก็ไม่คืน การดำนเนินคดีเกี่ยวกับการทุจริตการเลือกตั้งก็ยังดำเนินต่อ แต่จะออกพระราชกฤษฎีกาแก้ไขเพิ่มเติมให้มีการเลือกตั้งใหม่ แล้วเงินค่าหาเสียงของผู้สมัคร รวมถึงงบประมาณในการจัดการเลือกตั้งครั้งก่อน ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยต่อจากนี้ กกต.คงจะต้องหารือกับรัฐบาล เพื่อแก้ปัญหาและจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว ส่วนผลกระทบระยะยาวที่ตามมา คือ ต่อจากนี้ ถ้าประเทศไทยจะมีการเลือกตั้ง แต่ถ้ามีคนไปขัดขวางไม่ให้มีการรับสมัครเกิดขึ้นได้แม้แต่เขตเลือกตั้งเดียว พระราชกฤษฎีกานั้นจะขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทันที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook