จับตาบทบาท นปช.หลัง"ปู"จ่อพ้นสภาพนายก

จับตาบทบาท นปช.หลัง"ปู"จ่อพ้นสภาพนายก

จับตาบทบาท นปช.หลัง"ปู"จ่อพ้นสภาพนายก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากตุลาการศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องกรณีที่ประธานวุฒิสภา ส่งความเห็นของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยสถานภาพความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) ประกอบมาตรา 268 หรือไม่ จากกรณีการโยกย้ายตำแหน่ง นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.)
โดยศาลพิจารณาเห็นว่า คำร้องดังกล่าวมีการยื่นมาตามช่องทางถูกต้องคือสมาชิกวุฒิสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ยื่นคำร้องต่อประธานวุฒิสภา และประธานวุฒิสภา ได้ส่งคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญ จึงอยู่ในอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะรับพิจารณา จึงมีมติเอกฉันท์ รับคำร้องไว้พิจารณา และให้รักษาการนายกรัฐมนตรี ชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาภายใน 15 วัน นับแต่วันรับสำเนาคำร้อง
ทีมข่าวsanook.com จะย้อนดูข้อกฏหมายตามที่อดีตรัฐมนตรีคลัง นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาลได้เขียนเฟสบุ๊คส่วนตัวไว้เมื่อ 25 มีนาคม อีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ชัดเจนว่ามีข้อกฏหมายมาตราใดบ้างที่เกี่ยวข้องและทิศทางของคดีจะเป็นอย่างไรในอนาคต

มาตรา 266 ซึ่งบังคับว่า " สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร .. ต้องไม่ใช้สถานะหรือตำแหน่งการเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร .. เข้าไปก้าวก่ายหรือแทรกแซงเพื่อผลประโยชน์ของตนเองของผู้อื่น .. ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ในเรื่องต่อไปนี้
.. (2) การบรรจุ แต่งตั้ง โยกย้าย โอน เลื่อนตำแหน่ง และเลื่อนเงินเดือนของข้าราชการซึ่งมีตำแหน่งหรือเงินเดือนประจำ...."
มาตรา 268 " นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีจะกระทำการใดที่บัญญัติไว้ในมาตรา 266 มิได้ เว้นแต่เป็นการกระทำตามอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการตามนโยบายที่ได้แถลงต่อรัฐสภาหรือตามที่กฎหมายบัญญัติ "
กรณีการโยกย้ายคุณถวิล เปลี่ยนศรี ศาลปกครองได้ตัดสินแล้ว ว่าเป็นการไม่ชอบ
หากศาลรัฐธรรมนูญเห็นพ้อง ว่าเป็นการดำเนินการเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ ในการเลื่อนตำแหน่งให้แก่คุณเพรียวพันธ์ ซึ่งเป็นญาติของนายกยิ่งลักษณ์ ศาลรัฐธรรมนูญจะถือว่าเข้าข่ายมาตรา 268

กลับไปที่มาตรา 182 " ความเป็นรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว เมื่อ ... (7) กระทำการอันต้องห้ามตามมาตรา 267 มาตรา 268 หรือมาตรา 269 "

ดังนั้น หากศาลรัฐธรรมนูญชี้ขาด ว่าการโยกย้ายคุณถวิล เข้าข่ายเป็นการกระทำอันต้องห้าม ตามมาตรา 268 เมื่อใด นายกยิ่งลักษณ์จะพ้นตำแหน่งไปตามมาตรา 182 (7) ทันที ไม่ต้องมีขบวนการถอดถอนแต่อย่างใดอีกแล้ว
และเมื่อความเป็นนายกรัฐมนตรีของคุณยิ่งลักษณ์สิ้นสุดลง คณะรัฐมนตรีก็จะพ้นตำแหน่งไปทั้งหมด ต้องมีการแต่ตั้งนายกและคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ทันที
ทั้งนี้เป็นไปตามมาตรา 180 " รัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เมื่อ (1) ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามมาตรา 182 ..."

แต่การแต่งตั้งดังกล่าว จะมีปัญหา
เพราะถึงแม้มาตรา 171 กำหนดไว้ว่า " .. นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร.."
แต่การปฏิบัติตามมาตรานี้ กระทำไม่ได้ เพราะในขณะนี้ ไม่มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแม้แต่คนเดียว
ผม จึงคิดว่าจะไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากการตั้งนายกรัฐมนตรีโดยอาศัยมาตรา 7
(ขอบคุณข้อมูลจากเฟสบุ๊ค Thirachai Phuvanatnaranubala)

จากข้อเท็จจริงทางกฏหมาย ซึ่งคงไม่นานศาลคงมีคำวินิจฉัยในเรื่องดังกล่าว แต่ที่ต้องจับตาหลังจากนี้คือ ในส่วนของแกนนำพรรคเพื่อไทยและแนวร่วมอย่าง นปช. จะมีทิศทางอย่างไร โดยเฉพาะ การนัดชุมนุมในวันที่ 5เม.ย.นี้ ของจตุพร พรหมพันธุ์ในฐานะประธานฯ ที่คุยอวดสื่อว่าจะระดมพล คนเสื้อแดงมาร่วมชุมนุมถึง5แสนคน โดยมีรัฐมนตรีแรงงานอย่าง ร.ต.อ.เฉลิมอยู่บำรุง ออกมาสัมทับว่า คนมาชุมนุมล้นหลามแน่
และจากท่าทีของจตุพร ที่บอกว่าการชุมนุมจะยืดเยื้อ ก็ต้องรอติดตามว่า จะมีแรงผลักดันได้ตามเป้าหรือไม่ เพราะที่ผ่านมา การชุมนุมของ นปช.ในหลายเวทีก่อนหน้านี้ ดูเหมือนมวลชนจะไม่หนาแน่นเหมือนอดีต และส่วนใหญ่จะเป็นการชุมนุมแบบชั่วคราว
หากครั้งนี้ ในแง่ของมวลชนจำนวนได้ตามเป้า ก็ต้องจับตาดูว่า แกนนำจะปรับกลยุทธ์ เพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการเมืองอย่างไร และที่สำคัญ ศาลรัฐธรรมนูญ จะเป็นเป้าหมายในการกดดันของซีก นปช.หรือไม่ ต้องจับตาดู

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook