กองทุน FIF ครึ่งปีแรก รายย่อยปอดแหก รายใหญ่ไม่เข็ด

กองทุน FIF ครึ่งปีแรก รายย่อยปอดแหก รายใหญ่ไม่เข็ด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เปิดศักราชปี 2552 ได้ 3 สัปดาห์ ความเคลื่อนไหวการออกกองทุนรวมที่ลงทุนต่างประเทศ (FIF )เงียบเหงา โดยมีเพียง 2 กอง ที่ออกโดยบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม(บลจ.) กรุงไทย จำกัด(มหาชน) และบลจ.ทิสโก้ฯ เทียบไม่ได้เลยกับปีที่ผ่านมา ที่กองทุนประเภทนี้คึกคักตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรเกาหลีใต้ ทำให้ทั้งปี 2551 เงินคนไทยกระจุกในบอนด์แดนโสมถึงเกือบ 3 แสนล้านบาท

ขณะที่การลงทุนต่างประเทศในปีที่ผ่านมา นักลงทุนบาดเจ็บถ้วนหน้า เนื่องจากได้รับผลกระทบจากวิกฤติการเงินโลก ส่งผลให้ล่าสุดบลจ.ทิสโก้ฯ กำลังจะขออนุมัติผู้ถือหน่วยลงทุนยืดอายุกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรประเทศนิวซีแลนด์และออสเตรเลีย เนื่องจากขาดทุนค่าเงิน

***คาดลูกค้าเศรษฐียังกล้า

สำหรับแนวโน้มการออกกองทุนFIF ครึ่งปีแรกของปีวัวบ้า ผู้บริหารบลจ.มีมุมมองคล้ายกันว่า นักลงทุนที่มีเงินลงทุนสูง(ไฮ เน็ต เวิร์ธ)น่าจะเป็นผู้กล้านำเงินไปลงทุนก่อน เนื่องจากนักลงทุนกลุ่มนี้มีความรู้เรื่องการลงทุนทั่วโลกดีอยู่แล้ว อีกทั้งเป็นกลุ่มที่รับความเสี่ยงได้สูง

ประภาสน์ ตันติพิบูลย์ศักดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.อยุธยาฯ กล่าวว่า ไตรมาสแรกของปีนี้ จะได้เห็นกองทุนFIF บางตา เพราะคาดว่าจะมีเฉพาะนักลงทุนไฮ เน็ต เวิร์ธ ที่กล้าไปลงทุนต่างประเทศ เพราะสถานการณ์การลงทุนทั่วโลกยังมีความเสี่ยงสูง

ส่วนนักลงทุนรายย่อยจะกล้าออกไปลุยไฟ (กล้าลงทุน) หรือไม่ มือบริหารกองทุนจากบลจ.อยุธยาฯ วิเคราะห์ว่าก็ขึ้นอยู่กับว่า นักลงทุนรายใหญ่ที่ออกไปลงทุนเป็นอย่างไรบ้าง

ถ้าหากรายใหญ่ไม่บาดเจ็บ(ขาดทุน)กลับมาเหมือนปี 2551 ก็คาดว่าจะทำให้นักลงทุนรายย่อยกล้าออกไปลงทุนกันมากขึ้น

***บลจ.บัวหลวงฯ เมิน

สำหรับบลจ.บัวหลวงฯ ในเครือแบงก์กรุงเทพ มีนโยบายชัดว่าครึ่งปีแรกนี้ ยังไม่ออกกองทุนFIF

โดย วศิน วัฒนวรกิจกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการฝ่ายการตลาด ยอมรับว่าลูกค้าของบลจ.บัวหลวงฯ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ออมรายย่อยของธนาคารกรุงเทพ บริษัทแม่ และมีพฤติกรรมการลงทุนที่ค่อนข้างระมัดระวัง(คอนเซอร์เวทีฟ) ดังนั้นในสภาวะการลงทุนปัจจุบันที่ยังมีความเสี่ยงสูง บลจ.บัวหลวงฯจึงประเมินว่ายังไม่ใช่จังหวะที่จะออกกองทุนFIF

ส่วนโปรดักต์กองทุนรวมที่บลจ.บัวหลวงฯ นำเสนอลูกค้าช่วงนี้ จะเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง นั่นคือ กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้น หรือกองทุนตลาดเงิน (มันนี่ มาร์เก็ต ฟันด์ )

***บลจ.กสิกรไทยฯ เจาะเงินฝาก 50 ล้าน

เช่นเดียวกับเสาวณีย์ ศรีสุวรรณกิจ รองกรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทยฯ กล่าวว่า บริษัทยังชะลอการออกกองทุนFIF เนื่องจากมีความเสี่ยง แต่เบื้องต้นก็ยังสนใจออกกองทุนประเภทนี้ โดยอาจเป็นกองทุนที่ลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลต่างประเทศ อาทิ พันธบัตรเกาหลีใต้ ที่น่าจะมีโอกาสกลับมาได้รับความนิยม

การลงทุนในพันธบัตรต่างประเทศ หากได้ทำประกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนแล้วยังสามารถมีกำไรก็ถือว่าลงทุนได้ ขณะที่ผลตอบแทนจากพันธบัตรอย่างเดียว คงไม่ต่างกับผลตอบแทนในประเทศมากนัก

ขณะที่ผู้บริหารบลจ.กสิกรไทยฯ กล่าวยอมรับว่า หากจะออกกองทุนFIF ในสถานการณ์ปัจจุบัน ลูกค้าเป้าหมายจะเน้นไปที่กลุ่มผู้มีประสบการณ์ในการลงทุนสูง และกลุ่มลูกค้าไฮ เน็ต เวิร์ธ ของธนาคารกสิกรไทยที่มีเงินลงทุนประมาณ 50 ล้านบาท ขึ้นไป

***ฟินันซ่า มองเป็นโอกาส

ส่วนมุมมองของธีระ ภู่ตระกูล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บลจ.ฟินันซ่าฯ ประเมินว่า ครึ่งปีแรกนี้ น่าจะเป็นจังหวะออกกองทุนต่างประเทศที่มีนโยบายลงทุนในรายอุตสาหกรรมทั่วโลก และเอเชีย อาทิ กลุ่มสาธารณูปโภค กลุ่มพลังงานทดแทน เป็นต้น เพราะจะได้รับการกระตุ้นจากภาครัฐและจะฟื้นตัวเร็วกว่ากลุ่มอื่นๆ

ธีระบอกว่า จากการประการเมินสถานการณ์ น่าจะเป็นการลงทุนระยะยาว 3 ปีขึ้นไปเพราะเมื่อเศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว มีโอกาสเป็นไปได้ที่จะฟื้นอย่างจริงจังไม่ใช่เป็นเพียงระยะสั้นจนทำให้เกิดความผันผวนในการลงทุน

การกระจายลงทุนไปต่างประเทศ ดีกว่าลงทุนในประเทศอย่างเดียว เทียบดัชนีหุ้นไทยปีที่ผ่านมา ซึ่งลดลง 50 % แต่ตลาดหุ้นทั่วโลก ปรับลงเฉลี่ย 30 % เท่านั้น ส่วนพันธบัตรในประเทศผลตอบแทนต่ำมาก 2 % ต่อปีเท่านั้น (พันธบัตรอายุ 10 ปี) จะเห็นว่าไม่สามารถสู้เงินเฟ้อได้

ประโยคข้างต้นคือ มุมมองด้านการลงทุนต่างประเทศของธีระ ซึ่งคลุกคลีในวงการบลจ.มากว่า 10 ปี

สำหรับบลจ.ฟินันซ่าฯ ธีระยอมรับว่าปีนี้แม้ลูกค้าไม่ได้รับผลกระทบจากกองทุนต่างประเทศมากนักเมื่อเทียบกับค่ายอื่นๆ โดยมีกองทุนFIF ภายใต้การบริหารเพียง 2 กอง โดยเฉพาะ กองทุนเปิดฟินันซ่า โกลบอลคอมมอดิตี้ แม้มูลค่าทรัพย์สินสุทธิ(เอ็นเอวี)ปรับลง แต่ลูกค้าเข้าใจ

ดังนั้นหากบลจ.ฟินันซ่าฯ จะออก FIF กองใหม่ คาดว่าลูกค้าน่าจะกล้าลงทุน โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าเก่า ซึ่งมีทั้งสถาบัน และกลุ่มไฮ เน็ต เวิร์ธ ที่มีเงินลงทุน 10 ล้านบาทขึ้นไป ตลอดจนลูกค้ารายย่อยที่ลงทุนหลัก 100,000 บาทต่อกองทุน ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีลูกค้ารายย่อยประมาณ 1,000 บัญชี

***บลจ.ยูโอบีฯ รับลูกค้าหด

สำหรับบลจ.ยูโอบี(ไทย)ฯ โดยวนา พูนผล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่า ลูกค้ากองทุนFIF ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มไฮ เน็ต เวิร์ธ ที่มีเงินลงทุน 5-10 ล้านบาทขึ้นไป และเป็นผู้ที่มีความรู้และสามารถรับความเสี่ยงได้มากกว่ารายย่อย

ขณะที่ยอมรับว่า ลูกค้าบางส่วนอาจไม่กล้าลงทุนเพิ่มหากมีการออกFIF กองใหม่ นอกจากนี้ลูกค้าบางกลุ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจชะลอ โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในอาชีพส่งออก อุตสาหกรรมยานยนต์ เป็นต้น

นั่นคือ ความเคลื่อนไหวการออกกองทุนFIF ที่แต่ละบลจ.มีนโยบายและแนวคิดที่ไม่แตกต่างกันนัก โดยภาพที่สะท้อนชัดคือ ครึ่งปีแรกคนไทยไปลงทุนต่างประเทศแผ่ว!

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook