ไพฑูรย์ สั่งเลิกควักเงินพันล้านซื้อข้าวสารแจก

ไพฑูรย์ สั่งเลิกควักเงินพันล้านซื้อข้าวสารแจก

ไพฑูรย์ สั่งเลิกควักเงินพันล้านซื้อข้าวสารแจก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ระบุ ประโยชน์น้อย-เสี่ยงทุจริต เดินหน้าลดเงินสมทบ ยันไม่กระทบกองทุน ประธาน บอร์ด สปส.พร้อมถอย ด้านลูกจ้างยังค้านไม่เลิก นัดบุกพบ ไพฑูรย์ จี้ยกเลิกทั้ง 2 โครงการ 26 ม.ค.นี้ ตั้งวันสต็อปเซอวิสแก้ปัญหาเลิกจ้างทุกจังหวัด เมื่อวันที่ 22 ม.ค.ที่กระทรวงแรงงาน นายไพฑูรย์ แก้วทอง รมว.แรงงาน กล่าวถึงกรณีหลายฝ่ายออกมาแสดงความเห็นคัดค้านมติคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.)ที่เห็นชอบให้นำเงินจำนวน 1,000 ล้านบาทซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9.3 ล้านคนคนละ 5 กิโลกรัม ว่า โครงการดังกล่าวไม่ใช่เป็นความคิดของตน แต่เป็นเรื่องเก่าที่ทำมาตั้งแต่รัฐบาลชุดที่แล้ว และมีการเสนอให้บอร์ด สปส.พิจารณามาแล้วถึง 6 ครั้ง ล่าสุดแม้ข้อสรุปของบอร์ด สปส.จะยังไม่มาถึงตนอย่างเป็นทางการ แต่เท่าที่ปรากฏเป็นข่าวตามสื่อมวลชน ตนได้พิจารณาถึงข้อดีข้อเสียแล้ว เห็นว่าในสถานการณ์ปัจจุบัน หากยังเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป ก็อาจเกิดประโยชน์กับผู้ประกันตนไม่มากนัก เพราะข้าวสาร 5 กิโลกรัมคิดเป็นเงินเพียง 100 กว่าบาท แต่ทั้งโครงการต้องใช้เงินถึง 1,000 กว่าล้านจึงสั่งให้มีการยกเลิกโครงการดังกล่าวไปแล้ว ตอนนี้รัฐบาล ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่มีรายได้ต่ำกว่า 15,000 บาท โดยจะให้เงินคนละ2,000 บาทแล้ว จึงคิดว่าความจำเป็นในการให้ข้าวสาร 5 กิโลกรัมมีน้อย และอาจเปิดช่องให้เกิดการทุจริต ได้ข้าวไม่ได้มาตรฐาน เหมือนปลากระป๋องก็ได้ นายไพฑูรย์กล่าวและว่า อย่างไรก็ตามเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนกับการนำเงิน สปส.มาใช้ช่วยเหลือผู้ประกันตนในอนาคต จึงได้สั่งการให้นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ทำหนังสือถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อตีความข้อกฎหมายว่าสามารถทำได้หรือไม่ด้วย นายไพฑูรย์ ยังกล่าวถึงมติที่ประชุม บอร์ดสปส.ที่จะให้นายจ้างและลูกจ้างการลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม อีกร้อยละ2.5 ว่าจะยังคงเดินหน้าต่อเพราะเป็นนโยบายที่ตนมอบให้สปส.พิจารณาเอง โดยเห็นว่าหากทำได้จะช่วยไม่ให้กองทุนประกันสังคม ได้รับผลกระทบหากคนตกงานจำนวนมากถึง 1 ล้านคน ซึ่งอาจต้องเสียเงินจากกรณีว่างงานมากกว่า 40,000 ล้านบาทพร้อมยืนยันว่าจะไม่ส่งผลกระทบกับกองทุนในอนาคตเพราะทำในระยะสั้นเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการและนายจ้างภายในปีนี้เท่านั้น นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวไม่ถือว่าเป็นข้อบกพร่องของบอร์ด สปส. แต่อาจถูกมองในเรื่องของคมเหมาะสม หรือความคุ้มค่าหรือไม่ อย่างไรก็ตามยืนยันว่าการที่บอร์ดมีมติดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ซึ่งรัฐมนตรีจะมีความเห็นต่อมติดังกล่าวอย่างไร อยู่ในอำนาจของรัฐมนตรีที่จะพิจารณา ส่วนข้อสงสัยที่โครงการดังกล่าวถูกส่งเข้าบอร์ดพิจารณามากถึง 6 ครั้งนั้น นั้นก็เพราะเป็นเรื่องที่พิจารณามาต่อเนื่อง และมีข้อโต้เถียงหลายครั้งของ ผู้ดำเนินโครงการ และตัวแทนส่วนราชการ เช่น สปส. และบางครั้งตนซึ่งเป็นประธานบอร์ด สปส.รวมถึงเลขาธิการ สปส.ไม่ได้เข้าร่วมประชุม ประธานที่ประชุมชั่วคราวจึงไม่กล้าตัดสินใจ และนัดว่าให้มาประชุมตัดสินเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ไม่ได้เป็นเรื่อง แต่อย่างไรก็ตามก็พร้อมที่นำไปหารือในที่ประชุมบอร์ดยกเลิกต่อไป นายประกาย วิเศษวิสัย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย และ บอร์ด สปส.ฝ่ายลูกจ้าง กล่าวว่า ในที่ประชุม บอร์ด สปส.เมื่อวันที่ 20 ม.ค.ที่ผ่านมา ตนได้คัดค้านการนำเงิน 1 พันล้านไปซื้อข้าวสารแจกผู้ประกันตน 9.3 ล้านคน เพราะเกรงว่าระบบการจัดซื้อจัดจ้าง และการแจกจ่าย อาจเป็นเรื่องอ้อยเข้าปากช้างได้ ทั้งนี้คิดว่าแรงงานไทยไม่ถึงขั้นต้องอดข้าว เนื่องจากอาจจะนำมาจากบ้านต่างจังหวัด และ บางคนซื้อได้ในราคาถูกกว่า ถ้าหากจะแจกจริงก็ให้แจกกับคนที่กำลังถูกเลิกจ้างดีกว่า เพราะกำลังได้รับความเดือดร้อนจะเป็นประโยชน์มากกว่า ส่วนการลดเงินสมทบนั้นเห็นว่าไม่สมควรลดให้กับนายจ้างที่มีสถานภาพธุรกิจดี หรือ ปานกลาง ส่วนลูกจ้างเองก็ได้รับผลประโยชน์ในเรื่องนี้ กลับเป็นนายจ้างที่ได้ผลประโยชน์ แต่หากจะลดไม่สวมควรลดในส่วนของเงินกองทุนชราภาพ เพราะจะกระทบให้กองทุนเสียหายในอนาคตได้ ทั้งนี้ในวันที่ 26 ม.ค.เครือข่ายผู้ใช้แรงงานจะไปยื่นหนังสือเรียกร้องให้นายไพฑูรย์ รมว.แรงงาน พิจารณายกเลิกโครงการทั้ง 2 โครงการ ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในส่วนของการลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 เป็นร้อยละ 2.5 นั้นลูกจ้างจะได้รับประโยชน์โดยจะได้รับเป็นเงินเดือนเพิ่มขึ้น โดยคิดได้จากกรณีผู้ประกันตนที่มีฐานเงินเดือน 15,000 บาท ซึ่งจะต้องจ่ายเงินประกันสังคมเดือนละร้อยละ 5 หรือ 750 บาท แต่หากลดเงินสมทบจากร้อยละ 5 ให้เหลือร้อยละ 2.5 ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนประกันสังคมเดือนละ 375 บาท ลดลงจากเดิม 350 บาท ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับฐานเงินเดือนของผู้ประกันตนแต่ละคน ตั้งวันสต็อปเซอวิสแก้ปัญหาเลิกจ้างทุกจังหวัด ที่กระทรวงแรงงาน นายสมชาย ชุ่มรัต ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวระหว่างประชุมมอบนโยบาย และแนวทางการปฏิบัติงานให้กับหัวหน้าส่วนราชการ 5 หน่วยงานในส่วนภูมิภาค ประกอบด้วย แรงงานจังหวัด สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัด พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัด จัดหางานจังหวัด และประกันสังคมจังหวัด เพื่อรับมือกับปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ว่า ให้ทั้ง 5 หน่วยงานรายงานสถานการณ์การเลิกจ้างแต่ละจังหวัดให้ส่วนกลางทราบอย่างรวดเร็ว และทำการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้าง แบบเบ็ดเสร็จ หรือ One stop Service ขึ้นในแต่ละจังหวัด เพื่อเป็นศูนย์ดูแลลูกจ้างแบบครบวงจร นับตั้งแต่ถูกเลิกจ้าง การรับสิทธิประกันการว่างงานจากสำนักงานประกันสังคม การหางานให้ทำ หรือการนำมาพัฒนาหรือฝึกฝีมือ โดยให้ยึดรูปแบบการจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ถูกเลิกจ้างที่จังหวัดอยุธยา หรือ อยุธยา โมเดล และให้มีการคัดเลือกหัวหน้าศูนย์ เพื่อทำหน้าที่ประสานข้อมูลกรณีมีแรงงานถูกเลิกจ้างกับผู้ว่าราชการแต่ละจังหวัดเพื่อวางแผนรับมือ ขณะเดียวกัน ก็ให้วางแผนรอบรับปัญหาแรงงานคืนถิ่นในจังหวัดที่ไม่มีปัญหาการเลิกจ้างด้วย การตั้งศูนย์ ดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการถูกเลิกจ้างมีความกังวลใจน้อยลง โดยผู้ที่ถูกเลิกจ้างสามารถไปลงทะเบียนกับกรมการจัดหางาน จากนั้นข้อมูลจะถูกส่งต่อไปประกันสังคม เพื่อรับสิทธิประกันการว่างงาน หรือสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่หากอยากฝึกฝีมือเพิ่มเติมได้ทันที นายสมชาย กล่าว นายสมชาย กล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์เลิกจ้างในขณะนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 -19 ม.ค. 52 มีสถานประกอบการปิดกิจการไปแล้ว 35 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,950 คน และมีแนวโน้มสถานประกอบการ 39 แห่ง ลูกจ้าง 28,573 คน ที่อยู่ในข่ายเฝ้าระวังจะถูกเลิกจ้างโดยสถานประกอบการประเภทผลิตอุปกรณ์ และชิ้นส่วนอิเลคทรอนิค และชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ และเฟอร์นิเจอร์ มีการเลิกจ้างมากที่สุด
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook