เพื่อไทย ซัด การยื่นคำร้องกรณีถวิลต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นขบวนการล้มล้างรัฐบาล

เพื่อไทย ซัด การยื่นคำร้องกรณีถวิลต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นขบวนการล้มล้างรัฐบาล

เพื่อไทย ซัด การยื่นคำร้องกรณีถวิลต่อศาลรัฐธรรมนูญเป็นขบวนการล้มล้างรัฐบาล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ หัวหน้าพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย นายโภคิน พลกุล กรรมการยุทธศาสตร์ นายชูศักดิ์ ศิรินิล ที่ปรึกษากฎหมายและนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทยพร้อมสมาชิกพรรคเพื่อไทย ได้ร่วมกันแถลงข่าว โดยนายโภคินฯ ได้แถลงว่าตามที่ได้มีความพยายามที่จะล้มรัฐบาลของบุคคลบางกลุ่มโดยความร่วมมือขององค์กรและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อมุ่งหวังที่จะตั้งนายกรัฐมนตรีคนนอก และสภาประชาชนตามที่นายสุเทพ เทือกสุบรรณ และกลุ่ม กปปส.เรียกร้อง โดยใช้ทั้งพลังมวลชนและกระบวนการทางกฎหมายอย่างสอดรับกัน ตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมาโดยล่าสุดมีกลุ่ม ส.ว.ได้ยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสถานภาพของนายกรัฐมนตรี โดยกล่าวหาว่านายกฯกระทำการขัดรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 268ประกอบมาตรา 266 (2) และ (3) จากกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งให้รับคำร้องไว้พิจารณา นั้น

พรรคเพื่อไทยเห็นว่า การยื่นคำร้องและการรับคำร้องไว้พิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญมีนัยทางการเมืองแอบแฝง เพื่อหวังผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในการตั้งนายกฯคนนอก หรือนายกนอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งพรรคเห็นว่าไม่อาจกระทำได้ จึงมีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังนี้

1. การที่นายกฯใช้อำนาจแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการใช้อำนาจตามที่กฎหมายกำหนดไว้ ในฐานะที่นายกฯเป็นผู้บังบัญชา ไม่ใช่การก้าวก่ายแทรกแซงการแต่งตั้งโดยที่ตนเองไม่มีอำนาจตามกฎหมาย อันจะถือว่าเป็นการขัดต่อรัฐธรรมนูญ ซึ่งอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิลฯนั้น ศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไว้ชัดเจนว่า เป็นอำนาจหน้าที่ของนายกฯตามกฎหมาย เพียงแต่ศาลเห็นว่าการแต่งตั้งเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบเท่านั้น แต่ไม่ใช่การก้าวก่ายแทรกแซง

2. ตามคำร้องนอกจากได้มีคำขอให้วินิจฉัยความเป็นนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงแล้ว ยังขอให้วินิจฉัยให้ ครม.ทั้งคณะสิ้นสุดลง และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้มีการแต่งตั้งนายกฯคนใหม่ตาม มาตรา 172 และ 173 โดยอนุโลมด้วย ซึ่งเห็นได้ว่าคำขอดังกล่าว เป็นคำขอที่นอกรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจวินิจฉัยได้ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามคำขอเท่ากับศาลรัฐธรรมนูญฉีกรัฐธรรมนูญ และกระทำการขัดต่อรัฐธรรมนูญเสียเอง ไม่ต่างกับการใช้อำนาจตุลาการทำการรัฐประหาร

3. เมื่อนายกฯและ ครม.พ้นจากตำแหน่ง ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 180 (2) เพราะเหตุมีการยุบสภาฯแล้ว เพียงแต่รัฐธรรมนูญฯมาตรา 181 กำหนดให้ ครม.ต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อรอ ครม.ชุดใหม่เข้ารับหน้าที่เท่านั้น จึงไม่มีเหตุที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงซ้ำอีกได้ เพราะผลก็คือการทำให้ ครม.ทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง ซึ่งปัจจุบันก็พ้นไปแล้วเนื่องจากการยุบสภาฯ เทียบกับกรณีที่มีการร้องให้วินิจฉัยความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สิ้นสุดลง ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญให้จำหน่ายคดี โดยวินิจฉัยว่าความเป็น ส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ฯ สิ้นสุดลงแล้ว เพราะการยุบสภาฯ

4. แม้จะมีการวินิจฉัยให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกฯสิ้นสุดลง ย่อมไม่มีผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่ของรัฐมนตรีคนอื่น ๆ รองนายกฯย่อมปฏิบัติหน้าที่แทนนายกฯต่อไปได้ ดังที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้ในคำวินิจฉัยที่ 12-13/2551 กรณีของนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า แม้ความเป็นนายกฯของนายสมัครฯจะสิ้นสุดลงเฉพาะตัว แต่รัฐมนตรีที่เหลือย่อมต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อไปตาม มาตรา 181

5. การจะนำมาตรา 172 และ 173 มาใช้เพื่อให้มีการแต่งตั้งนายกฯคนใหม่โดยอนุโลมในขณะนี้นั้น ไม่อาจทำได้ เพราะรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ชัดเจนว่า นายกฯต้องเป็น ส.ส.และมีกระบวนการแต่งตั้งได้ให้ความเห็นชอบโดยที่ประชุม ส.ส.ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ การจะได้นายกฯคนใหม่จึงต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้งและมีสภาผู้แทนราษฎรแล้วเท่านั้น

ด้วยเหตุดังที่กล่าวมาข้างต้น พรรคจึงเห็นว่าศาลรัฐธรรมนูญ ควรยึดมั่นในบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญและตัดสินให้เป็นไปด้วยความถูกต้องยุติธรรม ไม่ตัดสินเพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยวิถีทางนอกรัฐธรรมนูญ เพราะหากกระทำการไปโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญและขัดต่อความรู้สึกของประชาชนแล้ว ประชาชนย่อมไม่อาจยอมรับได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook