แม่ด.ช.ถูกคลินิกขลิบจู๋ร้องสธ. แพทยสภาดูข้อมูลวิทยาสั่งสอบ

แม่ด.ช.ถูกคลินิกขลิบจู๋ร้องสธ. แพทยสภาดูข้อมูลวิทยาสั่งสอบ

แม่ด.ช.ถูกคลินิกขลิบจู๋ร้องสธ. แพทยสภาดูข้อมูลวิทยาสั่งสอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ลั่นอยากให้เป็นอุทาหรณ์ไม่ให้แพทย์ชุ่ย รักษารัดกุมมากขึ้น ยันไม่เคยคิดจะเรียกค่าเสียหายถึงหลักล้าน พร้อมเจรจากับหมอเจ้าของคลินิก ด้านแพทยสภาขอดูรายละเอียดก่อนฟัน ขณะที่ สปสช. พร้อมจ่ายชดเชยมาตรา 41 วิทยาสั่งตรวจสอบคลินิกที่พระประแดงหลังผ่าตัดผิดที่แล้ว ที่กระทรวงสาธารณสุข เมื่อเวลา 10.00 น. วันที่ 22 ม.ค. นางรัตนาพร มนัสชื้น อายุ 45 ปี มารดา ด.ช.เอ (นามสมมุติ) อายุ 12 ปี ได้เดินทางมาร้องเรียนขอความเป็นธรรมต่อ นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข โดยมี นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผอ.กองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เป็นผู้รับเรื่องแทน นางรัตนาพร กล่าวว่า ที่มาร้องเรียนเพราะอยากให้เรื่องนี้เป็นอุทาหรณ์เพื่อไม่ให้เกิดกรณีเช่นนี้ขึ้นอีก ส่วนเรื่องค่าเสียหายนั้นขอยืนยันว่าไม่คิดจะเรียกค่าเสียหายมากมายถึงหลักล้านบาทตามที่มีข่าวออกไป ตอนนี้ยังไม่คิดว่าจะเรียกค่าเสียหายเท่าไร เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องนี้ แต่จากการที่ได้ได้พูดคุยกับแพทย์เจ้าของคลินิกขณะพา ด.ช.เอไปล้างแผลเมื่อวันที่ 21 ม.ค. ที่ผ่านมา ทางแพทย์เจ้าของคลินิกเองก็บอกว่าพร้อมที่จะรับผิดชอบและขอโทษในสิ่งที่เกิดขึ้น ดังนั้นหากทางแพทย์เจ้าของคลินิกต้องการเจรจาพูดคุยก็ยินดี หลังเป็นข่าวออกไปเพื่อนบ้านก็มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย โดยบางส่วนมองว่าเรื่องแค่นี้มาทำให้เป็นข่าวใหญ่โตทำไม แต่อีกส่วนก็อยากให้มีการดำเนินการให้ถึงที่สุดเพื่อให้เป็นคดีตัวอย่าง เนื่องจากทั่วประเทศมีคลินิกเป็นพัน ๆแห่ง จะไม่ได้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้อีก ต่อไปการรักษาอะไร แพทย์จะได้รัดกุม มีการสื่อสารกับคนไข้มากขึ้นนางรัตนาพร กล่าวและว่า อยากให้การให้บริการบัตรทอง มีมาตรฐานมากกว่านี้ เพราะบางคลินิกคนไข้พูดอะไรไปก็ไม่ค่อยฟัง ด้าน นพ.ธารา ชินะกาญจน์ ผอ.กองการประกอบโรคศิลปะ กล่าวว่า เมื่อช่วงเช้าวันที่ 22 ม.ค.ที่ผ่านมาได้ส่งเจ้าหน้าที่กองการประกอบโรคศิลปะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงที่คลินิกดังกล่าวร่วมกับทางสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.)สมุทรปราการแล้ว คาดว่าจะในช่วงบ่ายคงจะได้รับข้อมูล ซึ่งในเบื้องต้นคลินิกดังกล่าวขออนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้นจะต้องสอบถามแพทย์ผู้ให้การรักษา และตรวจสอบเวชระเบียนดูว่า เกิดความผิดพลาดขึ้นได้อย่างไร หากตรวจสอบแล้วพบว่าเกิดความผิดพลาดจริง จะประสานไปทางแพทยสภาเข้ามาดูเรื่องมาตรฐานการประกอบวิชาชีพต่อไป ทั้งนี้กองการประกอบโรคศิลปะยินดีที่จะเป็นตัวกลางเชิญแพทย์เจ้าของคลินิกมาพูดคุยกับทางพ่อแม่ผู้เสียหาย ผอ.กองการประกอบโรคศิลปะ กล่าวต่อว่า กรณีที่เกิดขึ้นแม้ทางคลินิกจะพักงานแพทย์ผู้ให้การรักษา แต่ก็ไม่ได้ทำให้ความผิดถูกลบล้างไป ทางกองการประกอบโรคศิลปะก็จะสืบสวนข้อเท็จจริงต่อไป เพราะโดยมาตรฐานการจะรักษาคนไข้จะต้องได้รับความยินยอมก่อน นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา กล่าวว่า ขอตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนว่าเป็นอย่างไร และต้องฟังการชี้แจงจากแพทย์ที่ให้การรักษาด้วย เพราะก่อนจะขลิบหนังหุ้มปลายอวัยวะเพศ คลินิกสามารถทำได้ก็จริง แต่จะต้องมีใบยินยอมจากผู้ปกครอง หากตรวจสอบแล้วพบว่าารรักษามีความผิดพลาดจริง ก็ต้องถือว่า ระบบการรักษาไม่ดี ไม่รอบคอบ ซึ่งแพทยสภาคงจะดำเนินการต่อไป นพ.วินัย สวัสดิวร เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีที่ ด.ช. เอ (นามสมมุติ) อายุ 12 ปี ไปหาหมอที่คลินิกแห่งหนึ่งใน จ.สมุทรปราการ ซึ่งเป็นคลินิกหน่วยบริการปฐมภูมิ ตามโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เพื่อให้ผ่าตัดตุ่มเม็ดในปาก แต่แพทย์กลับขลิบหนังหุ้มอวัยวะเพศแทน ว่า ยังไม่ทราบว่าข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร แต่ได้ให้ผู้ที่รับผิดชอบในพื้นที่ไปดูว่าจะใช้มาตรา 41 ตาม พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติช่วยเหลือได้หรือไม่ โดยในกรณีที่เสียชีวิตจะได้รับเงินชดเชยประมาณ 2 แสนบาท แต่กรณีนี้ไม่ได้เสียชีวิตก็คงพิจารณาไปตามความเหมาะสม ส่วนเรื่องมาตรฐานของคลินิกทางกองการประกอบโรคศิลปะ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพคงจะเข้าไปดูแล อย่างไรก็ตาม ตนไม่เกรงว่ากรณีนี้จะกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ เพราะโอกาสที่จะผิดพลาดเหมือนกรณีนี้น้อยมาก วิทยาสั่งตรวจสอบคลินิกที่พระประแดงหลังผ่าตัดผิดที่ นายวิทยา แก้วภราดัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องนี้ สะท้อนให้เห็นปัญหาความไม่รอบคอบในการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้เจ็บป่วย ต้องยอมรับว่า ขณะนี้จำนวนมีผู้ป่วยมากแต่ผู้ให้บริการมีจำกัด เนื่องจากความขาดแคลน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องคงมาตรฐานความปลอดภัยเป็นหลัก ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่กองการประกอบโรคศิลปะ ประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ ลงไปตรวจสอบมาตรฐานคลินิกแห่งนี้ร่วมกัน เพื่อทั้งในเรื่องมาตรฐานของสถานพยาบาล และผู้ให้บริการคือ แพทย์ พยาบาล ว่ามีใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมายหรือไม่ หากพบว่า เป็นเจ้าหน้าที่ที่ไม่ได้รับ ใบอนุญาตจะมีความผิด ตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และพ.ร.บ. วิชาชีพเวชกรรมด้วย มีความผิดจำคุก 3 ปี ปรับ 30,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนมาตรฐานวิชาชีพนั้น จะประสานให้แพทยสภาและสภาพยาบาล ร่วมตรวจสอบด้วย นายวิทยากล่าวต่อไปว่า ได้สั่งการให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือสป.สช. ลงไปดูแลเรื่องนี้ เพราะเป็นการรักษาที่ผิดพลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรผิดพลาด ทำให้ผู้ป่วยและญาติเสียความรู้สึก ให้เข้มงวดตรวจสอบมาตรฐานคลินิกเอกชนที่จะเข้าร่วมโครงการคลินิกชุมชนอบอุ่นอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านสถานที่ และบุคลากรก่อนต่อสัญญาทุกปี ซึ่งขณะนี้ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นขึ้นทะเบียนกับ สป.สช.ทั้งหมด 170 แห่ง อยู่ในกรุงเทพฯ 160 แห่ง และในต่างจังหวัด 10 แห่ง ทั้งนี้ ในระยะยาวจะเสริมคลินิกชุมชนอบอุ่นเป็นบริการด้านการรักษา เมื่อเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่รุนแรง เพื่อให้ประชาชนได้รับบริการสะดวก ใกล้บ้าน ด้วยมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ ไม่ต้องไปแออัดรอรับบริการที่โรงพยาบาล สาธารณสุขตรวจสอบคลีนิกผ่าตัดผิดจุด เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 22 ม.ค.52 นายธเนตร บัวแย้ม นักทะเบียนวิชาชีพ ระดับชำนาญการพิเศษ ปฏิบัติราชการแทน ผู้อำนวยการกองการประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข พร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณะสุขจังหวัดสมุทรปราการ ได้เดินทางเข้าตรวจสอบ คลินิก เวชกรรมมหาชนพระประแดง ตำบลตลาด อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ หลังแพทย์ประจำคลินิก ถูกร้องเรียนว่า ผ่าตัดเด็กชายวัย 12 ปีผิดที่ โดยตรวจหลักฐานใบประกอบโรคศิลปะ และใบอนุญาตกาเปิดสถานพยาบาล พบว่าคลินิกดังกล่าว มีการขออนุญาตถูกต้อง รวมทั้งได้มาตรฐานตามระเบียบของสภาสถานพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข โดยใช้เวลาในการตรวจสอบประมาณ 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นนายธเนตร เปิดเผยว่า คลินิกแห่งนี้มี นายแพทย์ศิริพงศ์ ถมสุวรรณ เป็นเจ้าของ หลังเข้าสอบถามข้อเท็จจริง ทราบว่า นางรัตนาพร ได้พาบุตรชายเข้าพบแพทย์ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 19 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อให้แพทย์ผ่าตัดตุ่มที่เกิดขึ้นในช่องปากของบุตรชาย โดยในชั้นต้นนายแพทย์ศิริพงศ์ ได้แนะนำให้นางรัตนาพร พาบุตรชายกลับมาผ่าตัดในวันรุ่งขึ้น เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาดึก แต่นางรัตนาพร ยืนยันจะให้แพทย์ผ่าตัดบุตรชายทันที ด้วยอาการง่วงนอน ประกอบกับวินิจฉัยแล้วว่า แผลในปากอาการไม่รุนแรง นายแพทย์ศิริพงศ์ จึงให้พยาบาลประจำคลินิกเป็นผู้ผ่าตัดแทน แต่ยอมรับว่า ผิดพลาดในการสื่อสารกับเจ้าหน้าที่พยาบาล จึงได้ทำการผ่าตัดผิดจุด นางรัตนาพร จึงเกิดความไม่พอใจ ทั้งนี้ ได้ยอมรับความผิดพลาดที่เกิดขึ้น รวมทั้งยินดีชดใช้ค่าเสียหายตามที่นางรัตนาพรเรียกร้อง ซึ่งอยู่ระหว่างการรอ นางรัตนาพร เข้ามาเจรจา ส่วนกรณีนายแพทย์ศิริพงศ์ และพยาบาล ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของสภาแพทย์ และสภาพยาบาล ว่า จะมีความผิดหรือไม่ อย่างไรต่อไป
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook