ศร.คาด6พ.ค.มีคำสั่งคดีนายกฯ-ไพบูลย์ เชื่อชี้พ้นสภาพ

ศร.คาด6พ.ค.มีคำสั่งคดีนายกฯ-ไพบูลย์ เชื่อชี้พ้นสภาพ

ศร.คาด6พ.ค.มีคำสั่งคดีนายกฯ-ไพบูลย์ เชื่อชี้พ้นสภาพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เผย ชั้นไต่สวน 6 พ.ค. ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่ง คดีนายกฯ โยกย้าย 'ถวิล' ขณะที่ 'ส.ว.ไพบูลย์' มั่นใจหลักฐานเอาผิดได้

นายพิมล ธรรมพิทักษ์พงษ์ หัวหน้าคณะโฆษกศาลรัฐธรรมนูญ เปิดเผยว่า ภายหลังที่ศาลรัฐธรรมนูญ มีคำสั่งอนุญาตให้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ขยายเวลายื่นคำชี้แจงออกไปจนถึงวันที่ 2 พ.ค. นี้ คดีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) พร้อมให้มีการไต่สวนพยานบุคคลรวม 4 ปาก ในวันที่ 6 พ.ค.

ซึ่งในชั้นของการไต่สวน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ จะออกนั่งบัลลังก์ไต่สวนข้อเท็จจริง และคาดว่าน่าจะมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งออกมา เช่น การนัดวันอ่านคำวินิจฉัย หรือการขอเอกสารเพิ่มเติมหากการไต่สวนในวันนั้น ได้ข้อเท็จจริงยังไม่ครบถ้วน

ส่วนกรณีที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตว่า หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยชี้ขาดให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 182 วรรคหนึ่ง(7) ประกอบมาตรา 268 นั้น คณะรัฐมนตรี จะพ้นทั้งคณะด้วยหรือไม่ เรื่องนี้เป็นเรื่องของข้อกฎหมาย ซึ่งส่วนตัวคิดว่าหากองค์คณะตุลาการ ได้วินิจฉัยอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาแล้ว เชื่อว่าน่าจะชี้ชัดในเรื่องของตัวบทกฎหมายไว้ด้วย ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่จะพิจารณา

 

ไพบูลย์ชี้ศาลรธน.ขยายเวลาไม่กระทบคดีมั่นใจชี้พ้นสภาพ

นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ว.สรรหา ในฐานะผู้ร้องศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาสถานภาพ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จากกรณีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี มิชอบด้วยกฎหมาย เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า การที่ศาลขยายเวลาในการชี้แจงให้กับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นเรื่องดี ไม่กระทบรูปคดี เพราะแสดงว่าได้เปิดโอกาสให้ต่อสู้เต็มที่ ไม่มี 2 มาตรฐาน และเชื่อว่าไม่ใช่การประนีประนอมทางการเมืองอย่างแน่นอน ส่วนตนเองก็จะมีการส่งเอกสารหลักฐานเพิ่ม คือ รายงานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธาน และ ครม. มีมติร่วมกันในเรื่องดังกล่าว เพื่อจะโยงว่า ครม.ทั้งคณะ จะต้องรับผิดร่วมกันตาม ม.171และมั่นใจในหลักฐานว่าจะสามารถเอาผิด น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรีได้

นายไพบูลย์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายชัยเกษม นิติสิริ รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นำผลการตัดสินของศาล รธน. ในคดีของ นายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรี มาเปรียบเทียบ และพยายามชี้นำว่า ครม.ทั้งคณะ ไม่ต้องพ้นจากตำแหน่งนั้น ไม่ถูกต้อง เพราะการตัดสินคดีดังกล่าว นายสมัคร ไปเป็นลูกจ้างคนเดียว ครม. ไม่เกี่ยวข้อง จึงตัดสินให้ นายสมัคร มีความผิดคนเดียว แต่กรณีโยกย้าย นายถวิล นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นผู้เสนอ และ ครม.ทั้งคณะ เป็นผู้มีมติเห็นชอบ ซึ่งถือเป็นการกระทำความผิดร่วมกัน ดังนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกัน ซึ่งตนก็หวังว่าศาลจะวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งด้วย

ส่วนกรณีที่ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รักษาการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน และผู้อำนวยการศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ประกาศจะทูลเกล้าฯ ขอพระราชวินิจฉัย หากศาล รธน. ตัดสินให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง โดยอ้าง ม.7 ว่า เป็นการอ้างที่ไม่ถูกต้อง เพราะการใช้ ม.7 ต้องเป็นเรื่องที่ไม่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ แต่กรณีคำตัดสินของศาล รธน.นั้น มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน

โดยเฉพาะ ม.216 วรรค 5 ที่ระบุว่า คำตัดสินของศาล รธน. มีผลผูกพันทุกองค์กร และเป็นที่สิ้นสุด รวมถึงเป็นการกระทำการภายใต้พระปรมาภิไธย ดังนั้น การกระทำดังกล่าวของ ร.ต.อ.เฉลิม จึงเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้อง เป็นการทำลายหลักนิติรัฐ ระบบนิติธรรม ขัดรัฐธรรมนูญ และเป็นสิ่งระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท เป็นอย่างยิ่ง สมควรถูกตำหนิเป็นอย่างมาก

ขณะเดียวกัน ส.ว.ไพบูลย์ มองว่า การที่อีกฝั่งที่อ้าง ม.7 นั้นพอจะรับฟังได้ เพราะเรื่องการสรรหาตัวนายกรัฐมนตรี หาก น.ส.ยิ่งลักษณ์ และคณะรัฐมนตรี พ้นตำแหน่งจากคดีดังกล่าว ไม่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเวลานี้ไม่มีสภาผู้แทนราษฎร และไม่มี ส.ส. นั่นเอง


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook