ผลประโยชน์ทับซ้อน? ศึกษากรณี โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

ผลประโยชน์ทับซ้อน? ศึกษากรณี โฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
โดย ประสงค์ วิสุทธิ์

แม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ยกข้อกล่าวหา นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ อดีตรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมสมัยรัฐบาลพล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ซึ่งถูกกล่าวหาว่า ให้ความช่วยเหลือ บริษัท ผาแดงอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) ให้ได้รับการผ่อนในการใช้พื้นที่ป่าไม้ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เพื่อทำเหมืองแร่สังกะสี ท้องที่ อแม่สอด จ.ตากก็ตาม

แต่ในแง่ของการกระทำที่เป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวมแล้ว กรณีของนายโฆสิตน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง

สาเหตุที่นายโฆสิตถูกกล่าวหาในเรื่องนี้เนื่องจากก่อนเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายโฆสิตเป็นประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพฯซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผาแดง จำนวน 7,301,070 หุ้น หรือกว่าร้อยละ 3

นอกจากนั้นนายโฆสิตยังเป็นกรรมการบริษัทผาแดงฯในฐานะตัวแทนธนาคารด้วยโดยนายโฆสิตได้รับผลประโยชน์ตอบแทนจากบริษัทผาแดงฯกว่า 1.2 ล้านบาท

ตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 ในหมวดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลของเจ้าหน้าที่รัฐกับผลประโยชน์ส่วนรวมคือ ต้องการวางระบบป้องกันมิให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์กับธุรกิจและบริษัทที่เจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้นมีส่วนได้ส่วนเสียในรูปแบบต่างๆ(มาตรา 100,101)

ดังนั้น จึงห้ามมิให้เจ้าหน้าที่รัฐเป็นผู้ถือหุ้น กรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงานหรือลูกจ้าง ในธุรกิจและบริษัทที่มีสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดีรวมทั้งสัญญาสัมปทานหรือสัญญาที่มีลักษณะผูกขาดตัดตอน

การห้ามในลักษณะดังกล่าว นอกจากห้ามเจ้าหน้าที่รัฐและคู่สมรสในขณะที่ดำรงตำแหน่งแล้ว ยังห้ามเมื่อพ้นตำแหน่งไม่ถึง 2 ปีด้วย(การกำหนดช่วงเวลา 2 ปีเพราะเชื่อว่า หลังจากพ้นตำแหน่งใหม่ๆ อาจยังมีอิทธิพลในหน่วยงานที่ตนกำกับดูแลอยู่)

การที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติให้นายโฆสิตพ้นข้อกล่าวหา เพรา การเสนอเรื่องให้คณะรัฐมนตรีอนุมติให้บริษัทผาแดงฯทำเหมืองแร่สังกะสีในพื้นที่ป่าลุมน้ำ มีการกลั่นกรองตามขั้นตอนจากผู้เชี่ยวชาญหลายครั้งก่อนที่นายโฆสิตจะเข้ารับตำแหน่งรองนายกฯโดยไม่ปรากฏหลักฐานว่า นายโฆสิตใช้อำนาจหน้าที่ในทางมิชอบในขณะที่คณะกรรมกรารสิ่งแวดล้อมแห่งชาติที่มีนายโฆสิต เป็นประธานพิจารณาเรื่องนี้

ขณะเดียวกันนายโฆสิตได้ลาออกจากธนาคารกรุงเทพ และกรรมการบริษัทผาแดงฯแล้ว การกระทำของนายโฆสิตไม่เป็นการต้องห้ามตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ

อย่างไรก็ตามประเด็นที่น่าพิจารณา หลังจากที่นายโฆสิตพ้นจากตำแหน่งรองนายกฯและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแล้ว ก็กลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมกรรบริหารธนาคารกรุงเทพฯทันทีโดยยังไม่พ้นกำหนดเวลา 2 ปี(คณะกรรมการ ป.ป.ช.ประกาศให้คณะรัฐมนตรีเป็นเจ้าหน้าที่รัฐที่อยู่ภายใต้บังคับของ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 100)เป็นการเข้าข่ายการกระทำต้องห้ามตามกฎหมายหรือไม่

ประเด็นนี้ต้องเริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่า ในช่วงเป็นรองนายกฯนายโฆสิตได้รับมอบหมายให้เป็นประธานคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงเป็นเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล หน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตให้บริษัทผาแดงฯรับสัมปทานทำเหมืองแร่สังกะสี รวมถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นกรรมการในคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติด้วย

ดังนั้น ถ้านายโฆสิตกลับเข้าดำรงตำแหน่งกรรมการและ/หรือเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัทผาแดงฯย่อมมีการกระทำต้องห้ามตามกฎหมายอย่างชัดแจ้ง

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การที่นายโฆสิตกลับเข้าดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นอยู่ในบริษัทผาแดงฯอีกชั้นหนึ่งเป็นการกระทำต้องห้ามหรือไม่

ถ้าพิจารณาจากตัวบทมาตรา 101 ตามตัวอักษรแล้ว ย่อมไม่เข้าข่ายการกระทำต้องห้ามตามกฎหมาย

แต่การที่นายโฆสิตเป็นประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพฯ เป็นมีอำนาจทำการแทนธนาคารกรุงเทพฯหรือไม่ ?

ถ้าใช่ เข้าข่ายการกระทำต้องห้ามหรือไม่ เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ

เพราะถ้าตอบว่า ไม่เข้าข่าย ต่อไปจะมีนักการเมืองใช้เป็นช่องทางหลีกเลี่ยงด้วยการตั้งบริษัทซ้อนขึ้นมาอีกบริษัทหนึ่งเพื่อถือหุ้นในบริษัทที่มีสัญญากับหน่วยงานของรัฐที่ตนกำกับดูแลในลักษณะดังกล่าวข้างต้น

อย่างไรก็ตาม นายกล้านรงค์ จันทิก โฆษกและกรรมการ ป.ป.ช.ยอมรับว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ยังมิได้พิจารณาประเด็นนี้ จึงน่าสนใจว่า คณะกรรมการป ป.ป.ช.จะวินิจฉัยเรื่องนี้อย่างไร

มิเช่นนั้นแล้ว หมวดการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวมในพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต อาจมีค่าเพียงกระดาษเช็ดปากของนักการเมืองเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook