สังเวยพิษตุลาการ ชะตากรรม 4 นายกฯ ชินวัตร ลุ้น ยิ่งลักษณ์ ลงเลือกตั้ง หรือ เว้นวรรค

สังเวยพิษตุลาการ ชะตากรรม 4 นายกฯ ชินวัตร ลุ้น ยิ่งลักษณ์ ลงเลือกตั้ง หรือ เว้นวรรค

สังเวยพิษตุลาการ ชะตากรรม 4 นายกฯ ชินวัตร ลุ้น ยิ่งลักษณ์ ลงเลือกตั้ง หรือ เว้นวรรค
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเมืองไทยในรอบทศวรรษ ถูกครอบครองโดยตระกูล "ชินวัตร"นับตั้งแต่ "พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร" สถาปนาอำนาจการเมือง เข้าสู่เก้าอี้นายกฯคน ที่ 23 เมื่อปี 2544 ก็กลายเป็นนายกฯคนแรกที่อยู่ครบเทอม สร้างอาณาจักรไทยรักไทยจนรุ่งเรือง ครองเสียงข้างมากเด็ดขาดในสภาผู้แทนราษฎรได้ถึง 377 เสียง

"พ.ต.ท .ทักษิณ" อยู่ในอำนาจนานถึง 5 ปี 7 เดือน 10 วัน ก่อนถูกคณะรัฐประหารของ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก นำกำลังเข้ายึดอำนาจในค่ำคืน 19 ก.ย. 2549 พร้อมกับถูกตั้งข้อหาทุจริตมากมาย ต้องคดีในชั้นศาลไม่อาจกลับมาใช้ชีวิตในเมืองไทยตามต้องการ

"สมชาย วงศ์สวัสดิ์" นายกฯคนที่ 26 ครอบครัวเขยของ "พ.ต.ท.ทักษิณ" ได้รับโปรดเกล้าฯเป็นนายกฯ 18 ก.ย. เป็นนายกฯคนแรกที่ไม่เคยย่างเท้าเข้าทำงานในตึกไทยคู่ฟ้า กระทั่งถูกศาลรัฐธรรมนูญตัดสินยุบพรรคพลังประชาชน 2 ธ.ค. 2551 ทำหน้าที่นายกฯ ได้เพียง 75 วัน และยังถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งอีก 5 ปี

มาถึง "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" น้องคนสุดท้องของครอบครัว "ชินวัตร" เดินสายหาเสียงเพียง 49 วัน ก็ก้าวขึ้นเป็นนายกฯคนที่ 28 แต่เธออยู่ในตำแหน่งได้แค่ 2 ปี 9 เดือน 2 วัน ต้องพ้นไปจากพิษคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญจากกรณีแทรกแซงการโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ไปเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ

ส่วนนายกฯนอกไส้ อย่าง "สมัคร สุนทรเวช" นายกฯคนที่ 25 แม้ไม่อยู่ในครอบครัว "ชินวัตร" แต่ก็ได้รับการรับรองจาก "พ.ต.ท.ทักษิณ" ให้มานั่งเก้าอี้นายกฯนอมินี "สมัคร" เป็นนายกฯได้เพียง 225 วัน ก็พ้นจากตำแหน่งหัวหน้ารัฐบาลด้วยพิษศาลรัฐธรรมนูญ กรณีรับจ้างจัดรายการชิมไปบ่นไป กลายเป็นว่า ถนนการเมืองในรอบ 1 ทศวรรษ นายกฯชินวัตร 3 คน คือ ยิ่งลักษณ์-สมชาย-สมัคร ต้องสิ้นสุดตำแหน่งนายกฯ จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วน "พ.ต.ท.ทักษิณ" แม้ไม่ได้พ้นเก้าอี้นายกฯจากคำวินิจฉัยของศาล แต่ก็ถูกศาลวินิจฉัยให้มีความผิด และยึดทรัพย์ 4.6 หมื่นล้านบาท

โดยเฉพาะกรณีล่าสุดที่ศาลวินิจฉัยให้ "ยิ่งลักษณ์" พ้นจากเก้าอี้นายกฯ พ่วงรัฐมนตรีที่ร่วมอนุมัติโยกย้ายนายถวิลอีก 9 คน ประกอบ ด้วย สุรพงษ์ โตวิจักษณ์ชัยกุล-กิตติรัตน์ ณ ระนอง- พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก-ปลอดประสพ สุรัสวดี-ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง-ศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์-พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา-สันติ พร้อมพัฒน์-น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ

โดย รมว.ไอซีที-"อนุดิษฐ์" ระบายความรู้สึกว่า จริง ๆ แล้วการที่ศาลวินิจฉัยให้รัฐมนตรีพ้นจากตำแหน่งไม่ได้กระทบอะไร เพราะยังมีรัฐมนตรีที่เหลืออยู่ทำหน้าที่รักษาการต่อไป

"แต่ส่วนตัวรู้สึกว่าคำวินิจฉัยของศาลไม่ถูกต้อง เพราะตามสำนวนผู้ร้องกล่าวหาเฉพาะผู้ถูกร้องคือนายกฯเท่านั้น

แต่คำวินิจฉัยของศาลกลับมาวินิจฉัยรวมรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ด้วย ซึ่งศาลไม่ว่าที่ใดในโลกก็ต้องวินิจฉัยเฉพาะผู้ถูกร้องเท่านั้น ซึ่งรัฐมนตรีคนอื่น ๆ ไม่ได้เป็นผู้ถูกร้องในคดีนี้เลย ที่สำคัญศาลมาชี้ว่ารัฐมนตรีมีส่วนผิดด้วย แต่กลับไม่เคยเรียกพวกผมไปชี้แจงแม้แต่ครั้งเดียว ซึ่งการวินิจฉัยแบบนี้ประชาชนจะต้องตั้งข้อสังเกต เพราะเป็นการใช้กระบวนการยุติธรรมที่ไม่ยุติธรรม"

อย่างไรก็ตาม แม้ยิ่งลักษณ์+รัฐมนตรี 9 คนจะพ้นตำแหน่ง แต่ยังมีรัฐมนตรีที่ไม่ถูกหางเลขด้วยกัน 25 คน ต้องทำหน้าที่รักษาการรัฐมนตรีต่อไปจนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ โดยมีการเลือก "นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล" ทำหน้าที่แทนนายกฯ

เมื่อฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลไม่ว่า กปปส.ของสุเทพ เทือกสุบรรณ พรรคประชาธิปัตย์ หรือ ส.ว.สรรหา คาดหวังให้ศาลรัฐธรรมนูญลงดาบทิ่มแทงจนมิดด้าม-สุดซอย ให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะต้องพ้นไป เพื่อนำไปสู่การมีนายกฯคนกลาง

แต่ในที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญกลับวินิจฉัยแค่ครึ่งซอย องคาพยพขั้วตรงข้ามรัฐบาลจึงต้องฝันค้าง-เซตท่าทีใหม่

ฝ่ายพรรคประชาธิปัตย์เดินแผนกดดันรัฐมนตรีที่เหลือ แสดงความรับผิดชอบให้คณะรัฐมนตรีลาออกไปทั้งคณะ

"วิรัตน์ กัลยาศิริ" หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า เมื่อศาลวินิจฉัยให้นายกฯพ้นจากตำแหน่ง ครม.ที่เหลือควรลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อประเทศและสังคมด้วย เมื่อนายกฯไม่อยู่รักษาการ ก็ไม่เคยเห็นคณะรัฐมนตรีประเทศไหนอยู่รักษาการ

ส่วน ปฏิกิริยาฝ่าย ส.ว.สรรหา โดย "คำนูณ สิทธิสมาน" ได้ออกมาดักทาง-ทักท้วงอำนาจ "นิวัฒน์ธำรง" ซึ่งรับไม้ต่อในการจัดการเลือกตั้งจาก "ยิ่งลักษณ์" โดยเตรียมหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อเดินหน้าเข้าสู่การเลือกตั้ง ตามแนวทางที่วางไว้

"คำนูณ" เห็นว่า "นิวัฒน์ธำรง" ไม่มีอำนาจในการดำเนินการเลือกตั้งร่วมกับ กกต. เพราะไม่ใช่ผู้รักษาการตาม พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 9 ธ.ค. 2556 ที่กำหนดตัวผู้รักษาการไว้ 2 คนคือ นายกรัฐมนตรี และประธาน กกต. เท่านั้น

"เมื่อไม่ใช่ผู้รักษาการ จึงไม่มีอำนาจมาเจรจากับ กกต.เพื่อกำหนดวันเลือกตั้งใหม่ เพราะร่าง พ.ร.ฎ.กำหนดวันเลือกตั้งใหม่นั้นคือ ร่าง พ.ร.ฎ.แก้ไข พ.ร.ฎ.เลือกตั้งทั่วไป 9 ธ.ค. 2556 ฉบับเดิมที่เสียไปเฉพาะวันเลือกตั้งทั่วไปวันเดิม 2 ก.พ. 2557 เท่านั้น นอกจากจะไม่มีอำนาจเจรจากับ กกต.แล้ว ยังไม่มีอำนาจลงนามรับสนองพระบรมราชโองการด้วย"

"นี่คือข้อเสียของ การที่ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงเฉพาะตัว แล้วทำให้คณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากตำแหน่ง เพราะแม้คณะรัฐมนตรีจะยังต้องอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป แต่ก็อยู่อย่างไม่มีนายกรัฐมนตรี มีแต่รองนายกรัฐมนตรี (หรือรัฐมนตรี) ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีเท่านั้น มีข้อจำกัดมหาศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันที่อยู่ระหว่างยุบสภา"

แต่เสียงคัดค้าน-ทัดทานไม่อยู่ในสายตาของพรรคเพื่อไทย และคณะรัฐมนตรีรักษาการอีก 25 คน ที่ยังคงเดินหน้าภารกิจเลือกตั้งต่อไป

น.อ.อนุดิษฐ์ ประเมินแทนเพื่อนรัฐมนตรีอีก 8 คนที่ถูกสังเวยร่วมกับ "ยิ่งลักษณ์" ว่า ทุกคนจะลงรับสมัครเลือกตั้งในวัน ที่ 20 ก.ค.นี้แน่นอน เพราะตลอดเวลา พรรคเพื่อไทยยึดตามกรอบของรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน แต่ขึ้นอยู่กับใครจะลงบัญชีรายชื่อ หรือ ส.ส.เขตเท่านั้น

ด้านแหล่ง ข่าวจากพรรคเพื่อไทยประเมินท่าทีการลงเลือกตั้งของ "ยิ่งลักษณ์" ว่า โอกาสที่นายกฯจะลงเลือกตั้ง ในตำแหน่งปาร์ตี้ลิสต์อันดับ 1 เป็นไปได้สูงมาก

สอด คล้องกับ "จารุพงศ์ เรืองสุวรรณ" รมว.มหาดไทย และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวว่า กรณีของคุณยิ่งลักษณ์ เหมือนกับคุณสมัครที่พอถูกศาลให้พ้นตำแหน่งนายกฯ สภาก็โหวตเลือกนายกฯใหม่ทันที แต่กรณีนี้ไม่มีสภาจึงโหวตเลือกนายกฯใหม่ไม่ได้ แต่พอประกาศเลือกตั้งใหม่ คุณยิ่งลักษณ์ก็มีสิทธิ์ลงเลือกตั้ง ไม่มีปัญหา

เช่นเดียวกับ "ชูศักดิ์ ศิรินิล" หัวหน้าสำนักงานกฎหมายพรรคเพื่อไทย กล่าวทำนองเดียวกันว่า คำวินิจฉัยศาลให้สิ้นสุดลงเฉพาะตัว คุณยิ่งลักษณ์ไม่ถูกตัดสิทธิ์ใด ๆ มีสิทธิลงสมัครเลือกตั้งใหม่ได้

เมื่อแผนการคว่ำยิ่งลักษณ์และพวกผ่านองค์กรอิสระไม่สำเร็จ เสร็จสมบูรณ์

เมื่อพรรคเพื่อไทย-รัฐบาลรักษาการอีก 25 คน ยังสานภารกิจเลือกตั้งอย่างไม่ลดละ แม้มีพงหนามกีดขวาง

แม้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จะซ้ำดาบ 2 ลงโทษชี้มูลความผิดโครงการรับจำนำข้าว "ยิ่งลักษณ์" ด้วยมติเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ฐานจงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดรัฐธรรมนูญก่อนส่งเรื่องให้วุฒิสภาโหวตถอดถอนต่อไป

แต่ "ยิ่งลักษณ์" และพวกยังไม่หายไปจากกระดานการเมืองง่าย ๆ ยังคงยืนเด่นโดยท้าทาย

นี่คือชะตากรรมนายกฯชินวัตร จะเป็นอย่างไรต่อไป โปรดติดตาม

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook