ตำนาน 22 ปี พฤษภาทมิฬ มรดก นายกฯคนกลาง ถึง กปปส.

ตำนาน 22 ปี พฤษภาทมิฬ มรดก นายกฯคนกลาง ถึง กปปส.

ตำนาน 22 ปี พฤษภาทมิฬ มรดก นายกฯคนกลาง ถึง กปปส.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางวิกฤตการเมืองที่ยังไม่เห็นทางยุติ เสียงเรียกหา "คนกลาง" ก็กลับมาดังขึ้นอีกครั้งหลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ต้องกลายเป็นอดีตนายกรัฐมนตรีด้วยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อสัปดาห์ก่อน

เป็นเสียงที่ดังจากกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล ทั้ง กปปส.-พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ที่หวังให้มีกระบวนการจัดตั้งนายกรัฐมนตรีคนกลาง สานต่อภารกิจปฏิรูปประเทศ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งที่เป็นไปอย่างสุจริตเที่ยงธรรม

แต่เป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นด้วยอำนาจนอกระบบ ตามคำปรามาสของพรรคเพื่อไทยและกลุ่มคนเสื้อแดง

แม้จะยังไม่เห็นทางออก-คำตอบที่เป็นรูปธรรม หากแต่หลายฝ่ายพยายามโยงใยย้อนอดีตถึงการได้มาซึ่ง "นายกรัฐมนตรีคนกลาง" ที่เกิดขึ้นเมื่อ 22 ปีก่อนในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬปี 2535

เป็นเหตุการณ์การได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีคนที่ 18 นามว่า "อานันท์ ปันยารชุน" ผู้ที่ได้รับฉายาว่า "ผู้ดีรัตนโกสินทร์" เหตุผลที่ "พล.อ.สุจินดา" เลือก "อานันท์" มี 3 เหตุผลหลัก

1.ประสบความสำเร็จในชีวิตข้าราชการ เป็นถึงปลัดกระทรวงการต่างประเทศ

2.เป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ

3.ต่างประเทศให้การยอมรับ

อย่างไรก็ตาม การถูกเสนอชื่อให้รับตำแหน่ง เกิดขึ้นหลังจากที่คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) เพิ่งกระทำการยึดอำนาจรัฐบาล พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ โดยอ้างเหตุการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างหนักในรัฐบาล รวมถึงมีความพยายามในการทำลายสถาบันทหาร

การเลือก "อานันท์" ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มาพร้อมกับการแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 20 คน เพื่อปฏิบัติภารกิจในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และดำเนินการจัดการเลือกตั้งใหม่โดยเร็ว

สาระสำคัญของรัฐธรรมนูญในฉบับดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์ถึงความไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะกระบวนการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีที่ไม่ต้องเป็น ส.ส. รวมถึงการระบุให้ประธาน รสช.เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรี แทนที่จะเป็นประธานสภาผู้แทนราษฎร

ขณะที่การเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 22 มีนาคม พ.ศ. 2535 ก็ทำให้ พล.อ.สุจินดา คราประยูร ผู้นำคณะรัฐประหาร รสช. ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 19 ต่อจาก "อานันท์" ที่บริหารประเทศได้เพียง 1 ปีเศษ

และก็กลายเป็นชนวนเหตุที่สำคัญนำไปสู่เหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองครั้งใหญ่ และนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดของประชาชนในที่สุด

พล.อ.สุจินดาที่เพิ่งได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่กลับถูกประชาชน-กลุ่มการเมืองเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต่อเนื่อง เหตุเพราะเขาเป็นประธาน รสช.ที่เคยประกาศไว้ว่าหลังการรัฐประหารจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ

เป็นที่มาแห่งวาทกรรมจารึกในประวัติศาสตร์ "เสียสัตย์เพื่อชาติ"

ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวของกลุ่มผู้คัดค้าน พล.อ.สุจินดาประกอบด้วย การอดอาหารของ ร.ต.ฉลาด วรฉัตร และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง รวมถึงการเคลื่อนไหวจากกลุ่มสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยที่มีนายปริญญา เทวานฤมิตรกุล เป็นเลขาธิการ

ประกอบกับมีกลุ่มการเมืองที่ให้การสนับสนุน ทั้งพรรคประชาธิปัตย์ พรรคเอกภาพ พรรคความหวังใหม่ และพรรคพลังธรรม ซึ่งทั้งหมดมีข้อเรียกร้องเพียงหนึ่งเดียวคือ ขอให้ พล.อ.สุจินดาลาออกจากตำแหน่ง และเสนอให้แก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นที่ว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า "ม็อบมือถือ" เพราะผู้ชุมนุมส่วนใหญ่เป็นชนชั้นกลางในเขตตัวเมือง เป็นนักธุรกิจหรือบุคคลวัยทำงาน ประกอบกับเทคโนโลยีโทรศัพท์มือถือที่เพิ่งเข้ามาในประเทศไทย และถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในการติดต่อสื่อสารในครั้งนี้

การชุมนุมยืดเยื้อตั้งแต่เดือนเมษายน-พฤษภาคม สถานการณ์เริ่มมีความตึงเครียดมากขึ้น หลังรัฐบาลสั่งระดมทหารเข้ามารักษาการในกรุงเทพฯ จนนำไปสู่การเผชิญหน้ากันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่

กระทั่งในคืนวันที่ 17 พฤษภาคม ขณะที่ประชาชนเคลื่อนขบวนจากสนามหลวงไปยังถนนราชดำเนิน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล แต่ตำรวจ-ทหารได้สกัดการเคลื่อนขบวนดังกล่าวจนเกิดการปะทะกันในหลายจุด กระทั่งมีการบุกเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง

เหตุการณ์ดังกล่าวทำให้รัฐบาลตัดสินใจประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน บริเวณพื้นที่กรุงเทพฯในเช้าของวันที่ 18 พฤษภาคม เพื่อเปิดทางให้ทหารเข้ามาทำหน้าที่รักษาความสงบ ซึ่งการปะทะกันในวันนั้นก็นำไปสู่การใช้กระสุนจริงจนมีผู้เสียชีวิต

และในวันเดียวกัน พลตรีจำลองก็ถูกทหารควบคุมตัวบริเวณถนนราชดำเนิน พร้อมกับการออกประกาศจับแกนนำ 7 คน ประกอบด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล, นายแพทย์เหวง โตจิราการ, นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์, นายสมศักดิ์ โกศัยสุข, นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ, นางสาวจิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์

ส่งผลให้ประชาชนเริ่มทยอยออกมาชุมนุมในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงและเริ่มเกิดการปะทะกันรุนแรงมากขึ้นในคืนวันนั้น ในบริเวณถนนราชดำเนิน

กระทั่งวันที่ 19 พฤษภาคม เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่ถนนราชดำเนินกลาง และมีการจับกุมประชาชนจำนวนมาก แม้ พล.อ.สุจินดาจะแถลงการณ์ย้ำว่า สถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบ และไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุม

แต่เหตุการณ์ดังกล่าวก็ทำให้ประชาชนบางส่วนถอยกลับมาร่วมชุมนุมที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง และเริ่มมีการก่อความไม่สงบเพื่อต่อต้านรัฐบาลและสถานการณ์ยังคงตึงเครียด กระทั่งในคืนวันที่ 20 พฤษภาคม พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯพระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำ พล.อ.สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และ พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย ซึ่งโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยนำเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์ทั้ง 5 ช่อง หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์ พล.อ.สุจินดาจึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รักษาราชการแทนเป็นการชั่วคราว

ขณะที่ฝ่ายพรรครวมเสียงข้างมากร่วมกันสนับสนุนให้ พล.อ.อ.สมบุญ ระหงษ์ หัวหน้าพรรคชาติไทย ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทว่าประธานสภาผู้แทนราษฎร "อาทิตย์ อุไรรัตน์" รองหัวหน้าพรรคสามัคคีธรรม ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ กลับตัดสินใจเสนอชื่อ "อานันท์ ปันยารชุน"ขึ้นทูลเกล้าฯแทน

แม้จะไม่ได้เป็น ส.ส. แต่ด้วยรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวไม่ได้ระบุไว้อย่างชัดเจน ก็ทำให้ "อานันท์" กลับเข้าสู่ตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นสมัยที่ 2

เป็นอีกหนึ่งตำนาน-นายกฯคนกลาง เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจ ก่อนที่จะมีการจัดเลือกตั้งใหม่

นำไปสู่การปฏิรูปการเมืองครั้งใหญ่ในเวลาต่อมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook