ชี้เป้าปฏิรูป บอร์ดรัฐวิสาหกิจ สางคอร์รัปชั่น ตัดวงจรการเมือง

ชี้เป้าปฏิรูป บอร์ดรัฐวิสาหกิจ สางคอร์รัปชั่น ตัดวงจรการเมือง

ชี้เป้าปฏิรูป บอร์ดรัฐวิสาหกิจ สางคอร์รัปชั่น ตัดวงจรการเมือง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อการรัฐประหาร "ภารกิจเร่งด่วน" ลำดับต้น ๆ คือ การ "รื้อ" คณะกรรมการ (บอร์ด) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง

สัญญาณที่ออกจาก "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" รองหัวหน้า คสช. ในฐานะหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ ส่งไปถึงบอร์ดรัฐวิสาหกิจให้ "พิจารณาตัวเอง"

โดยเฉพาะบุคคลที่มาจาก "ขั้วการเมือง" เพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลอื่นเข้ามาทำหน้าที่แทน โดย "พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง" ใช้คำว่า เพื่อพัฒนาศักยภาพองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่งผลให้บอร์ดรัฐวิสาหกิจหลายรายที่สัมผัสได้ถึง "สัญญาณ" ต่าง "ทยอย" พิจารณาตัวเองกันเป็นทิวแถว โดยเฉพาะบอร์ดที่มาจาก "โควตา" ฝ่ายการเมือง "รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร"

นอกจากการเปลี่ยนตัวบุคคลในบอร์ดรัฐวิสาหกิจแล้ว ในการประชุม คสช.อย่างเป็นทางการครั้งแรก ที่ประชุมยังอนุมัติให้ยกเลิกสวัสดิการตั๋วเครื่องบินฟรีให้กับบอร์ดบริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นหน่วยงานแรกที่ถูก "เชือดไก่ให้ลิงดู"

โดยหลังจากนี้จะมี "แรงบีบ" ให้มีการทบทวนสวัสดิการ-สิทธิประโยชน์ของรัฐวิสาหกิจอื่น ๆ ต่อไป เนื่องจากผลประโยชน์-สิทธิประโยชน์ของบอร์ดรัฐวิสาหกิจที่ได้รับ "สูงลิบ" อาทิ โบนัสประจำปีรวม 56 หน่วยงานของรัฐวิสาหกิจตกปีละกว่า 1 หมื่นล้านบาท และอัตราเงินระดับ "สูงลิ่ว" ของเบี้ยประชุม-เงินเดือน ที่ คสช.มองว่าเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินมากเกินไป

ถึงแม้ว่า คสช.จะจัดลำดับความสำคัญกับการ "รื้อ" บอร์ด และตัด-ทอนสิทธิประโยชน์ ภายในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน แต่สำหรับ "องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย)" เห็นว่าปัญหาภายในหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ "ต้นตอ" ที่แท้จริงของอุปสรรคในการพัฒนารัฐวิสาหกิจเป็นเรื่องของการ "คอร์รัปชั่น" และการเข้ามา "แสวงหาผลประโยชน์" ของฝ่ายการเมือง

ดังนั้น เพื่อให้การแก้ปัญหาเกิดความยั่งยืน ประการแรก ควรให้รัฐวิสาหกิจสามารถบริหารจัดการตนเองได้อย่างมืออาชีพ โดยแผนการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นแนวทางที่ต้องยึดปฏิบัติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงโดยคณะกรรมการหรือรัฐมนตรีต้องให้เหตุผลที่ชัดเจน

รวมถึงการริเริ่มโครงการใหม่ ๆ ที่กระทบต่อแผนงานระยะยาว ต้องอธิบายจนเป็นที่ยอมรับของนักวิชาการ รวมถึงการบริหารงานบุคคลต้องยึดหลักคุณธรรม (Merit System) กระบวนการสรรหา-โยกย้ายพนักงานต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจน โปร่งใส

ประการที่สอง ป้องกันการแทรกแซง แสวงหาผลประโยชน์จากนักการเมือง โดยกำหนดให้รัฐวิสาหกิจต้องมีการบริหารจัดการที่ดี (Corporate Governance) มีมาตรฐานเท่ากับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉพาะการเปิดเผยข้อมูล และปรับระบบบัญชีรัฐวิสาหกิจให้เหมือนบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ และให้เปิดเผยต่อสาธารณะทุกไตรมาส

นอกจากนี้ ให้ตรวจบัญชีรัฐวิสาหกิจ โดยผู้ตรวจสอบบัญชีอิสระที่มีชื่อเสียง เช่น บริษัทผู้สอบบัญชีใหญ่ที่สุด 4 แห่ง แทนการตรวจสอบโดย สตง. โดยให้ประเมิน Performance ควบคู่ไปด้วย

สำหรับการคัดเลือกกรรมการรัฐวิสาหกิจนั้น ให้กำหนดวิธีการคัดเลือกบุคคลเข้าเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจที่เปิดเผยและมีส่วนร่วมจากหลายภาคส่วน โดยเอาหลักเกณฑ์ คุณสมบัติของตลาดหลักทรัพย์ฯ และสถาบัน IOD มาประกอบ รวมถึงยกเลิกวัฒนธรรมการเปลี่ยนตัวบอร์ด เมื่อมีการเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีที่กำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ และห้ามบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเป็นกรรมการรัฐวิสาหกิจ

ขณะที่ "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นตรงกันว่า เป็นเรื่องของการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีระบบเข้ามาแก้ไข

ประธานทีดีอาร์ไอยังมองไม่ออกว่า สิ่งที่ คสช.ทำก็ไม่รู้ว่าสุดท้ายแล้วหน้าตาจะออกมาอย่างไร-เกาถูกที่คันหรือไม่ เพราะ คสช.ไปเน้นที่การเปลี่ยนบอร์ดและลดค่าตอบแทนบางเรื่องของบอร์ดเท่านั้น

"ความเห็นส่วนตัวคิดว่าการไปแก้ที่บอร์ดหรือเปลี่ยนคนอย่างเดียวไม่ใช่การแก้ที่ยั่งยืน สมมติต่อให้ คสช.ได้คนที่ดีจริง ๆ มาเป็นบอร์ด แต่เมื่อ คสช.ไป ต่อมามีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเขาก็เปลี่ยนกลับมาอีกอยู่ดี"

พร้อมแนะวิธีแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนว่า สิ่งที่ คสช.แก้ขณะนี้ไม่ใช่การปฏิรูป แต่เป็นการเปลี่ยนตัวบุคคล ไม่ใช่การเปลี่ยนระบบ สิ่งที่จะทำแล้วเกิดความยั่งยืนคือต้องเปลี่ยนระบบ ระบบที่ว่าคือระบบการสรรหากรรมการรัฐวิสาหกิจ ทำอย่างไรให้ได้คนมีคุณภาพ

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์เปรียบเทียบระบบของการบินไทยกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส โดยนำผลการวิจัยของ "อาจารย์เดือนเด่น นิคมบริรักษ์" ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันทีดีอาร์ไอ ชี้ให้เห็นว่าสิงคโปร์ แอร์ไลน์สเลือกกรรมการ 10 คน ทั้งหมดเป็นนักธุรกิจและนักวิชาชีพที่ช่วยด้านการทำธุรกิจ นักกฎหมาย นักบัญชี ที่ทำให้สิงคโปร์ แอร์ไลน์สแข่งขันได้กับสายการบินอื่น ๆ

ส่วนการบินไทยมีกรรมการ 15 คน เป็นนักธุรกิจประมาณ 3-4 คน ที่เหลือเป็นข้าราชการ อดีตข้าราชการ ทหารอากาศ ตำรวจ และอัยการ บางครั้งเราก็ตั้งคำถามเต็มไปหมด เช่น ตำรวจ หรือทหารอากาศ จะไปช่วยการบินไทยในการแข่งขันกับสิงคโปร์ แอร์ไลน์สได้อย่างไร

ดังนั้นปัญหาจึงไม่ใช่เรื่องการเปลี่ยนตัวบุคคล การที่ คสช.นำคนซื่อสัตย์สุจริตเข้ามาไม่ได้ทำให้ความเสียหายลดลง แต่มันไม่ยั่งยืน หรือพอพรรคการเมืองเข้ามาเขาก็เปลี่ยนคนตามใจชอบอีก เพราะฉะนั้นควรเปลี่ยนกระบวนการสรรหาบอร์ด ระบบคุณสมบัติว่าบุคคลอย่างไรถึงจะเข้ามาเป็นบอร์ดได้

นอกจากการปฏิรูประบบสรรหาแล้ว "ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์" บอกว่า สิ่งที่ควรปฏิรูปอีกเรื่องหนึ่งคือ การเปลี่ยนระบบบัญชีรัฐวิสาหกิจ โดยการทำระบบบัญชีให้ได้มาตรฐาน เช่น ข้อเสนอของ "บรรยง พงษ์พานิช" ประธานกรรมการ บริษัท หลักทรัพย์ภัทร จำกัด (มหาชน) และอดีตบอร์ดการบินไทย ที่เสนอให้รัฐวิสาหกิจทำบัญชีเหมือนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อให้ทราบว่าทรัพย์สินมีเท่าไร หนี้สินมีเท่าไร กำไรมีเท่าไร ขาดทุนเท่าไร

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ทิ้งท้ายว่า เพราะเมื่อระบบบัญชีไม่ได้มาตรฐาน ไม่มีการเปิดเผย และผู้ตรวจสอบบัญชีก็ใช้ สตง. ซึ่งบางกรณีก็มีคนมาให้ข้อมูลว่าหย่อนยานเยอะ ดังนั้นควรต้องเปลี่ยนผู้ตรวจสอบบัญชีเป็นบริษัทมีมาตรฐานในระดับสากล ข้อมูลจัดซื้อจัดจ้างรัฐวิสาหกิจก็จะเปิดเผย ก็จะออกมาดีขึ้น โปร่งใสขึ้น ซึ่งทั้งหมดอยู่ในแพ็กเกจการปฏิรูปการทุจริตคอร์รัปชั่น ซึ่งที่กล่าวมาเป็นเพียงรายละเอียดเล็กน้อยเท่านั้น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook