แจก2พันยังไม่จบ รัฐวิสาหกิจได้ด้วย

แจก2พันยังไม่จบ รัฐวิสาหกิจได้ด้วย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
พนักงานรัฐวิสาหกิจเฮ มาร์ค แจกอั่งเปา ออกทีวียันชัดได้รับเงิน 2 พันเหมือนผู้ทำประกันสังคมและขรก. ถ้าเงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท อ้างเพื่อจะได้ดูแลให้ทั่วถึงทุกกลุ่ม เล็งอุ้มครูโรงเรียนเอกชนด้วย พร้อมกับโชว์ไอ เดียกระตุ้นเศรษฐกิจที่จะคลอดตามมาอีกมากมาย

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ม.ค. ที่สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย กรมประชา สัมพันธ์ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ถึงความคืบหน้าของมาตรการเศรษฐกิจว่า ได้รับความสนใจเป็นพิเศษ มีมาตรการความช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย 2,000 บาท ปรากฏว่าเมื่อมาตรการออกไปแล้ว มีคำถามเข้ามาโดยเฉพาะประชาชนบางกลุ่ม ซึ่งเป็นห่วงว่าอาจจะไม่ครอบคลุมถึง

เราได้พูดถึงพี่น้องประชาชนที่เอาประกันตนในระบบประกันสังคม เงินเดือนไม่ถึง 15,000 บาท และในส่วนข้าราชการมีเงินเดือนประจำไม่ถึง 15,000 บาทเช่นเดียวกัน มีประชาชนอยู่บางกลุ่มที่ผมจะดูแลให้ทั่วถึง เช่น พนักงานรัฐ วิสาหกิจ ซึ่งไม่ได้พูดเอาไว้ แต่ถ้าเข้าเกณฑ์เรื่องของรายได้ประจำไม่ถึง 15,000 บาทก็จะได้รับเช่นเดียวกัน นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์กล่าวอีกว่า มีบุคลากรภาครัฐในส่วนของท้องถิ่น ซึ่งกำลังตรวจสอบรวบรวมในส่วนของข้าราชการและบุคลากรที่ทำงานหน่วยงานอิสระ และกำลังจะดูครูเอกชนว่าจะมีมาตร การอะไรช่วยเหลือ ทั้งหมดนี้จะไม่กระทบกับงบประมาณที่ประมาณไว้ เพราะการจัดทำงบประ มาณกลางปีสนับสนุนมาตรการนี้ ได้จัดงบจำนวนหนึ่งเป็นงบกลางสำรองไว้ เพราะทราบว่าตัวเลขของจำนวนประชาชนที่จะได้รับประโยชน์จากเรื่องเหล่านี้อาจเปลี่ยนแปลงไปจากที่ประมาณไว้ตอนต้น

ถ้าพี่น้องประชาชนกลุ่มใดยังไม่มั่นใจสามารถสอบถามมาได้ อย่างเช่นผมได้รับอีเมล์จากประชา ชนจำนวนหนึ่ง ซึ่งเป็นผู้เอาประกันตนในระบบประกันสังคม แต่ไม่มีนายจ้าง คือส่งเงินเข้าเอง ขอยืนยันว่าถ้าส่งเงินเข้าประมาณ 400 กว่าบาท ก็จะได้รับประโยชน์จากมาตรการ 2,000 บาทนี้เช่นเดียวกัน เป็นตัวอย่างของความพยายามที่เราจะไล่ดูรายละเอียดของแต่ละมาตรการ นายกฯกล่าว

นายกฯกล่าวถึงมาตรการสำคัญมากอีกเรื่องคือการฝึกอบรมแรงงานว่า ขณะนี้เดินหน้าวางแผนและเตรียมปฏิบัติการขั้นตอนต่อไป โดยระหว่างที่งบประมาณยังไม่ผ่านสภา จะเตรียมการไว้ให้พร้อมที่สุด ขณะนี้โครงการอยู่ที่สำนักปลัดสำนักนายกฯ มีคณะกรรมการเข้าไปประสานงานกับหน่วยงานที่ฝึกอบรมแล้ว ไม่ว่ามหาวิทยาลัย หรือกระทรวงแรงงาน หน่วยงานอื่นๆ ที่จะเข้ามาฝึกอบรมได้ และจะจัดแบ่งหลักสูตรการฝึกอบรม ว่าจะฝึกเรื่องอะไร จะแบ่งละเอียดมาก คาดว่าเป็น 100 กลุ่ม เพื่อจะเตรียมงานรองรับคนที่มาฝึกอบรมตรงนี้ ตั้งเป้าไว้ 5 แสนคน เพื่อรองรับวิกฤตเศรษฐกิจ มั่นใจว่าเมื่อฝึกอบรมแล้วจะมีงานรองรับในช่วงเวลาเฉพาะหน้านี้ได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงกองทุนหรือโครงการเศรษฐกิจพอเพียง ที่จะอัดฉีดเงินลงไปหมู่บ้านต่างๆ ว่า กำลังวางระบบการบริหารจัดการ มั่นใจเช่นเดียวกันว่าเมื่องบประมาณกลางปีผ่าน จะสามารถโอนเงินไป และดำเนินการโครงการนี้ได้เช่นเดียวกัน

นายอภิสิทธิ์กล่าวถึงการจ้างงานว่า มีประเด็นที่ผมได้รับการร้องทุกข์มามากคือ ในส่วนของระบบราชการ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ผมประชุมสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพล เรือน หรือก.พ. แล้วพบข้อเท็จจริงว่าหลังจาก ก.พ.ปรับระบบราชการใหม่จากระบบซี พบว่าขณะนี้มีอัตราว่างในระบบราชการประมาณ 24,000 อัตรา ผมให้นโยบายไปแล้วว่ารัฐบาลจะเร่งบรรจุข้าราชการเพิ่มเติมตามอัตราที่ว่างอยู่ 24,000 อัตรา ในภาวะที่เศรษฐกิจกำลังมีปัญหา แต่ขณะนี้มอบให้ก.พ.เป็นภาพรวม ว่าใน 24,000 อัตรา ควรจัดสรรอย่างไร เพราะว่าที่มีปัญหาค้างคามา เช่น กรณีของพยาบาลซึ่งปรากฏเป็นข่าวอยู่ ก็ควรได้รับการดูแลก่อน ส่วนการบรรจุส่วนอื่นๆ จะเชื่อมโยงในส่วนของมาตรการที่กำลังดูว่าจะปรับปรุงเรื่องของสวัสดิการ หรือเงื่อนไขสัญญาของพนักงานราชการอย่างไร เพราะว่ามีส่วนร้องเรียนเช่นเดียวกันกับพนักงานราชการที่อยากเป็นข้าราชการ ต้องเรียนตรงๆ ว่าคงไม่สามารถบรรจุเป็นข้าราชการได้ทุกคน แต่การปรับปรุงเงื่อนไขของสัญญา การปรับปรุงสวัสดิการน่าจะทำได้

นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า วันที่ตนไปเยี่ยม 3 จังหวัดภาคใต้ ก็มองว่าเงื่อนไขสัญญาของพนักงานข้าราชการใน 3 จังหวัด ควรมีลักษณะจูงใจเป็นพิเศษด้วย นอกจากนั้นยังมีอีกกลุ่มหนึ่ง บรรดาลูกจ้างชั่วคราวหรือบรรดาอัตราจ้างต่างๆ ที่ยังไม่ได้มีสัญญาแบบพนักงานราชการด้วย เพราะฉะนั้นได้ขอก.พ.และก.พ.ร.ไปดูแล้ว เมื่อจะบรรจุข้าราชการเพิ่มขึ้น เมื่อจะปรับปรุงเรื่องของเงื่อนไขสัญญาต่างๆ ของพนักงานราชการในส่วนของครูอัตราจ้าง หรือส่วนอื่นๆ จะทำอย่างไร เฉพาะกรณีของครู กำลังดำเนินการคืนอัตราเกษียณ ประมาณ 5,000 อัตรา ฉะนั้นขณะนี้ขอเรียนว่าปัญหาที่ค้างคามาในระบบราชการ กำลังให้ดูอย่างเป็นระบบ และเชื่อว่าจากโอกาสอัตราว่างที่มีอยู่คงจะเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงช่วยบรรเทาปัญหาต่างๆ ที่ร้องเรียนเข้ามาได้พอสมควร

เรามีมาตรการเพิ่มเติมในอาทิตย์นี้ นอกจากมาตรการที่ประกาศไปแล้ว และอยู่ในเรื่องของงบประมาณกลางปีที่จะเสนอต่อสภา เรามีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอีกหลายๆ เรื่องออกมา วันอังคารที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีอนุมัติเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจที่มุ่งช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อย ภาคอสังหาริมทรัพย์ และภาคการท่องเที่ยว ผมยังไม่ขอลงรายละเอียด แต่ว่าจะมีทั้งมาตร การภาษีซึ่งมาผ่อนปรนเงื่อนไขของการเสียภาษีสำหรับในเรื่องของผู้ประกอบการรายย่อย มีมาตรการมาช่วยสนับสนุนเรื่องประชุมสัมมนาเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว หรือมาตรการทางภาษีมาช่วยในเรื่องปรับโครงสร้างหนี้ในการโอนกิจการ และมีมาตรการในเรื่องอสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ และทุนประเมินคนที่ซื้อสังหาริมทรัพย์มูลค่าไม่เกิน 3 แสนบาทภายในปีนี้ เป็นต้น นายกฯกล่าว

นายกฯกล่าวอีกว่า ส่วนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว นอกจากจะเร่งกระตุ้นเรื่องของการประชุมสัมมนาภายในประเทศแล้ว ยังมีเรื่องลดค่าธรรมเนียมต่างๆ สำหรับผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจโรงแรม ลดหย่อนค่าประกัน การใช้ไฟฟ้าสำหรับผู้ประกอบธุรกิจโรงแรม และลดค่าธรรมเนียมวีซ่า ลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน ลดค่าธรรมเนียมเข้าชมอุทยาน ฉะนั้น มาตรการเหล่านี้คงจะกระตุ้นในเรื่องของธุรกิจการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างรุนแรงได้

มาตรการ 2,000 บาทนี้ ผมเห็นใจคนที่มีรายได้ 15,000 และ 16,000 บาท เพราะจะถูกตัดไปพอดี แต่ไม่ว่าจะเลือกตัวเลขไหนก็เกิดปัญหา ที่เลือก 15,000 บาท เพราะดูจากฐานข้อมูลที่เรามี การส่งเงินเข้าประกันสังคม ตั้งแต่รายได้ 15,000 บาทขึ้นไป จะสูงเท่าไหร่ก็จะต้องส่งเงินเข้าประกันสังคมเท่ากัน เราแยกไม่ได้ว่าใครมีรายได้น้อยหรือมาก จึงจำเป็นต้องเลือก 15,000 บาท เป็นตัวกำหนด นายกฯกล่าว

ผู้ดำเนินรายการถามว่าคิดว่ามาตรการ 2,000 บาท มีคนไม่เห็นด้วยมากกว่าที่คิดไว้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ไม่คิดเช่นนั้น ผมคิดว่ามีคนที่รอจำนวนมาก คนที่ไม่เห็นด้วย เพราะอยากได้ก็จำนวนมาก คนที่มองว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ผมแจ้งไปแล้วว่า การกระตุ้นเศรษฐกิจที่เร็วที่สุดคือการบริโภค ดูจากความเป็นจริง คนที่มีรายได้น้อยจะมีโอกาสใช้เงินเพิ่มขึ้น และเก็บน้อยกว่าคนมีรายได้สูง ในต่างประเทศ การมองว่าไม่มีผลอะไรแต่มีผลสำคัญในการรักษาระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ อันนี้เป็นมาตรการที่เราต้องประคับประคองให้ผ่านครึ่งปีแรก ส่วนครึ่งปีหลังจะทยอยออกมา เราต้องมาประเมินอีกครั้ง ต้องดูความแน่นอนของตลาดโลกด้วยอีกครั้งว่าเป็นอย่างไร

เมื่อถามว่ารัฐบาลมีนโยบายช่วยเหลือคนไม่มีรายได้อย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ต้องเรียนว่า คนที่ไม่มีรายได้ตรงนี้ ผมไม่แน่ใจว่าเป็นคนกลุ่มไหน แต่คนที่เคยมีรายได้ประจำ มีประกันสังคม แต่ตกงานอยู่ และส่งเงินเข้าประกันสังคม ก็ยังได้รับเงิน 2,000 บาท ส่วนคนที่เคยเป็นข้าราชการ รายได้ไม่ถึง 15,000 บาท ก็ได้รับ แต่คนที่ไม่มีรายได้เลย คือคนว่างงาน ซึ่งตรงนี้มีโครงการอบรมคนว่างงานจำนวน 500,000 คน ซึ่งมีรายได้ให้ขณะอบรมด้วย และจะหางานรองรับอีกทาง ก็จะมีคนที่ประกอบธุรกิจได้รับผลกระทบ ที่ผ่านครม.ไป และกลุ่มใหญ่คือเกษตรกรที่ถูกแทรกแซงราคาพืชผล อยากจะย้ำว่าอยากให้ดูมาตรการทุกมาตรการว่ารัฐบาลครอบคลุมทุกกลุ่ม หากดูทั้งระบบจะเห็นว่ารัฐบาลช่วยเหลือคนทั้งระบบจริงๆ

ต่อข้อถามว่า ยกตัวอย่างมาตรการ 2,000 บาท พ่อค้าแม่ค้าที่ไม่ได้ทำประกันสังคมจะได้เงิน 2,000 บาทหรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า หากไม่ได้ทำประกันสังคมคงไม่ได้ แต่ผู้ประกอบการรายย่อย เช่น คนที่ต้องเสียภาษีร้อยละ 0.5 จาก 60,000 บาทขึ้นไป เรายกเว้นให้ถึง 1 ล้านบาท เชื่อว่าคนที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แต่ไม่ใช่เงินเดือน จะได้ประโยชน์จากตรงนี้ รัฐบาลคงไม่สามารถทุ่มเทเงินได้มากกว่านี้ เราจะพยายามช่วยเหลือ สิ่งสำคัญคือคนที่ได้รับมาตรการเหล่านี้ จะทำให้เกิดการใช้จ่าย เกิดการหมุนเวียน เติมเงินในกระเป๋าให้กับทุกคน

ด้านนายกรณ์ จาติกวณิช รมว.คลัง กล่าวว่า การให้เงิน 2,000 บาทแก่พนักงานรัฐวิสาหกิจตามที่นายกฯกล่าวออกทีวีนั้น เป็นแนวทางที่รัฐบาลคิดและเตรียมแผนไว้เรียบร้อยแล้วทั้งหมด นายกฯพูดไว้อย่างไรต้องเป็นอย่างนั้น

ขณะที่นายวรพล โสคติยานุรักษ์ รองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ กล่าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการแจกเงิน 2 พันบาทให้กับพนักงานรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากหากรัฐบาลแจกเงินกับกลุ่มคนที่เรียกร้องเข้ามา ก็จะมีกลุ่มคนอีกจำนวนมากต่อคิวเรียกร้องเพิ่มเติม โดยเฉพาะกลุ่มคนที่เดือดร้อนจริงๆ เช่น ผู้ว่างงาน ซึ่งเหมาะสมจะได้รับแจกเงินมากกว่า อย่างไรก็ตาม ตนมองว่าควรเปลี่ยนจากแจกเงินเป็นสร้างโครงการที่สร้างงาน สร้างเงิน และสร้างประเทศ จะเหมาะที่สุดในฐานะสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้

นายวรพลกล่าวอีกว่า อาจแยกเป็นโครงการด้านการท่องเที่ยว เพื่อสร้างบุคลากรและพัฒนาทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพและมีความถาวรมั่นคงมากขึ้น โครงการเกี่ยวกับเทคโนโลยี (ไอที) เนื่องจากประเทศไทยได้รับการจัดอันดับว่าด้านไอทีอ่อนแอมาก บุคลากรด้านนี้มีความรู้ต่ำที่สุดในโลกประเทศหนึ่ง รัฐบาลควรเริ่มจากการพัฒนาไอทีที่โรงเรียนทั่วประเทศ รวมถึงพัฒนาด้านการศึกษา อุปกรณ์ สถานที่ในคราวเดียวกัน สุดท้ายคือโครงการเกี่ยวกับสาธารณูป โภค เช่น แหล่งน้ำ ทางเข้าออกหมู่บ้าน หรือโครงการเพื่อประหยัดพลังงาน

เม็ดเงินที่จะนำมาแจกแก่ผู้มีรายได้อยู่แล้วรายละ 2,000 บาท รวมแล้วเกือบ 2 หมื่นล้านบาท เราไม่สามารถกำกับการใช้เงินที่ได้รับแจกได้ ทั้งหมดมีต้นทุนและสร้างภาระให้กับประเทศทั้งหมด แต่การแจกเงินกลับไม่ได้สร้างงาน สร้างเงิน และสร้างประเทศ แต่กลับเพิ่มอาชีพช่างขอให้เป็นอีกอาชีพของคนไทย หากรัฐบาลมัวแต่แจกเงิน แต่ไม่เก็บไว้บ้างสำหรับมรสุมเศรษฐกิจที่ยังเกิดต่อเนื่องไปถึงปี 2553 ซึ่งจะยังต้องใช้เงินก้อนใหญ่ ทั้งจากขาดดุลเพิ่มและกู้เงินเพิ่ม เราจะไม่พร้อมสำหรับอะไรทั้งสิ้น นายวรพลกล่าว

ที่พรรคเพื่อไทย นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย พร้อมด้วยนายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงถึงแนวนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลว่า พรรคเพื่อไทยเป็นห่วงเรื่องเสถียรภาพการเงินการคลังของประเทศ ที่มาจากการจัดทำร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2552 รัฐบาลอย่าใช้เพียงการอัดฉีดเม็ดเงิน โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมา เพราะกว่าที่จะนำงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปี 2552 ไปใช้ได้ ต้องรอถึงไตรมาส 2 หรือ 3 ของปี เนื่องจากยังมีข้อติดขัดเรื่องตีความที่มาของรายได้ ที่อาจนำไปใช้ไม่ทันต่อการแก้ไขปัญหา ดังนั้น รัฐบาลต้องจัดสมดุลในการเบิกจ่าย เช่น เร่งรัดการใช้งบกลางและงบสำรองฉุกเฉินที่มีอยู่ประมาณ 4 หมื่นล้านบาทมาใช้ก่อน นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับมาตรการจ้างแรงงานมากกว่าการแจกเงินที่ใช้งบสูง แต่ไม่ได้ผล อย่างไรก็ตามอยากฝากรัฐบาลว่าควรแก้ปัญหาเศรษฐ กิจอย่างรอบคอบ ไม่ควรเร่งออกมาตรการแก้ปัญหาเศรษฐกิจเป็นรายสัปดาห์ เพราะจะทำให้ประชาชนเกิดความสับสนและแปรเจตนาไม่ตรงกับที่รัฐบาลต้องการสื่อความหมาย

นายพร้อมพงศ์กล่าวด้วยว่า แนวทางการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ใช้การแจกเงินนั้น จะแก้ปัญหาได้เพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่ไม่สามารถแก้ปัญหาระยะยาวได้ เพราะรัฐบาลต้องการเพียงโปรโมตเรียกคะแนนเสียงมากกว่า ไม่สามารถแก้ปัญหาได้จริง ขอเรียกร้องรัฐบาลเปิดโอกาสให้ส.ส.ซีกรัฐบาลและฝ่ายค้านได้อภิปรายหรือตัดตอนประเด็นที่ไม่สำคัญในร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ปี 2552 เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการนำไปใช้บริหารประเทศให้มากที่สุด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook