คสช.จัดกำลัง ใกล้ขยับ เสาค้ำ ผบ.เหล่าทัพ-ตำรวจ

คสช.จัดกำลัง ใกล้ขยับ เสาค้ำ ผบ.เหล่าทัพ-ตำรวจ

คสช.จัดกำลัง ใกล้ขยับ เสาค้ำ ผบ.เหล่าทัพ-ตำรวจ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. กำลังดำเนินการอยู่ในขั้นจัดกำลังพล

ทางหนึ่งเป็นกำลังฝ่ายข้าราชการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทยอยออกคำสั่งโยกย้ายข้าราชการระดับปลัดกระทรวง และอธิบดีกรมต่างๆ อาทิ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงกลาโหม ปลัดกระทรวงพลังงาน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ปลัดกระทรวงคมนาคม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีและสารสนเทศ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นต้น

ล่าสุด มีคำสั่งย้าย พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. ให้ดำรงตำแหน่งรอง ผบ.ตร.เพียงตำแหน่งเดียว และย้าย พ.ต.อ.สุชาติ วงศ์อนันต์ชัย อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ไปเป็นผู้ตรวจราชการ

การโยกย้ายลักษณะนี้มีเป้าประสงค์เพื่อจัดทัพเดินหน้าบริหารประเทศต่อ ซึ่งแตกต่างจากการโยกย้ายในครั้งแรกที่ คสช.ยึดอำนาจ เพราะตอนนั้น การโยกย้ายมีวัตถุประสงค์เพื่อคุมสภาพภายในประเทศให้สงบ

ดังนั้น ในระหว่างรอความพร้อมจากธรรมนูญการปกครองประเทศ ซึ่ง นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ควบคุมดูแลใกล้ชิด จะแก้ไขแล้วเสร็จ และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานำขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อกำหนดให้มีองค์กรบริหารอย่างรัฐบาล องค์กรทางนิติบัญญัติอย่างสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และองค์กรที่ทำหน้าที่ระดมความคิดอย่างสภาปฏิรูป ทาง คสช.จึงดำเนินการจัดกำลังพลฝ่ายข้าราชการไปพลางๆ ก่อน

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาข้าราชการทั้งมวล ต้องถือว่าไฮไลต์จัดทัพ หนีไม่พ้นการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจและทหาร ซึ่งถือเป็นเสาที่คอยค้ำยันอำนาจให้แก่ คสช. และมีความบังเอิญที่กันยายน 2557 ตำแหน่งสำคัญระดับผู้บัญชาการเหล่าทัพ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถึงคราวเกษียณอายุราชการทุกคน ทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ. พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย ผบ.ทร. พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง ผบ.ทอ. และ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว เดือนตุลาคมจึงเกิดคำถามนานัปการว่า ตำแหน่งต่างๆ เหล่านี้จะมีใครนั่งคุม

จะต่ออายุราชการ หรือแต่งตั้งใครขึ้นมาแทน?

จากคำถามดังกล่าวจึงเกิดกระแสข่าว แคนดิเดตŽ ตำแหน่ง ผบ.เหล่าทัพกระจัดกระจายมากมาย

ฝั่งกองทัพบก มีแคนดิเดต 2 คน คือ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รอง ผบ.ทบ. (ตท.14) และ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. (ตท.15) ซึ่งมีสูตรการสลับมากมาย

ขณะที่ฝั่งกองทัพเรือ และฝั่งกองทัพอากาศก็เช่นกัน เพียงแต่การวางตัว ผบ.เหล่าทัพคนต่อไปนั้น ต้องรอการตัดสินใจของ คสช.

แม้ว่าก่อนหน้านี้ทั้งกองทัพเรือและกองทัพอากาศ จะมีการวางแคนดิเดตเอาไว้แล้ว แต่ทุกอย่างต้องชั่งใจอีกครั้งหลังจากเหตุการณ์ยึดอำนาจ 22 พฤษภาคม

เฉกเช่นเดียวกับสถานการณ์ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ปีนี้ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว  (นรต.29) และ พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ รักษาการ ผบ.ตร. (นรต.29) เกษียณอายุลงพร้อมกัน

ทำให้ตำแหน่ง ผบ.ตร. รอวัดกันระหว่าง พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ (นายร้อยอบรม) ติดยศ พล.ต.อ. เมื่อปี 2553 จัดว่าเป็น อาวุโสอันดับ 1 หรือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ (นรต.31) ที่เพิ่งถูกริบตำแหน่งเลขาธิการ ป.ป.ส. ให้กลับไปเป็นรอง ผบ.ตร. เพียงตำแหน่งเดียว ซึ่งมีความอาวุโสอันดับ 2

 พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แม้จะติดยศ พล.ต.อ.ปีเดียวกับ พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ แต่ระยะหนึ่ง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญลาออกไปสมัครผู้ว่าฯ กทม. ทำให้ช่วงเวลาครองตำแหน่งน้อยกว่า พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์  กลายเป็นผู้มีอาวุโสน้อยกว่า

ขณะที่ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง รอง ผบ.ตร. (นรต.31) ติดยศ พล.ต.อ. ปี 2554 ครองอาวุโสอันดับ 3 ตามมาด้วย พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา รอง ผบ.ตร. (นรต.30) ติดยศ พล.ต.อ. ปี 2554 และ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน (นรต.35) ติดยศ พล.ต.อ. ปี 2555

ทั้งนี้ ยังมี พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ ที่รอโปรดเกล้าฯขึ้น รอง ผบ.ตร. ที่ติดยศ พล.ต.อ. เมื่อปี 2554 อาจจะแซงลำดับอาวุโสของ พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน หลังโปรดเกล้าฯได้

อย่างไรก็ตาม ทั้ง พล.ต.อ.เฉลิมเกียรติ ศรีวรขาน เกษียณอายุปี 2562 ส่วน พล.ต.อ.วุฒิ ลิปตพัลลภ เกษียณอายุปี 2560 มีอายุราชการอีกหลายปี ดังนั้น จึงรอได้

ขณะที่  พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์  และ  พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ เกษียณอายุปี 2559 พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง และ พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา เกษียณอายุปี 2558

ดังนั้น ด้วยเวลาราชการที่เหลืออยู่ และลำดับอาวุโสที่มากกว่า จึงต้องลุ้น

ยิ่งเมื่อผนวกกับความสัมพันธ์กับขั้วอำนาจตามลำดับรุ่น อย่าง พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ และ พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อยู่ในรุ่น ตท.15 รุ่นเดียวกับ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ส่วน พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์  ก็เป็นนักเรียนโรงเรียนวัดนวลนรดิศ แหล่งศึกษาเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

ทั้งนี้ แต่ละคนต่างมีดี มีด้อย พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์  แม้อาวุโส แต่ไม่ได้จบ นรต. ขณะที่ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ แม้จะจบ นรต. แต่ก็เคยสมัครผู้ว่าฯ พรรคเพื่อไทย

พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง จบ นรต. และทุ่มทำงานให้ คสช.ตั้งแต่แรก แต่ก็อาวุโสอันดับ 3

ส่วน พล.ต.อ.วรพงษ์ ชิวปรีชา นั้น นรต.30 แต่เป็นตัวหลักฝ่ายตำรวจที่คุมกำลัง จับกุม สั่งฟ้องแกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมก่อนหน้านี้

ทุกอย่างคงต้องขึ้นกับการตัดสินใจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นผู้รับผิดชอบในการยึดอำนาจ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงต้องจัดวางกำลัง โดยเลือกคนที่ไว้วางใจนั่งในตำแหน่งต่างๆ ซึ่งถือเป็น เสาค้ำŽ อำนาจการบริหาร เช่นเดียวกับการโยกย้ายข้าราชการ ซึ่งต้องเป็นมือไม้ในการบริหารราชการแผ่นดิน

อย่างไรก็ตาม การโยกย้ายเช่นนี้ แม้มีข้อดีคือได้คนไว้วางใจไปทำงาน แต่ทุกครั้งที่มีคำสั่งโยกย้าย ย่อมมีทั้งคนชอบและคนชัง ขณะที่การบริหารงานจะไม่โยกย้ายใครเลยก็ไม่ได้

ดังนั้น การรักษาสมดุลในการโยกย้ายจึงเป็นปัจจัยที่น่าคำนึงถึง

การโยกย้ายแต่เพียงพอดี ย่อมทำให้การบริหารงานสะดวก แต่หากย้ายมากเกินไป ย่อมส่งผลให้คนไม่พอใจมากเกินควร

ความไม่พอใจเช่นนี้อาจกลายเป็นปัญหาในอนาคต

โดยเฉพาะกำลังพลที่เป็นเสมือน เสาค้ำŽ อำนาจการบริหาร ยิ่งมีปัญหาน้อยเท่าไรก็ยิ่งดี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook