คสช.แจงเนื้อหา รธน.ชั่วคราว-หน.คสช.เป็นนายกฯได้

คสช.แจงเนื้อหา รธน.ชั่วคราว-หน.คสช.เป็นนายกฯได้

คสช.แจงเนื้อหา รธน.ชั่วคราว-หน.คสช.เป็นนายกฯได้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฝ่าย กฏหมาย คสช. ชี้แจง รายละเอียด รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี2557 แสดงให้เห็นการก้าวตามโรดแม็ป ไม่ห้าม หน.คสช. เป็นนายกฯ ชี้ทั้งหมดอยู่ที่ สนช. จะเลือกใคร

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ศ.พิเศษ พรเพชร วิชิตชลชัย ที่ปรึกษาหัวหน้า คสช. นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษา คสช. ชี้แจงรายละเอียดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557

นายวิษณุ กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามโรดแมปขั้นที่ 2 ตามที่ หัวหน้า คสช. ได้ประกาศไว้โดยรัฐธรรมนูญชั่วคราวฉบับดังกล่าวเป็นฉบับที่ 19 ซึ่งคาดว่าจะมีระยะเวลา 1 ปี และเมื่อการจัดทำรัฐธรรมนูญถาวรเสร็จสิ้น ก็จะเข้าสู่การจัดการเลือกตั้งส่วนรัฐธรรมนูญฉบับที่ 20 จะมีการลงประชามติหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณา

สำหรับขั้นตอนแรกที่จะมีการดำเนินการต่อจากนี้ คือจัดตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะมีสมาชิกไม่เกิน 220 คน โดยให้หัวหน้า คสช. เป็นผู้คัดสรร ซึ่งมีคุณสมบัติที่สำคัญ คือไม่เคยดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง เช่น หัวหน้าพรรค แต่ไม่รวมสมาชิกพรรค โดยที่ สนช. มีอำนาจออกกฎหมาย และมีอำนาจแต่งตั้งและถอดถอนนายกรัฐมนตรี และการแต่งตั้ง อัยการสูงสุด เลขากฤษฎีกา แต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งตามรัฐธรรมนูญ

ส่วนคณะรัฐมนตรี ไม่เกิน 36 คน รวมนายกรัฐมนตรี โดยที่ ครม.จะแต่งตั้งจากข้าราชการก็สามารถเข้ามาดำรงตำแหน่งควบคู่กันไปได้ และมีการกำหนดอำนาจเพิ่มขึ้น คือ ดำเนินการฏิรูปในด้านต่าง ๆ การสร้างความสามัคคีปรองดองและความสมานฉันท์ในสังคมไทย

สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีสมาชิกไม่เกิน 250 คนมาจากการสรรหาจังหวัดละ 1 คน รวม77 คน และให้ คสช. เลือก 173 คน

ทั้งนี้ คสช.จะยังคงอำนาจอยู่ต่อไปจนกว่าจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับถาวร รวมถึงในระหว่างนั้น คสช. มีอำนาจเสนอแนะให้แก่ ครม. รวมถึงขอเชิญ ครม.ประชุมร่วมกัน แต่ไม่สามารถปลด ครม.ได้

ในส่วน ม.44 นายวิษณุ กล่าวว่า มีเพื่อให้การบริหารราชการเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ระบุตามรัฐธรรมนูญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีคุณสมบัติที่จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ แต่ขึ้นอยู่กับการเลือกของ สนช.

 

ไพบูลย์ แจง อำนาจ หน.คสช.เป็นไปตาม รธน.

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม กล่าวว่า มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ ไม่ได้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการแก่หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. เพราะการจะสั่งการใดได้นั้นต้องอยู่ ภายใต้เงื่อนไขที่ได้ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความมั่นคงและเรื่องที่คณะรัฐมนตรีควบคุมลำบาก ทั้งการออกข้อบังคับ และสั่งการหน่วยงานในการแก้ไขปัญหา

นอกจากนี้ ในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวนี้ได้มอบอำนาจให้หัวหน้า คสช. สามารถยื่นญัตติเข้าสภานิติบัญญัติ (สนช.) ให้พิจารณาปลดนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรี แต่ไม่สามารถสั่งปลดได้ด้วยตนเอง

 

คสช.ยังไม่วางตัวนายกฯ-'ไพบูลย์'หนุน'ประยุทธ์'

พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวว่า ขณะนี้ ในที่ประชุม คสช. ยังไม่มีการพูดคุยหรือวางตัวบุคคลใดว่า จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งส่วนตัวมองว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ก็ไม่เห็นข้อบกพร่องอะไร เพราะที่ผ่านมาก็สามารถทำหน้าที่หัวโต๊ะคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้อย่างสมบูรณ์

ขณะที่ นายวิษณุ เครืองาม ที่ปรึกษาคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึง การตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า จะมีขั้นตอนตามที่ระบุไว้ในรัฐธรรมนูญ รวมถึงพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และพระราชบัญญัติประกอบการเลือกตั้ง ดังนั้น การตรวจสอบนักการเมือง จะยังคงเหมือนเดิมทุกประการๆ ส่วนการตรวจสอบสภานิติบัญญัติ (สนช.) และสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เป็นหน้าที่ของ ป.ป.ช. ว่าจะดำเนินการอย่างไร


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook