หน.คสช.ยันหลายปท.เข้าใจไทยปัดคุมสื่อลุยช่วยผู้ลี้ภัย

หน.คสช.ยันหลายปท.เข้าใจไทยปัดคุมสื่อลุยช่วยผู้ลี้ภัย

หน.คสช.ยันหลายปท.เข้าใจไทยปัดคุมสื่อลุยช่วยผู้ลี้ภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'พล.อ.ประยุทธ์' ยัน หลายประเทศเข้าใจประเทศไทย ปัดคุมสื่อ ลุยช่วยผู้ลี้ภัย ขณะ องค์กรนิรโทษกรรมสากล หนุน คสช. แก้ปัญหา พร้อมลุยตรวจสต๊อกข้าว และเห็นชอบแผนข้าวเร่งขาย 18 ล.ตัน 3 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ กล่าวในรายการ "คืนความสุขให้คนในชาติ" ว่า เมื่อวันที่ 22 ก.ค. 57 ที่ผ่านมา เป็นเรื่องที่น่ายินดียิ่ง ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แล้ว ทั้งนี้ มีการตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหาจังหวัดชายภาคใต้ รวมถึงชี้แจงทำความเข้าใจกับนานาชาติในวงประชุม OIC และได้รับการชื่นชมเรียกร้องให้ไทยแก้ปัญหาต่อไปอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ ไม่ได้มีการละเมิดสิทธิมนุษยชน เพียงกำหนดให้สื่อระมัดระวังในการนำเสนอข่าว ขอให้ต่างประเทศเข้าใจในการใช้กฎหมายพิเศษ และขณะนี้ คสช. ยังเร่งแก้การละเมิดสิทธิมนุษยชนในทุกมิติด้วย

อย่างไรก็ตาม คสช. มีการหารือองค์กรนิรโทษกรรมสากล (AI) แล้ว ถึงเรื่องการนิรโทษกรรมระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึก และการเข้าควบคุมอำนาจ และบทบาทหลังมีรัฐบาล รวมถึงชี้แจงถึงการแก้ปัญหาต่างด้าว และผู้ลี้ภัยจากการสู้รบชาวพม่า โดยองค์กรดังกล่าว เห็นด้วยกับการดำเนินการของ คสช.

 

คสช.ลุยตรวจสต๊อกข้าว พร้อมเห็นชอบแผนข้าวเร่งขาย 18 ล.ตัน 3 ปี

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ผ่านสถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ว่า การตรวจโกดังกลางเก็บข้าว ทาง คสช.จะดำเนินการอย่างต่อเนื่องควบคู่ไปกับการดำเนินคดี ในกรณีหากตรวจพบความไม่โปร่งใส เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสอบสวนและกระบวนการยุติธรรม โดยปัจจุบัน คณะทำงาน คสช. ได้เข้าตรวจสอบปริมาณข้าวแล้ว 836 แห่ง หรือคิดเป็นร้อยละ 46.78 จากโกดังที่มีทั้งหมดทั่วประเทศ 1,787 แห่ง เบื้องต้นพบข้าวในสภาพปกติ 685 แห่ง และสภาพผิดปกติ 126 แห่ง เช่น การเสื่อมสภาพ ชนิดของข้าวไม่ตรงตามบัญชีที่แจ้งไว้ มีข้าวชนิดอื่นปลอมปน มีมอดไรสิ่งเจือปนในข้าวจำนวนมาก ขณะที่การระบายข้าวนั้น จะดำเนินการวางแผนงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่ง คสช. ได้เห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณาระบายข้าว ที่มี ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เป็นประธาน ได้นำเสนอยุทธศาสตร์แนวทางการระบายข้าวในสต๊อกของรัฐบาล กำหนดเป้าหมายระบายข้าวในสต๊อกที่มีอยู่ 18 ล้านตัน ภายในระยะเวลา 3 ปี ซึ่งจะแบ่งประเภทของข้าว ในการระบายเป็นคุณภาพดี ปานกลาง คุณภาพต่ำ และข้าวเสื่อมคุณภาพในช่องทางที่เหมาะสม เช่น การส่งออก การค้าทั่วไป การบริโภค รวมถึงการแปรรูป และคำนึงถึงความเหมาะสมให้สอดคล้องสถานการณ์การค้าข้าวภายในประเทศและต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพราคา คำนึงผลกระทบต่อเกษตรกร รวมทั้งประโยชน์ของรัฐ โดยแนวทางส่งออกข้าวจะมีพิจารณาในหลายช่องทาง เช่น ระหว่างรัฐต่อรัฐ (G to G) หรือ ความร่วมมือระหว่างรัฐกับเอกชนขายข้าวให้ลูกค้าต่างประเทศ องค์กรเอกชนที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศ 

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึงการลงทุนด้านเศรษฐกิจและสังคม ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การบริหารจัดการน้ำ การบริหารจัดการด้านพลังงาน การขนส่งและอื่นๆ ว่า ขณะนี้อยู่ในกระบวนการดำเนินการให้เป็นรูปธรรม เพื่อให้ทันต่อการรองรับเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) โดยเร็ว

 

คสช.เร่งฟื้นเชื่อมั่นศก.สั่งพณ.แก้ผูกขากสินค้ากดราคาเกษตร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวผ่านรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า การฟื้นฟูความเชื่อมั่นด้านเศรษฐกิจนั้น ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ตัวแทนสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจ ตัวแทนสมาคมไทย-จีน ตัวแทนสภาธุรกิจตลาดทุนไทย ได้เข้าพบหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ โดยทุกฝ่ายได้แสดงเข้าใจและได้รับทราบนโยบายของ คสช. ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในการค้าการลงทุนของทุกภาคส่วน และจะทำให้สถานการณ์ด้านเศรษฐกิจ มีทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต ขณะที่การส่งเสริมการลงทุนในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ได้อนุมัติโครงการที่ค้างการพิจารณาไปแล้ว 92 โครงการวงเงิน 2.6 แสนล้านบาท สำหรับการเตรียมความพร้อมเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) ฝ่ายเศรษฐกิจได้ดำเนินงานด้านความร่วมมือทางการค้าทั้งในกรอบ พหุภาคีและทวิภาคี เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ AEC อาทิ การประชุมหารือของฝ่ายอาเซียน การประชุมคณะกรรมการเจรจาทางการค้า สำหรับการจัดทำความตกลงการค้าเสรี อาเซียน-ฮ่องกง การประชุมอาเซียน-เกาหลี เพื่อเจรจาเปิดตลาดสินค้าเพิ่มเติม

นอกจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวถึง การแก้ไขปัญหาสินค้าทางการเกษตรตามแนวชายแดน ว่า คสช. มอบให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ หารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาดังกล่าว การกำหนดจุดเข้าออกสินค้า พื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ตลอดจนควบคุมคุณภาพ การส่งออก รวมถึงระบบภาษี เพื่อสร้างพื้นฐานคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ให้มีรายได้ และเป็นการแก้ไขปัญหาสินค้าเกษตรทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านไปพร้อมกัน ขณะที่สถานการณ์ราคาสินค้าเกษตรและแนวทางการกำกับดูแล ได้กำชับ กระทรวงพาณิชย์แก้ไขในเรื่องของการผูกขาด หรือการกดราคาผลผลิตจากพ่อค้าคนกลาง

 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook