กทม.ห่วงรีดภาษีที่ดินป่วนธุรกิจอสังหาฯ ค้านเก็บย้อนหลัง-ธนารักษ์แจ้นรื้อราคาประเมินใหม่

กทม.ห่วงรีดภาษีที่ดินป่วนธุรกิจอสังหาฯ ค้านเก็บย้อนหลัง-ธนารักษ์แจ้นรื้อราคาประเมินใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าวถึงแนวคิดของรัฐบาลที่จะหารายได้ด้วยการจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดกว่า โดยส่วนตัวเห็นด้วยกับหลักการดังกล่าว แต่มีข้อท้วงติงเพียงเรื่องเดียวและอยากให้รัฐบาลคำนึงในการเก็บภาษีมรดก คือจะต้องไม่เก็บย้อนหลังและไม่ทำให้ผู้ที่มีทรัพย์สินน้อยเดือดร้อนหรือได้รับผลกระทบกระเทือน ทั้งนี้ รัฐบาลต้องทำกฎหมายให้รัดกุม ปิดช่องทางไม่ให้คนรวยเลี่ยงจ่ายภาษี เพราะเท่าที่ตนทราบมีหลายวิธีด้วยกันที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากทม.จะเป็นองค์กรท้องถิ่นที่มีหน้าที่จัดเก็บภาษีดังกล่าวโดยตรง ก็ต้องทำตามนโยบายของรัฐบาลและทำตามกฎหมาย หากกฎหมายใหญ่ผ่านสภามีการบังคับใช้ กทม.ก็ต้องพร้อมปฏิบัติตามนโยบาย

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ส่วนการเก็บภาษีที่ดินที่ว่างเปล่าไม่ได้ใช้ประโยชน์นั้น ก็อยากให้พิจารณาให้ดี เพราะตนไม่อยากให้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีปัญหา เนื่องจากการลงทุนที่ดินถือเป็นความผูกพันกับประเทศชาติมากที่สุด ซึ่งเป็นการยืนยันว่าเขาจะไม่ไปไหนจึงมีการลงทุนซื้อที่ดิน ขณะเดียวกันในบางรายก็ยังไม่มีโครงการที่จะพัฒนาทำอะไร เมื่อถามว่าส่วนของกทม. ต้องหารือกับหน่วยงานของกทม.ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเสนอข้อท้วงติงไปยังรัฐบาลหรือไม่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์กล่าวว่า ระหว่างนี้คงไม่มีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่หากว่าร่างกฎหมายดังกล่าวผ่านการพิจารณาของรัฐสภาในวาระ 2 ซึ่งต้องมีการตั้งกรรมาธิการขึ้นมาศึกษา ตนเชื่อว่าจะมีตัวแทนของกทม. เข้าร่วมเป็นกรรมาธิการ และระหว่างนั้นก็คงมีโอกาสที่เสนอความคิดเห็นบ้าง

นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง( สศค. )กล่าวว่า ขอยืนยันว่าหากจะมีการประกาศใช้พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. ... ไม่ใช่เพื่อซ้ำเติมประชาชนในช่วงที่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ เพราะตามขั้นตอนกฎหมาย มีการกำหนดบทเฉพาะกาลไว้ว่าจะต้องมีผลบังคับใช้ในระยะเวลา 2 ปีหลังกฎหมายผ่านรัฐสภา พร้อมกันนี้ขอชี้แจงเพิ่มเติมจากความเข้าใจผิดเรื่องรายรับจากการจัดเก็บภาษีที่ดินฯ ว่าทั้งหมด 6-7 หมื่นล้านบาทนั้นจะเป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น(อปท.) ไม่เกี่ยวกับรัฐบาลกลาง ซึ่งขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวยังอยู่ที่ สศค.รอเพียงปรับแก้ในบางข้อความ เช่น ที่ดินของเกษตรกรที่จะวางกรอบการจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าที่ดินที่ใช้ในเชิงพาณิชย์ แต่ยังไม่กำหนดตัวเลขที่แน่นอนลงไปในกฎหมายแม่ จากนั้นจะนำเสนอรมว.คลัง พิจารณาเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป แล้วจึงจะเป็นขั้นตอนสู่รัฐสภา

นายประสิทธิ์ สืบชนะ รักษาการที่ปรึกษาด้านพัฒนาการประเมินราคาอสังหาริมทรัพย์ ในฐานะโฆษกกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กรมธนารักษ์ได้ศึกษาเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง โดยถ้ารัฐสภาผ่านการพิจารณาและออกบังคับใช้เป็นกฎหมาย ทางกรมก็พร้อมจะดำเนินการตามบทเฉพาะกาลที่กำหนดให้ต้องประเมินราคาที่ดินใหม่ภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นไปตามแผนการจัดทำบัญชีราคาประเมินที่ดินทั่วประเทศของกรมธนารักษ์รอบปี 51-54 จำนวน 30 ล้านแปลงอยู่แล้ว โดยขณะนี้กรมได้เตรียมตั้งคณะทำงานวางหลักเกณฑ์ประเมินราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ โดยจะหารือร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เพื่อกำหนดแนวทางร่วมกันเพื่อให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) นำไปประเมินจัดเก็บภาษีได้ต่อไป

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook