โวยกคช.จ้างเอกชนทวงหนี้ค่าเชาเคหะรามฯโหด

โวยกคช.จ้างเอกชนทวงหนี้ค่าเชาเคหะรามฯโหด

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เมื่อเวลา 10.00 น. ที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) กลุ่มประชาชนที่อยู่อาศัยในโครงการการเคหะรามคำแหง ของการเคหะแห่งชาติ (กคช.) ประมาณ 100 คน นำโดยนางมินตรา มีชัย ตัวแทนชาวบ้านที่ดูแลแฟลต 1-11 เดินทางเข้ายื่นหนังสือร้องเรียนกรณีกคช.ว่าจ้างบริษัทเอกชนและมาเฟียทวงหนี้พร้อมทั้งขับไล่ตัดน้ำตัดไฟ จนล่าสุดผู้นำการร้องเรียนถูกยิงตายหน้าแฟลตฯ ต่อนายวิฑูรย์ นามบุตร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) โดยมีนายชาญยุทธ โฆศิรินนท์ ที่ปรึกษารมว.พม.เป็นตัวแทนรับหนังสือ

นางมินตรา กล่าวว่า กคช.ได้จ้างบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง (บริษัทรอยัลเฟรม) เข้ามาเป็นนิติบุคคลบริหารงาน โดยจะคอยขับไล่ชาวบ้านที่ค้างค่าเช่าแค่ 1 เดือน ก็จะมายกมิเตอร์น้ำมิเตอร์ไฟและขนทรัพย์สินออกจากห้องไปหมด อาทิ ห้อง 5/6 แฟลต 3 ถูกตัดน้ำตัดไฟ ถูกถอดเอาประตูห้องไป บานเกล็ดถูกทุบ ซึ่งบ้านนี้มีลูกเล็กๆ และลูกเรียนชั้นป.1 ไม่มีไฟฟ้าทำการบ้านเดือดร้อน โดยหากมีคนติดค้างค่าเช่าหรือเช่าซื้อก็น่าจะไปฟ้องร้อง ไม่ควรทำตัวเหนือกฎหมาย

บริษัทจะส่งมาเฟียมาข่มขู่ คุกคามชาวบ้าน เที่ยงคืนตีหนึ่งจะให้ยามมาเคาะประตู แกนนำที่เคยร้องเรียนเรื่องนี้ถูกยิงเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 16 ต.ค.49 จนถึงวันนี้คดีไม่คืบหน้าแต่อย่างใด ทั้งนี้กคช.ทำสัญญาไม่เป็นธรรมกับชาวบ้าน อย่างราคาห้องหรือบ้านแค่ 4-5 แสน แต่ทำสัญญาราคาบ้านกว่าล้านบาท ค้างค่าเช่าเดือนเดียวต้องจ่ายเพิ่มเป็น 2-3 เท่าตัว เรียกค่าปรับผิดนัดค่าเช่าสูงถึง 137 % ต่อปี ทั้งที่เราเป็นผู้มีรายได้น้อยถึงได้มาเลือกซื้อบ้านกับกคช.แต่กลับถูกขูดเลือดขูดเนื้อนางมินตรากล่าว

นางทัศนีย์ ใจการุณ กรรมการศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ กล่าวว่า ชาวบ้านที่ร้องเรียนจะถูกบริษัทหมายหัวไว้หมด ยิ่งร้องจะยิ่งถูกข่มขู่มาก มีบางห้องถูกไล่ที่ออกไป ก็ให้คนมาเช่าเดือนละ 8,000 บาท 3 ห้องได้เดือนละ 24,000 บาท เงินเหล่านี้ไปอยู่ที่ไหน ดังนั้น ทางศูนย์ฯ ที่เข้าไปช่วยเหลือชาวบ้านและกลุ่มชาวบ้านที่เดือดร้อนเฉพาะบ้านเคหะรามฯ ไม่น้อยกว่า 500 หลัง และแฟลตอีกเป็น 1,000 ห้อง จึงขอให้ตั้งคณะกรรมการกลางขึ้นมาตรวจสอบข้อเท็จจริงปัญหานี้ทั้งหมดโดยเร็ว

ด้านนายชาญยุทธ กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นจากกคช.ไม่ทำความเข้าใจในเงื่อนไขต่างๆต่อประชาชน ดังนั้นขอให้กคช.รับไปดำเนินการโดยให้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบเรื่องนี้ ประกอบด้วยตัวแทนจากฝ่ายกฎหมายกระทรวงฯ กคช. ผู้แทนชุมชนที่เดือดร้อน และศูนย์ประสานงานลูกหนี้แห่งชาติ โดยมีนายพงศ์พัท จิตรสำเริง ผู้ช่วยผู้ว่าฯกคช. เป็นประธาน ขอเวลาดำเนินการเรื่องนี้ 2 เดือน โดยระหว่างการตรวจสอบขอให้กคช.พิจารณาผ่อนผันให้ประชาชนคลายความเดือดร้อนไปก่อนในช่วง 2 เดือนนี้

นายสุชาติ ศิริโยธิพันธุ์ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ(กคช.) กล่าวว่า โครงการเคหะรามคำแหงมีกลุ่มคนอาศัยหลายกลุ่มทั้งกลุ่มเช่าซื้อและกลุ่มเช่า แต่จากข้อมูลเบื้องต้นที่ได้รับรายงาน กลุ่มที่พบว่ามีปัญหาเป็นกลุ่มเช่าซื้อที่มีอยู่ประมาณ 200 ราย จากประชาชนที่อาศัยอยู่ในโครงการทั้งหมดกว่า 4 พันราย โดยกลุ่มนี้ค้างค่าเช่าซื้อนานไม่ต่ำกว่า 1 ปี กคช.จึงได้ดำเนินการฟ้องศาลและศาลได้ตัดสินแล้วขณะนี้อยู่ระหว่างการบังคับคดี ซึ่งการดำเนินการเป็นไปตามสัญญา เมื่อผู้เช่าซื้อทำผิดสัญญาด้วยการค้างค่าเช่าซื้อเป็นเวลา 2-3 ปี กคช.ในฐานะผู้ค้ำประกันให้กับผู้เช่าซื้อในการกู้เงินจากธนาคารจึงมีสิทธิที่จะดำเนินฟ้องร้องตามกฎหมาย

ผู้เช่าซื้อที่การเคหะฯฟ้องร้องดำเนินคดีบางรายค้างค่าเช่าหลายปี ยอดเงินค้างมีตั้งแต่ 3 แสน - 1.5 ล้านบาท ซึ่งปกติการเคหะฯจะยืดหยุ่นมากกับคนที่ค้างค่าเช่า และไม่เคยฟ้องร้องดำเนินคดี แต่กรณีนี้เห็นว่าคนเช่าค้างเงินจำนวนมาก จึงจำเป็นต้องทำตามกฎหมาย ที่สำคัญ การเคหะฯไม่เคยว่าจ้างบริษัทเอกชนให้ไปข่มขู่คุกคามชาวบ้าน มีแต่ว่าจ้างให้ไปเก็บค่าเช่าแล้วนำส่งการเคหะฯเท่านั้น จากนี้จะหารือกับกลุ่มชาวบ้าน เพื่อคัดแยกผู้มีปัญหาอย่างละเอียด ก่อนที่จะหาทางผ่อนผันช่วยเหลือชาวบ้านไม่ให้ได้รับความเดือดร้อน และจะตรวจสอบพฤติกรรมของบริษัทเอกชนด้วยนายสุชาติกล่าว

รายการคมชัดลึกตอน-ภาษีที่ดินและมรดกเก็บได้จริงหรือ?

ทันทีที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเดินหน้าผลักดันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและมรดก ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทนแรงเสียดทานได้หรือไม่ ภาษีที่ดินและมรดกจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook