นายกฯอภิสิทธิ์นำทีมครม.แจงกรอบข้อตกลงอาเซียน

นายกฯอภิสิทธิ์นำทีมครม.แจงกรอบข้อตกลงอาเซียน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
(26ม.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการประชุมร่วมรัฐสภาได้มีการพิจารณาให้ความเห็นชอบเอกสารสำคัญที่เกี่ยวกับความร่วมมือกรอบอาเซียน และการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียน โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ กล่าวถึงกรอบอาเซียนว่า ประเทศไทยเข้าดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนตั้งแต่เดือน ก.ค. 51 เป็นต้นมา ซึ่งเหตุการณ์ช่วงนี้ถือว่ามีความเป็นพิเศษจากการดำเนินงานของอาเซียนที่มาเกี่ยวข้องกับประเทศไทย 3 ประการ คือ 1.กฎบัตรของอาเซียนเปรียบเสมือนธรรมนูญที่วางกฎกติกาเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันของประชาคมอาเซียน ได้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนธ.ค.เป็นต้นมา และจากนี้ไปจะเป็นช่วงที่สมาชิกจะได้เดินหน้าในการนำแผนงาน กฎกติกา ต่าง ๆภายในกรอบที่กำหนดไว้ในกฎบัตร มาผลักดันต่อเพื่อนำไปสู่การเป็นประชาคมอาเซียน ใน 2558 ต่อไป

2.ในช่วงพิเศษนี้ประเทศไทยจึงดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนเป็นเวลายาวนานกว่าวาระปกติ เพราะปกติแล้วประเทศอาเซียนจะดำรงตำแหน่ง 1 ปี แต่เฉพาะในวาระของประเทศไทยจะดำรงตำแหน่ง 1 ปีครึ่ง ซึ่งจะถึงในเดือนธ.ค. 2552 และ3. การดำรงตำแหน่งประธานอาเซียนอยู่ในช่วงเดียวกันกับที่นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน ซึ่งเหตุการณ์เหล่านี้หมายถึงความรับผิดชอบที่ประเทศไทยต้องดำเนินการของอาเซียนให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า สำหรับการดำเนินงานในปีนี้เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งมีเพื่อนสมาชิกได้สอบถามถึงการตรากฎหมายเพื่อทำความชัดเจนของมาตรา 190 กฎหมายฉบับดังกล่าว รัฐบาลชุดก่อนได้ให้ความเห็นชอบในครม.ไปแล้ว และได้ส่งไปยังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งในการประชุมครม.ที่ผ่านมาหลายครั้ง ตนได้เร่งรัดที่จะให้มีการตรวจสอบพิจารณาในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จเพื่อส่งต่อที่ประชุมสภาโดยเร็ว ซึ่งจะเป็นกฎหมายที่จะช่วยให้เป็นบรรทัดฐานของการนำเสนอเรื่องต่อรัฐสภาตามมาตรา 190 จะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในเรื่องข้อตกลงและการลงนามข้อตกลงต่าง ๆในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งนี้ เราหวังว่าจะเป็นส่วนสำคัญที่จะมีการผลักดันในกรอบความร่วมมือของอาเซียนเดินหน้าและสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของทุกคนที่เป็นตัวแทนของประชาชนในการที่จะนำเอกสารนั้นไปให้ความเห็นชอบต่อการประชุมสุดยอดผู้นำ ซึ่งมีเป้าหมายด้วยว่าการรวมกลุ่มของอาเซียนจะต้องมีความสัมพันธ์เชื่อมโยง และยึดประชาชนเป็นศูนย์กลาง

นายกฯกล่าวต่อว่า การประชุมที่จะมีขึ้นเพื่อรับรองเอกสารเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ จะมีการประชุมที่ลงนามระหว่างผู้นำอาเซียน 10 ประเทศ ซึ่งจัดขึ้นระหว่างที่วัน 27 ก.พ. - 1 มี.ค.นี้ โดยอาจมีข้อตกลงบางฉบับที่ทำกับคู่เจรจาที่จะได้รับการลงนามในช่วงนั้นด้วย แต่เอกสารอีกจำนวนหนึ่งก็จะไปลงนามรับรองกันในช่วงเดือนเม.ย.2552 ซึ่งเอกสารทั้งหมดที่ได้เสนอมานั้นประกอบไปด้วยเอกสารสำคัญ 41 ฉบับ ลงนามโดยผู้นำของอาเซียน 8 ฉบับ ลงนามโดยรมว.ต่างประเทศ 5 ฉบับ และลงนามโดยรัฐมนตรีเศรษฐกิจ หรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง 28 ฉบับ เอกสารเหล่านี้จะอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงต่างประเทศ พาณิชย์ คมนาคม เกษตรและสหกรณ์ สาธารณสุข และกระทรวงพลังงาน ซึ่งตนจะขอให้รัฐมนตรีที่รับผิดชอบในแต่ละเรื่องได้ชี้แจงสาระสำคัญแต่ละฉบับให้รัฐสภารับทราบด้วย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่สมาชิกมีความกังวลเกี่ยวกับการพิจารณาเรื่องต่างๆในวันนี้ ความจริงแล้วเอกสารทุกฉบับเป็นเอกสารที่รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ได้นำเสนอต่อสภา และมีความตั้งใจจะประชุมร่วมรัฐสภาเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 51 ดังนั้นที่สมาชิกที่บอกว่ามีเอกสารเป็นกอง ส่วนใหญ่ได้ส่งมาแล้วรอบหนึ่งตั้งแต่เดือนพ.ย. ตนจำได้เพราะว่าเป็นผู้นำฝ่ายค้านในขณะนั้น ได้มีการปรึกษากับประธานวิปรัฐบาลและประธานสภาทั้งสองคนด้วยว่าจะดำเนินการกันอย่างไร เพื่อที่จะให้การพิจารณาด้วยความเรียบร้อยราบรื่นมากที่สุด และได้ให้โอกาสกับฝ่ายค้านมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ซึ่งขณะนั้นก็ได้ข้อยุติด้วยดี เพียงแต่ว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลเกิดขึ้นก็จะจำเป็นที่จะนำเรื่องเสนอกลับเข้ามาใหม่ แต่เอกสารก็เป็นชุดเดิมทั้งสิ้น ยกเว้น 3 เรื่องคือข้อตกลงเรื่องการค้าเสรีที่อาเซียนจะไปทำกับจีนฉบับ 1 และทำกับอินเดียอีก 1 อีกฉบับหนึ่ง และทำกับออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ 1 ฉบับ ดังนั้นตนเชื่อว่าสมาชิกส่วนใหญ่มีเอกสารทั้งหมดตั้งแต่เดือนพ.ย.แล้ว ก็น่าจะได้มีโอกาสรัฐบาลได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนั้นข้อตกลงในลักษณะนี้ป็นข้อตกลงของหลายประเทศในลักษณะพหุภาคี ซึ่งปัจจุบันนี้ประเทศสมาชิกอื่นได้ให้ความเห็นชอบพร้อมที่จะลงนามอยู่แล้ว เหลือเพียงประเทศไทยเท่านั้น ฉะนั้นการนำเสนอของรัฐบาลในวันนี้ก็เพื่อที่จะยืนยันในความพร้อมของประเทศไทยในการที่จะเป็นเจ้าภาพ และร่วมลงนามในข้อตกลงสำคัญ ๆเหล่านี้ หากบรรลุผลสำเร็จก็จะเป็นการส่งเสริมความร่วมมือทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และจะมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกหลายเรื่อง เช่น พลังงาน อาหาร ความร่วมมือจากภัยพิบัติ การป้องกันผลกระทบจากวิกฤตการณ์ทางการเงินที่ทั่วโลกประสบอยู่ในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีหนังสือสัญญา 2 ฉบับ คือ กรณีร่างบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลพม่าว่าด้วยความร่วมมือต่อต้านการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะสตรีและเด็ก และร่างบันทึกความเข้าใจกระทรวงแรงงานแห่งสาธารณรัฐเกาหลี และกระทรวงแรงงงานแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการจัดส่งแรงงานไทยไปเกาหลี ซึ่งเป็นบันทึกความเข้าใจในกรอบทวีภาคี แต่เป็นสัญญาที่มีความสำคัญและจำเป็นเร่งด่วน

นายกฯ กล่าวต่ออีกว่า สำหรับกรณีรมว.ต่างประเทศนั้นเดิมรัฐบาลได้เร่งรัดการเห็นชอบหนังสือสัญญาต่าง ๆโดยได้มีการประชุมครม.นัดพิเศษเมื่อวันที่ 30 ธ.ค.2551 และได้อนุมัติร่างหนังสือสัญญาเหล่านี้เพื่อเสนอต่อรัฐสภา ตนได้ลงนามเสนอต่อประธานสภาฯตั้งแต่วันที่ 30 ธ.ค.2551 ส่วนหนึ่ง และลงนามเมื่อวันที่ 5 ม.ค.อีกส่วนหนึ่ง โดยมีความตั้งใจว่าจะพิจารณากันในช่วงประชุมสมัยวิสามัญ แต่เมื่อพบว่าทางรัฐสภาไม่สะดวกที่จะพิจารณาในขณะนั้นจึงเลื่อนมาเป็นสมัยสามัญ ซึ่งทั้งตน รมว.ต่างประเทศ และรัฐมนตรีอีกหลาย ๆคนเข้าใจมาตลอดว่าจะประชุมในวันที่ 21 - 22 ม.ค.2552 แต่เนื่องจากรัฐสภามีการนัดประชุมช่วงวันที่ 26 - 27 ม.ค.นี้ และช่วงที่รมว.ต่างประเทศตอบรับที่จะไปเยือนประเทศกัมพูชาเป็นช่วงก่อนที่จะมีการนัดประชุมช่วงนี้ขึ้นมา จึงทำให้ไม่ทำให้มาร่วมประชุมได้ แต่ได้มอบหมายให้นายวีระชัย วีระเมธีกุล รมต.ประจำสำนักนายกฯ มาชี้แจงแทน ซึ่งตนเข้าใจว่าคืนนี้(26 ม.ค.)รมว.ต่างประเทศจะเดินทางกลับมา ตนได้กำชับว่าเมื่อได้เดินทางกลับมาก็จะมาที่รัฐสภา เพราะหากมีประเด็นอะไรที่ค้างคาอยู่จำเป็นที่จะต้องชี้แจงก็ต้องมาทำหน้าที่ตรงนี้ในการรับผิดชอบต่อสภา

นายกฯได้กล่าวในช่วงท้ายว่า เนื่องจากสมาชิกกังวลต่อร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่แล้วตนได้หารือกับประธานวิปฝ่ายค้าน และกำลังจะดูลู่ทางในการที่จะผลักดันการปฎิรูปการเมืองต่อไป ซึ่งตนถือว่าเป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกัน

จากนั้นนายวีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่าเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีต่อการลงนามในเอกสารความร่วมมือนอกจากจะเป็นการเสริมสร้างความร่วมมือในภูมิภาค ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนชาวไทย และยังเป็นการส่งสัญญาณต่อความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสมาชิกจะให้ความเห็นขอบในการพิจารณาร่างเอกสารทั้งหมดเพื่อให้ประเทศไทยได้ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างดีในอาเซียน

จากนั้นนายวีระชัย ได้ชี้แจงถึงเอกสารกรอบความร่วมมือที่เข้าสู่การพิจารณาทั้งหมดว่าประกอบด้วย ร่างข้อตกลงกรอบความร่วมมือประกอบด้วยร่างข้อตกลงสำคัญ ประกอบด้วย ร่างปฏิญาณว่าด้วยแผนงานประชาคมอาเซียน 2009 - 2019 เป็นเอกสารฉบับเดียวที่จะลงนามโดยผู้นำ โดยเป็นเอกสารที่จะวางแนวทางและเป้าหมายการรวมตัวเป็นประชาคมอาเซียนภายในปี 2558 โดยได้ผนวกแผนงานการจัดตั้งประชาคมอาเซียนด้วย 3 เสาหลัก คือ ประชาคมการเมืองและความมั่นคง ประชาคมเศรษฐกิจ และประชาคมสังคมและวัฒนธรรม รวมถึงแผนงานริเริ่มเพื่อให้เกิดการรวมตัวของเอเซียนฉบับที่ 2 เข้าไว้ด้วยกัน

นายวีระชัย กล่าวอีกว่า ส่วนกรอบความร่วมมือกับคู่เจรจา อาเซียนบวกสาม คือ จีน , ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ รวมถึงกรอบการเจรจาสุดยอดผู้นำเอเชีย รวม ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ทั้งหมดมี 4 ฉบับ คือ แถลงการณ์ว่าด้วยความร่วมมือด้านพลังงานชีวภาพและความมั่นคงด้านอาหาร ในกรอบอาเซียนบวกสาม ซึ่งมีสาระสำคัญในการจัดตั้งคลังสำรองเข้าฉุกเฉินในประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยตรวจสอบและติดตามความเคลื่อนไหวของปริมาณข้าวในภูมิภาคได้ นอกจากนี้ยังได้เน้นการสร้างความสมดุลด้านอาหารและพลังงาน อีกทั้งร่างแถลงการณ์ยังมีการว่าด้วยการจัดการภัยพิบัติของการประชุมสุดยอดเชียตะวันออก ที่แสดงเจตนารมณ์ในความร่วมมือทางการเมืองในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันเพื่อจัดการภัยพิบัติในภูมิภาค ครอบคลุมการเตรียมความพร้อมในการจัดการภัยพิบัติ การให้ความช่วยเหลือ และการฟื้นฟูบูรณะภายหลังภัยพิบัติ

นายวีระชัย กล่าวต่อว่า สำหรับร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์อาเซียนจีนที่กรุงปักกิ่ง เพื่อเป็นศูนย์บริการครบวงจนเพื่อให้ข้อมูลและส่งเสริมการค้า การลงทุน การท่องเที่ยวการศึกษาและวัฒนธรรม ระหว่างอาเซียนและจีน โดยจีนและอาเซียนจะร่วมกันพิจารณาค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานในสัดส่วน 9 ต่อ 1 โดยจีนจะออก 9 ส่วน อาเซียนออก 1 ส่วน , บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลออสเตรีเลียกับรัฐบาลของประเทศอาเซียน ว่าด้วยโครงการความร่วมมืออาเซียนและออสเตรเลียฉบับที่สอง โครงการความร่วมมือระหว่างปี 2551-2558 ที่จะให้ความช่วยเหลือแบบให้เปล่าระหว่างออสเตรเลียกับอาเซียนมูลค่า 57 ล้านเหรียญออสเตรเลียโดยจะมุ่งพัฒนาขีดความสามารถของบุคลากร การสนับสนุนการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

นางพรทิวา นาคาสัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ได้ชี้แจงข้อตกลงในส่วนของกระทรวงพาณิชย์ว่า กรอบความร่วมมือที่อยู่ในการดูแลของกระทรวงพาณิชย์มีจำนวน 10 เรื่อง รวม 23 ฉบับ โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ หนังสือสัญญาภายในอาเซียน และหนังสือสัญญาของอาเซียนกับคู่เจรจา ดังนั้น หนังสือสัญญาภายในอาเซียนประกอบด้วย ความตกลงการค้าสินค้าของอาเซียน มีสาระสำคัญในการรวบรวมกฎเกณฑ์ทางการค้าเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (อาฟต้า) ครอบคลุมมาตรการภาษี และมาตรการที่ไมใช่ภาษีให้มีความทันสมัยและรวมอยู่ในฉบับเดียวกัน โดยไม่มีพันธกรณีเพิ่มจากที่มีอยู่เดิม , พิธีศาลอนุวัติข้อผูกพันชุดที่ 7 ภายใต้กรอบความตกลงว่าด้วยการบริการของอเซียน เป็นนิติศาลที่กำหนดให้มีการเปิดเสรีการบริการตามข้อผูกพันในสัญญาแนบท้าย , ความตกลงด้านการลงทุนของอาเซียน เป็นการรวมข้อตกลงในการลงทุนและความตกลงส่งเสริมและคุ้มครองการลงทุนของอาเซียนที่มีอยู่เข้าด้วยกัน

นางพรทิวา กล่าวต่อว่า หนังสือแจ้งเข้าร่วมข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมซึ่งได้ลงนามข้อตกลงไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 และ 2550 ตามลำดับแต่ยังไม่มีผลบังคับใช้ , ข้อตกลงยอมรับร่วมสาขาวิชาชีพแพทย์ , ทันตแพทย์และบัญชี โดยเป็นข้อตกลงที่จะยอมรับร่วมกันในการกำหนดคุณสมบัติ การศึกษา และประสบการณ์ทำงาน ให้สามารถยื่นขอคำอนุญาตโดยไม่ต้องขอการอนุมัติคุณสมบัติซ้ำ , บันทึกความเข้าใจระหว่างไทยกับอินโดนีเซีย เรื่องน้ำตาล ข้อตกลงที่อินโดนีเซียจะรักษาระดับการนำเข้าน้ำตาลไม่ต่ำกว่าปริมาณเฉลี่ยนำเข้าน้ำตาล 3 ปีย้อนหลัง เพื่อชดเชยกรณีที่อินโดนีเซียขอชะลอการลดภาษีสิ้นค้าน้ำตาลโดยข้อตกลงนี้ทั้งหมดนี้จะเป็นประโยชน์ต่อการเสริมสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน อย่างมีกฎเกณฑ์และชัดเจนมากขึ้น

สำหรับข้อตกลงระหว่างอาเซียนกับคู่เจรจา ประกอบด้วย ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกดานลงทุนระหว่างอาเซียน โดยให้ความคุ้มครอบการลงทุนกับนักลงทุนอาเซียนและจีนซึ่งจะส่งผลให้มีความร่วมมือระหว่างกันมากขึ้น ความตกลงภายใต้กรอบอาเซียน - สาธารณรัฐเกาหลี ประกออบด้วยเอกสารสัญญา 6 ฉบับ ครอบคลุมการเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการ

รายการคมชัดลึกตอน-ภาษีที่ดินและมรดกเก็บได้จริงหรือ?

ทันทีที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเดินหน้าผลักดันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและมรดก ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทนแรงเสียดทานได้หรือไม่ ภาษีที่ดินและมรดกจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook