มิติวัฒนธรรมนำสันติสุขสู่ 3 จว.ใต้

มิติวัฒนธรรมนำสันติสุขสู่ 3 จว.ใต้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ก้าวแรกที่เหยียบเท้าเข้ากุมบังเหียนกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ในฐานะ รัฐมนตรี เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ทำให้ ธีระ สลักเพชร อดีตรัฐมนตรีเงากระทรวงนี้ พกความมั่นใจมากับบุคลิกการทำงานขึงขัง

ท่วงท่าลีลาพูดจาฉะฉานเหมือนนักวิชาการผู้คร่ำหวอดกับท้องถิ่น กล้าชี้จุดอ่อน เสริมจุดแข็งให้แก่ผู้บริหารแต่ละกรมอย่างถูกจุด ตรงไปตรงมา ถูกใจคนทำงาน เร่งให้แก้ไขสิ่งบกพร่องของตนเองโดยเร็วที่สุด

ผมไม่ได้มาดำรงตำแหน่งนี้โดยบังเอิญ หรือกระทรวงเล็ก ไม่มีใครมา ผมจึงได้มาเป็น ไม่ใช่ แต่ผมคือคนที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เลือกให้ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีเงากระทรวงนี้เมื่อครั้งยังเป็นพรรคฝ่ายค้าน ผมจึงรู้จักกระทรวงนี้มา 1 ปี เห็นจุดบอดการทำงานมาก โดยเฉพาะการนำมิติวัฒนธรรมไปใช้ในการแก้ปัญหาสังคมน้อยเกินไป เช่น ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ทั้งที่คำว่าวัฒนธรรม เป็นปัจจัยพื้นฐานในการแก้ปัญหาบ้านเมือง แต่รัฐบาลที่ผ่านมากลับละเลย

ดังนั้น สิ่งที่ผมจะทำโดยเร็วที่สุดคือ การนำมิติวัฒนธรรมแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ผ่านโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ผมจะขับเคลื่อนให้มีการจัดตั้งโครงการดังกล่าวให้ครบทุกอำเภอทั่วประเทศ โดยเฉพาะสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเป็นจุดศูนย์กลางในการสร้างความเข้มแข็ง ความสามัคคีให้ชุมชน รวมทั้งเพิ่มมูลค่าสินค้าวัฒนธรรมช่วยแก้ปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ

ยิ่งเสริมความมั่นใจให้แก่ รัฐมนตรี ใหม่ถอดด้ามคนนี้เข้าไปอีกว่าเดินมาถูกทาง เมื่อ โอบามาร์ค ประกาศชัดในงานสัมมนา ทิศทางประเทศไทยในมิติวัฒนธรรม เมื่อวันที่ 15 มกราคมว่า ความขัดแย้งที่เป็นรูปธรรมที่สุดขณะนี้ คอ ปัญหาความไม่สงบในสามจังหวัดใต้ ที่ผ่านมาหน่วยงานความมั่นคงได้พยายามทุกวิถีทาง ปรับโครงสร้าง ออกกฎหมายใหม่ แต่ยังไม่ได้ผล หนทางที่จะแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน คือ การทำให้ความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่มีอยู่ในพื้นที่ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริงและทำให้บุคคลที่มีความเชื่อ วิถีชีวิต และศาสนาที่แตกต่าง เข้ามาอยู่ร่วมกันได้ จะต้องมีการผลักดันนโยบายการศึกษาและวัฒนธรรม รื้อฟื้นวัฒนธรรมของคนไทย ที่รักความสงบ รักสันติ กลับคืนมาให้ได้

ล่าสุดเมื่อวันที่ 19 มกราคม นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีได้ไปเยี่ยมชมการใช้มิติทางวัฒนธรรมแก้ปัญหาความขัดแย้งได้สำเร็จที่สภาสันติสุขตำบล ต.ปิยามุมัง อ.ยะหริ่ง และโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนบ้านทรายขาวใน จ.ปัตตานี พบว่า ชาวบ้านที่เป็นชาวไทยมุสลิม กับชาวไทยพุทธ อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข มีความร่วมมือกันเป็นอย่างดี โดยเฉพาะ สภาสันติสุขตำบล ที่ ต.ปิยามุมัง ซึ่งมีชาวไทยมุสลิม ร้อยละ 80 ชาวไทยพุทธร้อยละ 20 มีรูปแบบการทำงานเหมือนกับโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน คือ ผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชาวบ้าน ผู้นำทางธรรมชาติ(ปราชญ์) ร่วมมือกันสร้างความสามัคคีปรองดองให้แก่ประชาชนในพื้นที่ โดยโต๊ะอิหม่าม จะเป็นผู้บรรยายข้อมูลในพื้นที่ให้ตนและนายกรัฐมนตรีได้ฟัง ส่วนพระสงฆ์ จะเป็นผู้บรรยายสรุป เมื่อได้เห็นบรรยากาศเช่นนี้ทำให้มีความสุข

แนวทางดังกล่าวได้รับเสียงตอบรับจากคนในพื้นที่อย่าง พระนาย สุวรรณรัตน์ ผอ.ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และฝ่ายทหาร ความมั่นคง ว่ารัฐบาลเดินมาถูกทางและขอให้นายกรัฐมนตรี เร่งนำมิติทางวัฒนธรรมลงปแก้ปัญหาในพื้นที่โดยเร็วที่สุด ซึ่ง ธีระ สลักเพชร เครื่องร้อนจะลงไปให้การสนับสนุนโครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนในพื้นที่สามจังหวัดใต้ในวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์นี้ เขาหวังแต่เพียงว่าหากวันหนึ่งความสันติสุขกลับมา หน่วยงานด้านความมั่นคง ทหาร ตำรวจ จะต้องถอนตัวออกมาจากพื้นที่ เหลือเพียง โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน ที่จะอยู่คู่ประชาชนได้อย่างยั่งยืน

สุภาษิตจีนบอกว่า รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งก็ชนะร้อยครั้ง ก่อนจะลงสนามรบจริงในวันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ ธีระ ไปเข้าห้องเรียน คุณหญิงไขศรี ศรีอรุณ อดีต รมว.วัฒนธรรม ผู้ทำให้โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชนประสบความสำเร็จ คุณหญิงไขศรี ได้ให้เคล็ดไม่ลับสั้นๆ ว่า ต้องทำงานอย่างรอบคอบ เสนอเป็นนโยบายหลักของกระทรวง ทุกกรมในสังกัดต้องมีส่วนร่วม เน้น คุณภาพ มากกว่า ปริมาณ ถึงจะทำให้ โครงการวัฒนธรรมไทยสายใยชุมชน เข้มแข็งและได้รับความร่วมมือจากประชาชนจริงๆ

0 กมลทิพย์ ใบเงิน / ผกามาศ ใจฉลาด 0

รายการคมชัดลึกตอน-ภาษีที่ดินและมรดกเก็บได้จริงหรือ?

ทันทีที่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคประชาธิปัตย์ ประกาศเดินหน้าผลักดันกฎหมายการจัดเก็บภาษีที่ดินและมรดก ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมอย่างหนักว่า พรรคประชาธิปัตย์จะทนแรงเสียดทานได้หรือไม่ ภาษีที่ดินและมรดกจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook