เกร็ดความรู้เรื่องการบวชแบบชาวมอญ

เกร็ดความรู้เรื่องการบวชแบบชาวมอญ

เกร็ดความรู้เรื่องการบวชแบบชาวมอญ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การบวชแบบชาวมอญนั้นแตกต่างจากคนไทยในเรื่องของการแต่งกายของนาค

หลายคนไม่คุ้นเคยคงแปลกใจ เหตุใดนาคมอญต้อง "แต่งหญิง" นุ่งผ้าม่วง ห่มสไบ เขียนหน้า ทาปาก จุดเด่นของการบวชแบบมอญอย่างหนึ่ง อยู่ที่การแต่งกายนาคที่จะแต่งตัวเหมือนผู้หญิง 

เมื่อครั้งที่พระพุทธเจ้ายังดำรงพระอิสริยยศเป็นเจ้าชายสิทธัตถะ เสด็จหนีออกทางพระบัญชรห้องบรรทมเพื่อออกผนวช ขณะนั้นพระองค์ยังฉลองพระองค์กษัตริย์ ทรงเครื่องมงกุฎ เพชรนิลจินดาประดับพระวรกายบรรดามี เทวดาแปลงจูงม้ากัณฐกะ พาเหาะออกไปทางหน้าต่างพระราชวัง

คนมอญ จับเอาคติตอนที่ว่านี้เอง เมื่อคนเรายังอยู่ในเพศฆราวาสแม้จะมีทรัพย์สินศฤงคารมากมายเพียงใด แต่ทั้งหมดล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งของนอกกาย เมื่อจะเข้าสู่ร่มกาสาวพัสตร์ก็จำต้องสละสิ่งเหล่านั้นไปสู่เพศที่บริสุทธิ์
การแต่งกายนาคมอญจึงสวยงามราวรูปกษัตริย์ เหตุสำคัญประการหนึ่งที่การแต่งนาคกระเดียดไปทางผู้หญิง ก็เพราะญาติผู้หญิงเป็นคนแต่งให้ ดังนั้นข้าวของเครื่องใช้ก็ใช้ของผู้หญิง ซึ่งงานบวชนี้ คนมอญโดยเฉพาะผู้หญิงจะเรียกว่า "งานส่งนาคเข้าโบสถ์" ด้วยสตรีทำได้เพียงเท่านั้น แม่แต่จะก้าวล่วงธรณีประตูโบสถ์ยังทำไม่ได้ จึงเป็นช่วงเวลาสุดท้ายที่ญาติฝ่ายหญิงจะได้จับต้องเนื้อตัวนาคซึ่งเป็นชายได้ เป็นการร่วมบุญตามประสาเพศที่ยังมีช่องว่างในการเข้าถึงแก่นพระพุทธศาสนา

ทางสมุทรสาคร นาคจะนุ่งผ้าม่วง คาดเข็มขัดนาค ห่มสไบมอญสองผืนสีตัดกันและเหลื่อมกันเล็กน้อย ไม่เหลือง-ชมพู ก็ส้ม-เขียว หรือน้ำเงิน-เหลือง โดยจะห่มไหล่เดียวคล้ายพระสวมอังสะ มีผ้าปักพาดไหล่ขวา ใส่ต่างหูและทัดดอกไม้หูซ้าย สวมสร้อยคอ กำไลมือ กำไลเท้า แต่งหน้าทาปาก ส่วนนาคมอญแถบราชบุรี สุพรรณบุรี มีรายละเอียดต่างไปอีก ได้แก่ การสวมมงกุฎเครื่องใหญ่อย่างงาม แถมเวลาแห่นาคไปลาศาลเจ้าที่ กราบขมาลาญาติผู้ใหญ่ในหมู่บ้าน และตอนจะเข้าโบสถ์ก็จะให้นาคขี่ม้าด้วย นัยว่าเป็นม้ากัณฐกะอย่างเมื่อสมัยพุทธกาล

แต่เมื่อเข้าพิธีอุปสมบทแล้วจะห่มจีวรเป็นพระสงฆ์ เหมือนแบบไทยทุกประการ

ขอบคุณข้อมูลความรู้จากเพจ รามัญคดี - MON Studies

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook