กยศ.อย่าหลงทิศผิดทาง เอาเกรดเป็นเกณฑ์ปล่อยกู้

กยศ.อย่าหลงทิศผิดทาง เอาเกรดเป็นเกณฑ์ปล่อยกู้

กยศ.อย่าหลงทิศผิดทาง เอาเกรดเป็นเกณฑ์ปล่อยกู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ในระยะหัวเลี้ยวหัวต่อของการปฏิรูปประเทศ และการสร้างรากฐานที่ยั่งยืนของสังคมไทยไนอนาคต การศึกษาเป็นเรื่องสำคัญที่สุดเรื่องหนึ่ง ที่ต้องให้ความสนใจและหาทางในการวางระบบ เพื่อพัฒนาบุคลากร ให้เป็นคนที่มีคุณภาพ มีความพร้อมในด้านคุณวุฒิ มีทักษะในด้านวิชาชีพ และ สร้างคุณธรรมให้กับอนาคตของชาติ

ที่ผ่านมาทุกคนเห็นพ้องต้องกันว่า หากสามารถให้การศึกษาที่ดี ทั่วถึง ไม่ลิดรอนโอกาสทางการศึกษา ของเยาวชน จะเป็นการแก้ไขปัญหาในทุกๆด้านในระยะยาว ดังนั้นการปฏิรูปการศึกษาจึงเป็นเรื่องสำคัญและทุกยุคทุกสมัยให้ความสำคัญพูดถึง

แต่วันนี้ กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. ได้ปรับหลักเกณฑ์การกู้ยืมโดยกำหนดว่าผู้ที่จะยื่นกู้ในระดับปริญญาตรีต้องมีผลการเรียนเฉลี่ยสะสมไม่น้อยกว่า 2.00 และมีชั่วโมงกิจกรรมจิตอาสาไม่ต่ำกว่า 18 ชั่วโมงต่อภาคเรียน

ซึ่งหลักเกณฑ์ดังกล่าวกำลังสร้างปัญหาเกิดขึ้น โดยมีรายงานข่าวว่า นายวุฒิชัย ไชยรินคำ รองอธิการบดีฝ่ายกิจการนิสิต มหาวิทยาลัยพะเยา(มพ.) บอกว่า "จากการสำรวจผลการเรียนของนิสิตที่กู้ยืม กยศ. ทั้งหมดประมาณ 9,000 คน พบว่า มีประมาณ 800 คน ที่มีคะแนนเฉลี่ยสะสมไม่ถึง 2.00 ส่งผลให้ในปีการศึกษา 2558 ไม่สามารถกู้ยืมเงิน กยศ.ได้อีก"

และขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยกำลังพิจารณาแนวทางเพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ด้วยเหตุที่นักศึกษาเหล่านี้อาจต้องลาออกเพราะไม่สามารถกู้เงินจากกยศ.ได้อีก.......................

ประเด็นดังกล่าวถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ต้องขบคิดและทบทวนทั้งระบบ ทั้งนี้การใช้เกณฑ์เรื่องกิจกรรมจิตอาสา ถือเป็นเกณฑ์ที่ดี น่ายกย่อง เพราะจะเป็นการฝึกจิตอาสา เสียสละเพื่อส่วนรวม เป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้ติดตัวไปจนถึงอนาคตข้างหน้า

ที่ผ่านมามีนักศึกษามากมายที่มุ่งหวังผลในการเรียนอย่างเดียวเพื่อเป็นเลิศในการศึกษา แต่จิตใจกลับขาดจิตสำนึกในเรื่องความรับผิดชอบร่วมในสังคม ทำให้กลายเป็นคนที่ มองเห็นแต่ประโยชน์ส่วนตัว อันเป็นปัญหาตามมาในหลายด้าน เพราะ หากขาดจิตสำนึกต่อสังคมส่วนรวมกับเอารักเอาเปรียบ การคอรัปชั่นต่อหน้าที่การงานก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย

แต่ในประเด็นการใช้เกณฑ์ เกรดเฉลี่ยสะสมไม่ต่ำกว่า 2 มาเป็นเกณฑ์ในการปล่อยกู้ ประเด็นนี้ถือเป็นการตัดโอกาสของนักศึกษากลุ่มหนึ่ง ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดปัญหาตามมาในหลายด้าน เช่น

เมื่อขาดโอกาสทางการเงินไม่สามารถเรียนต่อได้ บางคนอาจขาดโอกาสในการหางานทำ ไม่สามารถทำงานที่ดี สามารถเลี้ยงตัวเองต่อไปในอนาคต เป็นภาระต่อครอบครัว และอาจส่งผลให้บางคนหันไปประกอบอาชีพในทางไม่สุจริต เป็นปัญหาสังคมย้อนกลับมาอีก

สำหรับเกรดเฉลี่ยสะสม โดยปรกติ ทางมหาวิทยาลัยเองก็มีหลักเกณฑ์ในการดูแลกวดขัน และหากไม่สามารถเรียนได้ตามมาตรฐานจริง ก็ไม่สามารถเรียนผ่านหรือเรียนจบได้อยู่แล้ว แต่ บางคนที่มีระดับการเรียนที่ต่ำกว่า 2 อาจมีการปรับปรุงตัวเพื่อพัฒนาตัวเองขึ้นมาได้

การใช้เกณฑ์คะแนนเฉลี่ย จะเป็นการตัดโอกาสในการปรับปรุงพัฒนาไปโดยทันที และสำหรับคนที่มีฐานะไม่ดีจำเป็นต้องกู้เงินเรียน จะยิ่งสร้างปัญหาทับถม ทำให้คนเหล่านี้มีโอกาสไปสร้างปัญหาสังคมขึ้นมาได้อีกอย่างที่กล่าวไปแล้ว

ดังนั้น กยศ. ควรทบทวนในเรื่องหลักเกณฑ์ดังกล่าว เพราะปัญหาได้เกิดขึ้นมาแล้ว และเชื่อว่ายังมีนักศึกษาอีกมากนอกจาก มหาวิทยาลัยพะเยา เพราะจุดประสงค์ของการจัดตั้งกองทุน กยศ. ก็เพื่อโอกาสทางการศึกษาของคนที่ขาดแคลน เพื่อสร้างอนาคตให้กับคนเหล่านี้

แน่นอนว่าปัญหา การกู้เงินแล้วไม่ชำระคืนเงินหลังจากจบการศึกษาไปแล้วนั้น เป็นปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข แต่การตัดโอกาสโดยไม่เปิดให้มีการปรับปรุง พัฒนาตัวเองจะเป็นการทำลายและสร้างปัญหาขึ้นมามากกว่า

...โดย เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook