เลื่อนสัมปทานปิโตรฯ รอบ 21 ชัยชนะเพียงยกแรก

เลื่อนสัมปทานปิโตรฯ รอบ 21 ชัยชนะเพียงยกแรก

เลื่อนสัมปทานปิโตรฯ รอบ 21 ชัยชนะเพียงยกแรก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

"นี่ไงยอมฟังความเห็นแล้วนี่ ถ้าผมเดินหน้าก็หาว่าไม่ฟังความเห็น แต่เมื่อทำแบบนี้ก็ร่วมรับผิดชอบด้วยแล้วกัน"

คำพูดทิ้งท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. โดยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่า หลังการหารือทั้ง ครม.และ คสช.แล้ว จึงมีมติให้ชะลอเปิดสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ตามกำหนดเดิมวันที่ 16 มี.ค.นี้ ออกไปก่อน จนกว่าจะแก้กฎหมายปิโตรเลียมแล้วเสร็จ โดยส่งให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้ไขภายใน 3 เดือน แล้วค่อยเดินหน้าต่อไป

นับเป็นทิศทางที่ดี ที่น่าสนใจ กับการกำหนดนโยบายสำคัญ ในเรื่องพลังงาน เป็นเรื่องที่ประชาชนให้ความสนใจมากเรื่องหนึ่ง และที่สำคัญเป็นเรื่องท้าทาย และจะส่งผลต่อทิศทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในอนาคตข้างหน้าไม่ใช่น้อย

การเข้ามายึดอำนาจของ คณะคสช. ที่ถูกมองนักวิชาการนักต่อสู้ทางการเมืองบางกลุ่มมองว่า เป็นการถอยหลังเข้าคลอง เป็นเผด็จการทหาร ด้วยความเชื่อว่า ไม่มีทางที่ทหารที่ยึดอำนาจจากประชาชน (อันที่จริงน่าจะเป็นอำนาจของนักการเมืองมากกว่า) จะยอมรับความเห็นจากภาคประชาชน เพราะเป็นการใช้กระบอกปืนยึดอำนาจ ควบคุมบังคับ เป็นรัฐบาลที่ไม่ได้ยึดโยงกับประชาชนเหมือนกับรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน

การประกาศเลื่อนการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมออกไป โดยเร่งแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมให้เสร็จก่อน จึง ย้อนแย้งความเชื่อของกลุ่มที่มอง คสช.ด้วยสายตาที่ว่า ทหาร คือ เผด็จการ... อย่างมาก

นอกจากนี้การยอมรับ การคัดค้านการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ออกไปถือได้ว่า เป็นความสำเร็จขั้นแรกของ ภาคประชาชนอย่างแท้จริง ต้องยอมรับว่ากลุ่มภาคประชาชนกลุ่มนี้ได้ทำงานหนักมาตลอดระยะเวลาหลายปี ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นเพียงช่วงระยะสั้นที่จะมีการเปิดสัมปทานฯครั้งที่ 21 เท่านั้น

การศึกษาและให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องเรื่องพลังงานในประเทศ หากจะย้อนลงไปที่มีการศึกษาและคัดค้านการยึดครองแหล่งพลังงานจากกลุ่มทุนพลังงาน อย่างจริงจังก็ต้องย้อนไปในสมัยรัฐบาลก่อนหน้า ที่พยายามจะเร่งเดินหน้ากำหนดพื้นที่ทับซ้อนทางทะเลกับประเทศเพื่อนบ้านในอ่าวไทย

โดยรัฐบาลในขณะนั้นมีการเจรจาจัดสรรแบ่งพื้นที่ในทะเลกับเพื่อนบ้านกันเรียบร้อยแล้ว เหลือเพียงการทำสัญญาอย่างเป็นทางการ โดยมีกลุ่มประชาชนคัดค้านและตีแผ่ข้อมูลมาเป็นระยะ และเป็นความโชคดีที่มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองเสียก่อน จึงทำให้การเจรจาแบ่งปันแหล่งพลังงาน เป็นอันล้มเหลวไป

อย่างไรก็ตาม การติดตามเกาะติดข้อมูลในเรื่องแหล่งพลังงาน และ การแบ่งปันผลประโยชน์ที่เป็นธรรมก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับชาติบ้านเมือง ยังมีการติดตามอย่างต่อเนื่อง พร้อมๆ กับการให้ความรู้กับสังคมไปพร้อมๆกัน เรียกได้ว่า ตัวแทนของภาคประชาชนกลุ่มนี้พร้อมชนในทุกเวที มีการใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียอย่างกว้างขวาง

และด้วยการนำเสนอข้อมูลต่างๆ ที่สร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชนได้มากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่หน่วยงานด้านพลังงาน ที่ขาดความโปร่งใสในด้านข้อมูลในหลายๆด้าน ไม่สามารถตอบคำถามหรือแก้ความกังขาให้กับสังคมได้ในหลายเรื่อง อย่างเช่น ข้ออ้างที่บอกว่าแหล่งพลังงานบ้านเรามีน้อยเป็นกะเปาะเล็ก แต่ไม่สามารถแก้ความกังขากับเรื่องที่ว่า หากมีน้อยจริงทำไม่บริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลกจึงกล้ามาลงทุนเป็นต้น...

หน่วยงานด้านพลังงาน อ้างเอาความมั่นคงด้านพลังงานมาใช้เป็นตัวประกัน บอกว่าหากไม่เร่งสัมปทานพลังงานจะหมดใน 7 ปี ซึ่งเป็นประเด็นที่ไม่ตรงกับสถานการณ์ เพราะในภาวะที่น้ำมันในตลาดโลกล้นเกิน และนักวิเคราะห์คาดว่า ราคาน้ำมันในตลาดโลกจะไม่มีทางขึ้นไปถึงระดับ 100 เหรียญต่อบาร์เรลอีกหลายปี หรือราคาน้ำมันจะทรงตัวในระดับไม่สูงทำให้ไม่เป็นปัญหาต่อการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศ

นอกจากนี้ในแง่ของความรู้สึกของประชาชนต่อราคาพลังงาน ต้องยอมรับว่า ประชาชนรู้สึกว่าการปรับราคาน้ำมัน ไม่ได้สร้างความมั่นใจต่อประชาชน กระแสเรื่องการปรับราคาลง เชื่องช้า ปรับราคาขึ้นรวดเร็ว ทำให้ประชาชนขาดความมั่นใจขาดความเชื่อถือไปมากทีเดียว

ถึงวันนี้ต้องยอมรับว่า การเคลื่อนไหวของภาคประชาชนในเรื่องการคัดค้านการเร่งเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบ 21 ประสบความสำเร็จด้วยดี แต่ยังคงต้องติดตามและดูรายละเอียดของการแก้ไขกฎหมายกันอีกว่า จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับประเทศชาติ ยึดผลประโยชน์ของประเทศชาติได้อย่างแท้จริงมากน้อยเพียงใด ยังเป็นเรื่องที่ต้องติดตามกันต่อไป....

...โดย เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook