บวรศักดิ์จ่อชงคสช.ทำประชามติรธน.-นันทวัฒน์แทนทิชา

บวรศักดิ์จ่อชงคสช.ทำประชามติรธน.-นันทวัฒน์แทนทิชา

บวรศักดิ์จ่อชงคสช.ทำประชามติรธน.-นันทวัฒน์แทนทิชา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ จ่อชง คสช. ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ขณะ สปช. 'นันทวัฒน์ บรมานันท์' เลื่อนลำดับแทน 'ทิชา' ด้าน 'อภิสิทธิ์' ห่วงปมนายกฯคนนอก แนะ ทำประชามติ

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงภาพรวมการประชุมนอกสถานที่ตลอด 6 วัน ในการพิจารณาบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา ในภาค 2 ผู้นำการเมืองที่ดี และระบบผู้แทนที่ดี ได้พิจารณาไป 119 มาตรา แต่รวมทั้งหมด 310 มาตรา ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ยึดตามเจตนารมณ์ 4 ประการ คือ ต้องสร้างพลเมืองเป็นใหญ่ การเมืองใสสะอาด สมดุล หนุนสังคมที่เป็นธรรม และนำชาติสู่สันติ พร้อมระบุอีกว่า หากร่างรัฐธรรมนูญ เสร็จสมบูรณ์ เตรียมเสนอให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. และคณะรัฐมนตรี พิจารณาการทำประชามติ

นอกจากนี้ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ยังกล่าวอีกว่า บุคคลที่จะมาทำหน้าที่กรรมาธิการ แทน นางทิชา ณ นคร ที่ลาออก คือ นายนันทวัฒน์ บรมานันท์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ

 

กมธ.กำหนดให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองจังหวัด

นายคำนูณ สิทธิสมาน โฆษกกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ แถลงความคืบหน้าของการพิจารณารัฐธรรมนูญรายมาตราในเรื่องแขวนที่พิจารณาแล้วเสร็จเมื่อวานนี้ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ โดยให้มีสภาตรวจสอบภาคพลเมืองในแต่ละจังหวัด เพื่อส่งเสริมให้พลเมืองในแต่ละจังหวัดมีส่วนร่วมโดยตรงในการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐในเขตจังหวัดของตน ประกอบด้วยสมาชิกจำนวนไม่เกิน 50 คน มีภูมิลำเนาในจังหวัดนั้น ซึ่งมีที่มาจากผู้แทนสมัชชาพลเมืองทั้งหมดไม่เกิน 1 ใน 4 และผู้แทนองค์กรภาคประชาสังคม ไม่เกิน 1 ใน 4 และส่วนที่เหลือมาจากประชาชนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

นอกจากนี้ ยังมีบทบัญญัติที่เพิ่มขึ้นใหม่ ในส่วนการปฏิรูปสื่อสารมวลชนและเทคโนโลยีสารสนเทศ จากเดิมจะนำไปไว้ในหมวดสิทธิเสรีภาพ แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติ เห็นว่า ควรมีการบัญญัติสิทธิหน้าที่ของสื่อเป็นมาตราอย่างชัดเจน จึงนำมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

 

อภิสิทธิ์ห่วงปมนายกฯคนนอกแนะทำประชามติ

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดโอกาสให้ นายกรัฐมนตรี เป็นคนนอก ว่า หากมีนายกรัฐมนตรี ที่มาจากคนนอกในสถานการณ์ปกติ จะทำให้รัฐธรรมนูญถอยหลัง และเกิดวิกฤติตามมา เพราะหลายประเทศ นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกตั้ง จึงต้องบัญญัติให้ชัดเจนถึงที่มาของนายกรัฐมนตรีคนนอก

นอกจากนี้ นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวการชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ หรือ ป.ป.ช. สลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ปี 2553 ว่า ยังไม่ได้รับหนังสือแจ้งข้อกล่าวหาจาก ป.ป.ช. และขณะนี้ได้ประสานไปทาง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนั้น ดำรงตำแหน่ง ผบ.ทบ. เพื่อขอข้อมูลในระดับปฏิบัติงาน ซึ่งหากข้อมูลเพียงพอจะไม่ขอเพิ่มพยาน

นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีแนวคิดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากขึ้น ว่า รัฐธรรมนูญ ไม่ควรขาดความยืดหยุ่น และตัวแทนของประชาชนจะต้องมีสิทธิ์แก้ไขรัฐธรรมนูญได้ หากไม่กระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจ และการตรวจสอบของประชาชน หรือเป็นแก้ไขเพื่อเพิ่มอำนาจให้กับตนเอง นอกจากนี้ ยังไม่เห็นด้วยกับแนวคิดที่รัฐมนตรีจะต้องลาออกจากตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เพราะตำแหน่ง ส.ส. รัฐมนตรีจะถูกตรวจสอบโดยประชาชนในพื้นที่ และเข้าร่วมการประชุมสภา

อย่างไรก็ตาม นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนเป็นห่วงการยกร่างรัฐธรรมนูญ เนื่องจากบทบัญญัติบางอย่างเป็นการเพิ่มอำนาจฝ่ายบริหารและลดอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติ

 

 

-----------------------------------------------

บวรศักดิ์เสียดาย 'ทิชา'ลาออกกมธ.รธน. เชื่อมีจุดยืน

http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=601949 

 

 

 


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook