จะยังรักกันอีกนานไหม หรือ จะหันหลังให้กัน ?

จะยังรักกันอีกนานไหม หรือ จะหันหลังให้กัน ?

จะยังรักกันอีกนานไหม หรือ จะหันหลังให้กัน ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันนี้ต้องยอมรับว่า การบริหารงานของรัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ ยังมีกระแสนิยมที่สูง ที่ดีอยู่...ทั้งๆ ที่โดยรูปแบบของการเข้ามามีอำนาจ คือไม่ใช่ระบอบประชาธิปไตย...?

เป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับบรรดาคอการเมืองที่ต้องหันกลับมาทบทวนว่า...เหตุใดเหตุการณ์ข้างต้นที่ยกมาจึงเป็นเช่นนี้

ก่อนหน้าเรามักได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า การเมืองไทยไม่เหมือนที่ใดในโลก นี่เป็นการเมืองแบบไทยๆ...แล้วการเมืองแบบไทยไทยมันคืออะไร..?

หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบบประชาธิปไตย ระบอบการเมืองไทยก็ล้มลุกคลุกคลานมาโดยตลอด มีการยึดอำนาจ ใช้ระบอบอำนาจน้อยมาปกครองประเทศสลับสับเปลี่ยนกับระบอบเลือกตั้งที่เป็นแนวทางของระบบประชาธิปไตยมาตลอด

จะมีช่วงหลังๆ ที่ระบบการเลือกตั้งตามหนทางของระบบประชาธิปไตย มีพัฒนาการ คือมีการเลือกผู้แทนเข้าไปบริหารประเทศนานหน่อย แต่ในที่สุดก็เกิดการยึดอำนาจโดยคณะ คสช.จนได้ในวันที่22 พ.ค.2557

ในอดีตการยึดอำนาจเมื่อปี 2535 ในช่วงแรก ผู้คนต่างชื่นชมการยึดอำนาจครั้งนั้น ...ด้วยเหตุที่ประชาชนเอือมระอากับพฤติกรรมนักการเมืองที่มีการโกงกิน ทุจริตคอร์รัปชั่นกันอย่างโจ่งแจ้ง แต่ในที่สุดเมื่อผู้นำการรัฐประหารกลับคำพยายามวางแนวทางเพื่อกลับเข้ามาสืบทอดอำนาจ ก็ถูกต่อต้านจากประชาชน จนเกิดเหตุ พฤษภาทมิฬ 35 ให้เราได้ศึกษาเป็นบทเรียนกัน

มาวันนี้ เรากลับมาสู่วังวนของการใช้อำนาจทหารเข้าควบคุมสถานการณ์ หรือ การรัฐประหารอีกครั้ง ...ซึ่งภาพโดยรวมตั้งแต่การยึดอำนาจของคณะนายทหาร..ก็ต้องยอมรับว่า ประชาชนโดยรวมตอบรับค่อนข้างมาก เป็นเพราะอะไร...?

คงไม่ยากนัก ที่จะบอกได้ว่า ...เหตุก็คือ ประชาชนเอือมระอากับพฤติกรรมของนักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศ โดยมุ่งหวังแต่ประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องเป็นใหญ่นั้นเอง ที่เป็นสาเหตุหลัก...สร้างความชอบธรรมให้กับการยึดอำนาจโดยกองทัพ

เราเห็นพฤติกรรมของนักการเมือง ที่อ้างว่ามาจากการเลือกตั้ง มาตามระบอบประชาธิปไตย แต่กลับกระทำแต่สิ่งที่ส่อไปในทางทุจริต เอื้อประโยชน์ให้กับพวกพ้อง..ตลอดเวลา

สิ่งเหล่านี้ ทำลายความเชื่อ ความศรัทธาของประชาชนส่วนใหญ่ที่ต้องการระบบสังคมที่โปร่งใส ...สังคมที่สันติสุข...สังคมแห่งคุณธรรม...

ต้องยอมรับว่า คำว่าประชาธิปไตย..ในสังคมไทย..เป็นสิ่งที่น่าคลางแคลงใจมากที่สุด...ประชาธิปไตยในเมืองไทยถูกนิยามเพียงแค่ การเลือกตั้ง...นักการเมือง..นักวิชาการบางกลุ่ม...ยึดเอาเป็นสรณะ เป็นสิ่งประเสริฐสุดของระบบประชาธิปไตย...

พฤติกรรมฉ้อราชบังหลวง ใช้อำนาจเพื่อเอื้อประโยชน์พวกพ้อง ถูกนำมาบิดเบือนตลอดเวลา ว่าการกระทำดังกล่าวเป็นสิ่งถูกต้องชอบธรรม เพราะพวกเขามาจากการเลือกตั้ง...หรือพูดให้ง่ายก็คือ ..นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ทำอะไรก็ไม่ผิดนั้นเอง....

ความถูกต้องตามครรลอง ตามศีลธรรม ตามจรรยาที่ควรเป็นถูกบิดเบือน ผ่านกระบวนการสร้างแนวคิดใหม่ ตอกย้ำว่านักเลือกตั้ง คือ ประชาธิปไตย...คือความจริงแท้...คือความถูกต้อง ที่ไม่อาจปฏิเสธได้...

สิ่งเหล่านี้กลับทำลายตัวเอง....ทำให้คนชั้นกลาง..กลุ่มใหญ่ที่ไม่เห็นด้วย ปฏิเสธและต่อต้าน จนเหตุการณ์เลยมาเป็นรัฐประหารอีกครั้ง ทั้งๆ ที่หลายคนไม่คาดคิดว่าเหตุการณ์แบบนี้จะเกิดขึ้นอีกในสังคมไทย.....

มาวันนี้ กลุ่มคณะรัฐประหาร ได้ชูธง การรัฐประหาร คือ การปฏิรูปประเทศครั้งใหญ่ คือ การคืนความสุขให้กับสังคม ตามอุดมคติ ให้การตอบรับจากสังคมโดยรวมค่อนข้างดี ....

สิ่งที่สร้างความชอบธรรม สร้างความหวังให้กับคนโดยรวมในสังคมไทย ว่าคณะรัฐประหารจะคืนสิ่งเหล่านั้นมาให้เขาได้ ...

อย่างไรก็ตาม แม้จนถึงวันนี้ มีหลายเหตุ หลายกรณีที่การกระทำของ รัฐบาลทหารได้ทำลงไป ได้รับความนิยม ...แต่ก็มีบ้างเหมือนกันที่ เริ่มสงสัยต่อพฤติกรรมของกลุ่มที่ยึดอำนาจอยู่ในขณะนี้

และเชื่อได้เลยว่าในอนาคตข้างหน้า หากการวางระบอบการปฏิรูปประเทศ ไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้กับมวลชนเหล่านั้นได้...ความหวาดระแวง ความสงสัยจะถูกกระพือโหมอีกครั้ง จะเกิดแรงต่อต้านขนานใหญ่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้...

ดังนั้น การวางระบอบ การจัดระเบียบ การปฏิรูปประเทศ จึงเป็นที่ท้าทายอย่างยิ่งสำหรับ คสช. หากการกระทำใดๆไม่สามารถตอบโจทย์ ตอบความหวังให้กับประชาชนได้ ...เมื่อนั้น วงเวียนของการต่อต้านจะกลับมา...

วันนี้สิ่งที่จะทำให้รักของประชาชนยืนหยัดอยู่ได้ ก็คือ คณะรัฐประหาร ต้องตอบโจทย์ สร้างความหวังว่าจะสร้างสังคมแห่งอุดมคติให้กับเขาได้... หากสิ่งที่สร้างขึ้น ไม่ตอบโจทย์... เชื่อได้ว่าวันนั้นแรงรักจะหมดไป...และอาจนำไปสู่แรงต้านได้ในที่สุด...วันนี้ จึงเป็นหัวเลี้ยวหัวต่อว่า...จะยังคงรักกัน เดินไปด้วยกัน หรือ หันหลังให้กัน...

โดย: เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook