ถอดบทเรียน การให้อภัย จากกรณีสังหารพระหมอ....

ถอดบทเรียน การให้อภัย จากกรณีสังหารพระหมอ....

ถอดบทเรียน การให้อภัย จากกรณีสังหารพระหมอ....
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขอขอบคุณภาพจากทวิตเตอร์ @bunshury1

ตลอดหลายปีที่ผ่านมาหลังเกิดความขัดแย้งทางการเมืองขึ้น มีการประท้วงและปะทะ จนเป็นเหตุให้เกิดการเสียชีวิตของหลายคน เกิดคดีความทางอาญากันหลายคนหลายคดี โดยในทางการเมือง หลายครั้งพยายามจะหาทางออกของเหตุความขัดแย้งเพื่อให้สังคมเกิดความสงบ สมานฉันท์ขึ้นมาให้ได้

ซึ่งแนวทางหนึ่งที่มีการยกขึ้นมาเพื่อเป็นแนวทางไปสู่การสมานฉันท์ปรองดองของสังคมก็คือ การให้อภัยโทษ โดยการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ขึ้นมา

แม้กระทั่งในปัจจุบัน ในการบริหารประเทศของรัฐบาล คสช. ที่มี สนช.เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ก็มีแนวคิดในเรื่อง การนิรโทษกรรม ขึ้นมาเช่นกัน ในเบื้องต้นจะให้นิรโทษเฉพาะเหตุการณ์ผู้ชุมนุม โดยไม่รวมคดีอาญา คดีหมิ่นฯ

แน่นอนว่า ในเชิงหลักการ การจะปลดล็อคเพื่อให้ความขัดแย้งคลี่คลายลง เพื่อให้ผู้คนได้หันหน้าเข้าหากันเป็นหนทางที่ทุกฝ่ายอย่างเห็น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็ไม่แน่ใจว่าแนวทางการล้างความผิดให้กับผู้กระทำผิดที่ยังไม่รู้ตัวเอง ว่าการกระทำของตนนั้นเป็นความผิด และได้สำนึกว่าสิ่งที่กระทำนั้นเป็นความผิด จะส่งผลอย่างไรในอนาคต

เป็นไปได้หรือไม่ว่า การล้างความผิดให้กับคนกระทำผิดที่ยังไม่สำนึก จะสร้างวัฒนธรรมแบบหนึ่งขึ้นมา คือ เมื่อเห็นว่าตัวเองและพวกพ้องมีความผิด แต่ไม่ยอมรับผิด ใช้วิธีการในรูปแบบเดิม ก่อให้เกิดความรุนแรง ความขัดแย้งขึ้นในสังคม โดยมิได้เกรงกลัวต่อกฎระเบียบ กฎหมาย กฎแห่งกรรม หรือศีลธรรมอันดีงาน เพราะถึงที่สุดก็จะมีการออกกฎหมายเพื่อมาล้างความผิดให้อยู่ดี..?

ดังนั้น การจะเดินหน้าเพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งทางสังคมที่กินลึกอยู่ในสังคมไทยขณะนี้ได้อย่างไร ...?

เมื่อวันที่ 25 มี.ค.58 ที่ผ่านมา มีกรณีที่น่าจะเป็นตัวอย่างหรือเป็นต้นแบบของหนทางแห่งการให้อภัย ที่เป็นพื้นฐานของการ นิรโทษกรรมคนกระทำความผิดที่น่าสนใจเรียนรู้ยิ่ง คือ กรณีคดีการสังหารพระบัณฑิต เจ้าอาวาสวัดตอสีเสียด อ.เมือง จ.อุดรธานี หรือ พระหมอ

โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมมือสังหารได้และนำตัวมาขอขมาโทษกับหลวงปู่สุข ที่เป็นพ่อของพระหมอ หลวงปู่ได้แสดงการให้อภัย ต่อผู้กระทำผิดอย่างลึกซึ้ง จะขอยกคำกล่าวของหลวงปู่ที่แสดงเทศนาต่อมือสังหารบางตอนดังนี้

"ก็รู้สึกว่าเป็นผู้ที่รู้บุญรู้บาป รู้จักสำนึกบุญบาป สิ่งใดที่ทำไปแล้ว แม้จะได้ตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ หลวงพ่อก็ขออโหสิกรรมให้ โดยไม่มีความติดใจหรืออาฆาตมาดร้ายแต่อย่างใด ทุกคนสัตว์โลก ไม่ว่าสัตว์หรือมนุษย์ หลวงพ่อก็มีแต่เมตตา มีแต่ให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคือง สิ่งใดทำไปแล้ว ก็ขอให้เป็นสิ่งที่จบไป ขอกุศลผลบุญอันนี้ ก็จงส่งให้ผู้ที่สำนึกผิดนี้ จงได้รับผลบุญอานิสงค์ ที่ได้สำนึกว่า ได้พลั้งเผลอกระทำไป แม้จะได้ตั้งใจ หรือไม่ตั้งใจก็ตาม ขอให้ท่านจงประสบความสุขความเจริญในอนาคตข้างหน้า โดยทั่วทุกทั่วหน้ากาลนานเทอญ"

หลวงปู่ท่านให้อภัยต่อผู้กระทำความผิดที่ลงมือสังหาร พระหมอ โดยเชื่อว่า ผู้กระทำผิดได้สำนึกและรู้ตัวว่าได้กระทำผิด และได้รู้สำนึกถึงความผิดแล้ว หลวงปู่จึงให้อภัยต่อการหลงผิดของมือสังหาร ท่านไม่ถือโทษไม่ผูกใจเจ็บต่อการกระทำนั้นแล้ว..ใจของท่านจิตของท่าน ได้ให้อภัยต่อเขาแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นในทางกฎหมายบ้านเมือง การลงมือสังหารฆ่าผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย ก็เป็นความผิดที่มีบทลงโทษไปตามกฎหมายบ้านเมือง ไม่ใช่เมื่อหลวงปู่ให้อภัยแล้ว เป็นอันว่าความผิดของมือสังหารจะหมดไปด้วย

การให้อภัยของหลวงปู่ พอจะเป็นบทเรียน พอจะเป็นแนวทางให้กับผู้ที่คิดเรื่องการปรองดอง เรื่องการอภัย เรื่องการนิรโทษกรรมได้หรือไม่....ที่ผ่านมาผู้กระทำผิดได้สำนึกถึงความผิดที่ได้กระทำแล้วหรือยัง....เป็นคำถามที่สังคมไทยต้องรอคำตอบในวันข้างหน้าต่อไป..........

โดย...เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook