นายกฯขอคนหลงผิดหยุดป่วนยันปฏิรูปไร้ผลทับซ้อน

นายกฯขอคนหลงผิดหยุดป่วนยันปฏิรูปไร้ผลทับซ้อน

นายกฯขอคนหลงผิดหยุดป่วนยันปฏิรูปไร้ผลทับซ้อน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

นายกรัฐมนตรี ขอคนหลงผิดหยุดสร้างสถานการณ์ ย้ำยึดกฎหมาย ลุยปฏิรูปไร้ผลทับซ้อน พร้อมจับตาใครขวางพัฒนาประเทศ บอกหากไม่เคารพกติกา มีรัฐธรรมนูญก็ไร้ผล วอนหยุดสร้างวาทกรรมโจมตีรัฐบาล

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ โดยยกตัวอย่าง มนุษย์แพนกวิน เป็นผู้ไม่ยอมแพ้ พยายามใช้ชีวิตในขอบเขตจำกัด ดังนั้นเราต้องกลับมาสำรวจตนเอง ว่าทำประโยชน์อะไรเพื่อประเทศชาติบ้าง โดยเฉพาะคนที่หลงทำผิด พยายามสร้างสถานการณ์ความวุ่นวายในบ้านเมือง ขอให้ร่วมมือกับทางการยุติความขัดแย้ง แล้วกลับมาใช้ชีวิตอย่างสร้างสรรค์ เพราะต่างเป็นคนไทยด้วยกัน เพื่อเดินหน้าการปฏิรูปที่ต้องอยู่ในกฎกติกา การยึดกฎหมาย หากไม่ปฏิรูป อนาคตจะเสียโอกาส ทั้งนี้ การปฏิรูปกำลังมาถูกทางที่ต้องดูตามโรดแมป พร้อมยืนยันทำเพื่อประชาชนทุกคน ไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อน รวมถึงการจัดทำรัฐธรรมนูญที่ได้รับการยอมรับจากประชาชน

ส่วนบุคคลที่ออกมาวิจารณ์ แสดงวิวาทะ โดยเฉพาะนักการเมือง นักเลือกตั้ง ก็ขอให้หยุดพฤติกรรมเหล่านี้ เพราะรัฐบาลก็กำลังจับตาดูอยู่จึงอยากให้ทุกคนร่วมมือกัน ไม่ทำตัวขวางการพัฒนาประเทศ

 

นายกฯย้ำศก.ฟื้นหลังเข้าบริหารปท.เร่งแก้ปัญหาเกษตร

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ถึงการแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจว่า หลังจากที่ คสช. และรัฐบาลเข้ามาบริหารราชการ ได้แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ติดลบอยู่ให้ปรับตัวดีขึ้น โดยในไตรมาสที่ 4 ปี 2557 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 2.3 เพิ่มขึ้นจากไตรมาสที่ 3 ที่ขยายตัวเพียงร้อยละ 0.6 ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ ขณะที่ใน 2 เดือนแรกของปี 2558 (มค.-กพ.) พบว่า ดุลการค้าและดุลบริการของประเทศยังคงเกินดุล โดยเมื่อรวมกับดุลเงินทุนแล้ว ไทยยังมีดุลการชำระเงินที่เกินดุล ทั้งนี้ อาจจะกระทบต่อค่าเงินบาท แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีมาตรการรองรับและดูแลอย่างใกล้ชิด ส่วนด้านการคลังมีการจัดเก็บรายได้สูงกว่าปีที่ผ่านมา โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ต.ค. 57 - มี.ค. 58) จัดเก็บรายได้สุทธิจำนวน 973,952 ล้านบาท สูงขึ้นจากปีที่แล้วร้อยละ 3.5

ทั้งนี้ แม้ว่าเศรษฐกิจในภาพรวมจะเริ่มส่งสัญญาณที่ดีขึ้น แต่ยังคงมีผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกร ผู้มีรายได้น้อย ธุรกิจ SME โดยภาครัฐได้พยายามเร่งแก้ไขปัญหา ผลักดันเม็ดเงินผ่านโครงการต่างๆ ให้เกิดการหมุนเวียนสู่เศรษฐกิจท้องถิ่น อาทิ เร่งรัดดำเนินการก่อสร้างถนนหนทางในพื้นที่ชนบท ดูแลเรื่องการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของธุรกิจขนาดเล็ก (สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้

 

นายกฯบอกหากไม่เคารพกติกามีรธน.ก็ไร้ผล

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า สำหรับความคืบหน้าบริหารราชการแผ่นดินก็เป็นไปตามแนวทางนโยบายพัฒนาประเทศ 11 ด้าน มีโจทย์สำคัญคือการสร้างความปรองดอง และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเขียนรัฐธรรมนูญดีแค่ไหน หากไม่เคารพกติกาก็ไม่เป็นผลสำเร็จ จึงขอเรียกร้องให้หยุดสร้างวาทกรรมโจมตีการทำงานของรัฐบาล

ส่วนวันสงกรานต์เพิ่งผ่านพ้นไป และเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว มีเรื่องน่ายินดีที่ชาวประมงได้กลับไทยจำนวน 68 คน ซึ่งจะได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ ทั้งการตรวจสุขภาพ ที่พักชั่วคราว และจากนี้ไปรัฐบาลจะติดตามเหยื่อการค้ามนุษย์อย่างต่อเนื่อง เน้นการถูกล่อลวง พร้อมกันนี้ ยังขอบคุณเจ้าหน้าที่ทุกฝ่าย ที่ช่วยดูแลปลอดภัยในห้วงเทศกาลสงกรานต์ และขอบคุณประชาชนที่ปฏิบัติตามคำแนะนำของรัฐ ทั้งการแต่งกาย การจัดโซนนิ่งปลอดเหล้า ทั้งนี้ การสนุกสนานต้องมีขีดจำกัด รักษาเอกลักษณ์ขนบธรรมเนียมประเพณีไทย เพื่อให้นักท่องเที่ยวเข้ามาไทยมากขึ้น ซึ่งขณะนี้ ชาวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวจำนวนมราก มียอดนักท่องเที่ยวเพิ่ม 20% ในไตรมาสนี้ และเพิ่มขึ้น 30% ในช่วงสงกรานต์

 

นายกฯเผยแผนเมกะโปรเจ็กต์รถไฟฟ้า-มอเตอร์เวย์พร้อมใช้ปี 63

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า รัฐบาลได้จัดทำแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนานคมขนส่งของไทย 7 ปี (พ.ศ.2558-2565) โดยในปี 2558 จะเกิดการพัฒนาโครงข่ายรถไฟระหว่างเมือง โดยจะมีการส่งมอบรถโดยสาร (NGV) 489 คัน (จาก 3,183 คัน) ในเดือน ก.ค. 58, โครงการมอเตอร์เวย์ 3 เส้นทาง ได้แก่ บางปะอิน-นครราชสีมา (196 กม.) บางใหญ่-กาญจนบุรี (96 กม.) และพัทยา-มาบตาพุด (กม.) ซึ่งตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษา โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2562, โครงการรถไฟฟ้า กทม. และปริมณฑล 10 เส้นทาง 464 กม. โดยสายสีน้ำเงินตะวันออกเปิดให้บริการแล้ว สายสีม่วงเหนือจะเปิดบริการในปีหน้า สายสีน้ำเงินตะวันตก และสายสีเขียวใต้ อยู่ระหว่างก่อสร้าง จะแล้วเสร็จตามกำหนด พร้อมใช้งานในปี 63 ส่วนสายที่เหลือ 6 สาย อยู่ระหว่างการดำเนินการตามขั้นตอน จนแล้วเสร็จในปี 63 ทั้งหมด โครงข่ายรถไฟทางคู่ระหว่างเมือง ระยะเร่งด่วน 6 เส้นทาง 903 กม. ได้แก่ เส้นทางฉะเชิงเทรา-คลอง 19-แก่งคอย (106 กม.) เส้นทางมาบกะเบา-ถนนจิระ (132 กม.) เส้นทางถนนจิระ-ขอนแก่น (185 กม.) เส้นทางลพบุรี-ปากน้ำโพ (148 กม.) เส้นทางประจวบคีรีขันธ์-ชุมพร (167 กม.) และเส้นทางนครปฐม-หัวหิน (165 กม.) ทั้งหมดจะเริ่มก่อสร้างในปี 58 โดยประมาณ และจะแล้วเสร็จในปี 61 และระบบขนส่งโดยสารทางน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ให้สามารถรองรับผู้โดยสารและนักท่องเที่ยวได้ 200,000 คนต่อวัน และเชื่อมโยงการเดินทางกับระบบขนส่งสาธารณะทุกประเภทได้ โดยยกระดับท่าเทียบเรือ ทั้ง 19 แห่งเป็นสถานีเรือ

 

หม่อมอุ๋ยชี้ส่งออก,ศก.เริ่มฟื้นจากลงทุนภาครัฐเอกชนท่องเที่ยวโต

หม่อมราชวงศ์ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า ตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลได้เข้ามาบริหารประเทศนั้น ภาพรวมของเศรษฐกิจในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ในไตรมาสที่ 4 ปี 57 เริ่มขยายตัวขึ้นที่ร้อยละ 2.3 จากการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐที่ได้เร่งในช่วง 3 เดือนแรกที่เข้ามาบริหารงาน โดยขยายตัวมากกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 5.5 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนสูงขยายตัวร้อยละ 4 และการส่งออกบริหาร หรือการท่องเที่ยวร้อยละ 11.4

ขณะที่ไตรมาสแรกของปี 58 ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ยังเป็นการใช้จ่ายของภาครัฐ การลงทุนโครงการต่างๆ ของภาครัฐ ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นสำคัญที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5 การลงทุนภาคเอกชนยังคงขยายตัวในอัตราร้อยละ 4 และการส่งออกบริการหรือการท่องเที่ยว รายได้เพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 15 ซึ่งจะช่วยชดเชยการส่งออกในไตรมาสแรกที่อาจติดลบร้อยละ 4 จากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวและต่างชาติลดกำลังซื้อ แต่ทั้งนี้เชื่อว่าในไตรมาสถัดไป หลังจากเดือนเมษายนจากการที่จีนได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดดอกเบี้ย และยุโรปได้กระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มมาตรการ QE เข้ามาในระบบ จะช่วยให้เกิดการสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น และจะส่งผลให้สภาวะเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปีนี้ จะมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น

 

อุตฯเผยยอดเงินลงทุนขอเปิดกิจการโรงงานแล้วกว่า5.5แสนล้านบาท

นายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า  ที่ผ่านมาการขยายตัวของภาคอุตสาหรรมเกิดขึ้นจำนวนมาก โดยมีโครงการที่ยื่นขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (รง.4) ตั้งแต่มีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และรัฐบาลเข้ามาบริหารประเทศ จำนวนกว่า 5,000 โครงการ เงินลงทุนกว่า 550,000 ล้านบาท เกิดการจ้างงานประมาณ 200,000 คน โดยมียอดการขอเปิดโรงงานเพื่อประกอบกิจการแล้วจำนวนทั้งสิ้น 3,500 โรงงาน เงินลงทุนกว่า 350,000 ล้าน เกิดการจ้างงาน 130,000 คน ซึ่งในส่วนนี้ยังไม่รวมนิคมอุตสหกรรมอีกประมาณ 5 หมื่นกว่าล้าน หากรวมกันจะมียอดลงทุนทั้งหมดประมาณ 4 แสนล้านบาท และมีการจ้างงานประมาณ 1.3-1.4 แสนอัตรา โดยอุตสาหกรรมลงทุนส่วนใหญ่ ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร แปรรูปอาหาร อุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ชิ้นส่วนรถยนต์ โลหะ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับพลังงาน ทั้งการผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน อุตสาหกรรมเคมี 

นอกจากนี้ยังได้มีการอนุมัติประทานบัตรเหมืองแร่อีก 195 ราย คิดเป็นเงินลงทุน 4.4 หมื่นล้านบาท และหากคำนวณแร่ที่เกิดจากการลงทุนที่อนุมัติไปจะมีเม็ดเงินสะพัดอีกกว่า 2 แสนล้านบาท

 

รมว.เกษตรฯเผยจ่ายเงินช่วยชาวนาแล้ว 38.8 ล้านบาท

นายปีตีพงศ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวในรายการคืนความสุขให้คนในชาติ ว่า มาตรการเยียวยาเกษตรกรชาวนาและชาวสวนยางว่า ในส่วนของมาตรการแรกที่เข้าไปดำเนินการเกี่ยวกับข้าวคือ มาตรการเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ซึ่งขณะนี้จ่ายเงินให้ไปแล้ว 3 ล้าน 5 แสนครัวเรือน วงเงิน 38.8 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีมาตรการทางอ้อมอื่นๆ เช่น การจ้างเพื่อปรับปรุงระบบการชลประทาน การฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพด้านการเกษตร การสนับสนุนให้มีการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ซึ่งทั้งหมดเป็นมาตรการที่พยายามช่วยเหลือชาวนาในเรื่องของราคาพืชผลที่ตกต่ำ

ขณะที่การแก้ไขเรื่องปัญหายางพารา ได้มีการแก้ไขปัญหาระยะสั้นซึ่งได้พยายามอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ไร่ละ 1,000 บาท เช่นเดียวกัน โดยอนุมัติจ่ายไปแล้ว 767,000 ครัวเรือน เป็นเงินกว่า 7 พันล้านบาท นอกจากนี้พยายามที่จะให้สหกรณ์มีบทบาทในการช่วยเหลือราคายางมากขึ้น ด้วยการให้เงินกู้หมุนเวียนเพื่อซื้อยางแก่สถาบันเกษตรกร วงเงินหมื่นล้านบาท เบิกไปแล้ว 3 พันกว่าล้านบาท ซึ่งในส่วนของสินเชื่อเพื่อการปรับโครงสร้างระยะยาวสำคัญที่สุด โดยเกษตรกรสามารถขอสินเชื่อรายละไม่เกิน 1 แสนบาท โดยมีการยื่นขอกู้แล้วถึง 1.1 แสนราย และมีการอนุมัติปล่อยกู้ไปแล้วจำนวนหนึ่ง


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook