สปช.ถกรธน.วันที่6-บวรศักดิ์รับฟังวิษณุชงลดมาตรารธน.

สปช.ถกรธน.วันที่6-บวรศักดิ์รับฟังวิษณุชงลดมาตรารธน.

สปช.ถกรธน.วันที่6-บวรศักดิ์รับฟังวิษณุชงลดมาตรารธน.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สปช. อภิปราย ร่างรัฐธรรมนูญ วันที่ 6 ภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ขณะ พระพุทธอิสระ ยื่น คัดค้าน มาตรา 157 ให้อำนาจรัฐสภา-นายกฯ มากไป ด้าน 'บวรศักดิ์' รับฟังข้อเสนอ 'วิษณุ' ให้ปรับลดมาตราร่าง รธน. ย้ำเสร็จตามกรอบเวลา ปัดตอบปมเลื่อนเลือกตั้ง

การประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เพื่อพิจารณารัฐธรรมนูญร่างแรก เริ่มขึ้นแล้ว โดยวันนี้ อภิปรายในภาค 4 การปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง ซึ่งภาคนี้ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญร่างขึ้น เพื่อหวังยุติความขัดแย้งที่มีมา 10 ปี โดย นายสมชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง ระบุว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ กำหนดให้รัฐต้องจัดทำยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแห่งชาติ มีหน่วยงานอิสระติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง แต่กลับไม่มีการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อติดตามดูแล มีเพียงการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ ที่ดำเนินการเพียงการปฏิรูป ซึ่งไม่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

ส่วนเรื่องของภาษีระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้บัญญัติไว้ แต่ก็ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่ครบถ้วน เช่น การจัดเก็บภาษีในท้องถิ่น รวมถึงการจัดการงบประมาณ ซึ่งภาษีเหล่านี้ ยังต้องมีการปฏิรูปเพื่อจัดระบบการจัดเก็บภาษีที่มีประสิทธิภาพ

โดย นายเกริกไกร จีระแพทย์ ประธานกรรมาธิการปฏิรูปการเกษตร อุตสาหกรรม พาณิชย์ การท่องเที่ยวและบริการ อภิปรายถึงภาพรวมการปฏิรูปทั้งกรอบเวลาการปฏิรูป ที่ต้องเร่งรัดให้เกิดผลภายใน 5 ปี ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะการกำหนดกรอบการทำงานของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติงานได้ โดยให้รัฐบาลในอนาคตสามารถยืดหยุ่นได้ ทั้งการกำหนดวิสัยทัศน์ในแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ทั้งนี้ หากไม่กำหนดแนวทางชัดเจน มองว่า จะเกิดปัญหาด้านนโยบายขาลง และมีความสามารถในการแข่งขันลดลง ด้าน พล.ท.เดชา ปุญญบาล ประธานกรรมาธิการปฏิรูปแรงงาน ระบุว่า แรงงานต้องไม่ถูกบังคับให้ทำงาน สามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารตลาดแรงงาน รวมถึงค่าตอบแทนที่เป็นธรรม ไม่ถูกเอาเปรียบ พร้อมกันนี้ ยังสนับสนุนการจัดตั้งธนาคารแรงงานเพื่อเป็นศูนย์ข้อมูลแรงงานและเป็นกองทุนแรงงาน ส่งเสริมการออมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น


พระพุทธะอิสระ ยื่น คัดค้าน ร่าง รธน. มาตรา 157

พระพุทธะอิสระ ยื่นหนังสือต่อ นายเทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และ นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อคัดค้านการบัญญัติร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 157 ที่ว่าด้วยร่างพระราชบัญญัติใด ที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ และพระราชทานคืนมายังรัฐสภา หรือพ้น 90 วันไปแล้ว พระมหากษัตริย์มิได้พระราชทานคืน รัฐสภาคงปรึกษาร่างรัฐธรรมนูญนั้นใหม่ หากมีมติยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกของรัฐสภา ให้นายกรัฐมนตรี นำร่างพระราชบัญญัติขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายอีกครั้ง เมื่อพระมหากษัตริย์มิได้ทรงลงพระปรมาภิไธยหรือมิได้พระราชทานคืนมาภายใน 30 วัน ให้นายกรัฐมนตรี นำพระราชบัญญัตินั้นในราชกิจจานุเบกษา ใช้บังคับเป็นกฎหมายเสมือนหนึ่งว่าพระมหากษัตริย์ได้ทรงลงพระปรมาภิไธยแล้ว จึงเห็นว่าการบัญญัติในลักษณะนี้ จะทำให้รัฐสภา และนายกรัฐมนตรี มีอำนาจมากเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จะไม่สามารถการันตีได้ว่า ในอนาคตจะไม่มีนักการเมืองออกกฎหมายลิดรอนพระราชอำนาจ


บวรศักดิ์รับฟังวิษณุชงลดมาตรารธน.

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ระบุถึงเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญร่างแรก 315 มาตรา มีเนื้อหามากเกินไป และเตรียมเสนอต่อกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขอตัดทอนเนื้อหา 20-30 มาตรา นั้น ทางกรรมาธิการยกร่างฯ ไม่ขัดข้อง พร้อมพิจารณาลดทอนเนื้อหาของรัฐธรรมนูญ และนำรายละเอียดไปบรรจุไว้ในพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ หากพิจารณาแล้วเห็นว่า ข้อเสนอมีเหตุและผล



ขณะเดียวกัน ประธานคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ปฏิเสธให้ความเห็นถึงข้อเสนอเลื่อนการเลือกตั้งของพรรคการเมือง เพราะเกรงเสียประโยชน์ในการเลือกตั้งหรือไม่ แต่ย้ำว่า กรอบเวลาการยกร่างฯ เพียงพอให้ได้ร่างรัฐธรรมนูญที่มีความสมบูรณ์


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook