วันชัยบอกพรุ่งนี้ชัด8คำขอแก้รธน.-อำพลหนุนประชามติ

วันชัยบอกพรุ่งนี้ชัด8คำขอแก้รธน.-อำพลหนุนประชามติ

วันชัยบอกพรุ่งนี้ชัด8คำขอแก้รธน.-อำพลหนุนประชามติ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สมาชิก สปช. 'วันชัย' บอก พรุ่งนี้ชัดเจน 8 คำขอแก้ไข ร่าง รัฐธรรมนูญ มีเรื่องอะไรบ้าง - รายละเอียดต้องรอแต่ละกลุ่มสรุปอีกครั้ง ขณะที่ 'อาณันย์' หนุนคำขอนายกฯคนนอก ตาม กมธ.รธน. ด้าน 'อำพล' หนุน ทำประชามติ

นายวันชัย สอนศิริ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (วิป สปช.) เปิดเผยกับสำนักข่าว INN ว่า การพิจารณาทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ น่าจะมีความชัดเจน วันพรุ่งนี้ โดยสมาชิกแต่ละคนทำแบบสอบถาม ว่า แต่ละคนจะเสนอแก้ไขเรื่องอะไรบ้าง จากนั้น ก็จะมีการประชุมเป็นการภายใน สรุปจัดหมวดหมู่เรื่องที่จะแก้ไข และเกลี่ยจำนวนสมาชิก ออกเป็นกลุ่มๆ ต่อไป

ทั้งนี้ นายวันชัย กล่าวด้วยว่า มั่นใจจะได้เห็น 8 คำขอแก้ไข ว่าจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับอะไรบ้าง ส่วนเรื่องรายละเอียด จะแก้ไขอย่างไร หรือมาตราใดบ้างนั้น ต้องให้เวลาแต่ละกลุ่มไปสรุป และทำคำขออีกครั้ง ซึ่งเชื่อว่าจะเสร็จทันตามกรอบเวลาอย่างแน่นอน


สปช.อาณันย์หนุนคำขอนายกฯคนนอกตามกมธ.รธน.

พ.ต.อาณันย์ วัชโรทัย สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า ขณะนี้กรรมาธิการแต่ละคณะ อยู่ระหว่างรวบรวมประเด็นคำข้อแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญต่าง ๆ ให้เป็นไปตามกรอบที่กำหนดไว้ ซึ่งรวมถึงประเด็นการเมือง เรื่องที่มา ส.ส. ส.ว. และที่มานายกรัฐมนตรี ซึ่งเคยยืนยันตั้งแต่แรกว่า "ขอให้เป็นบันไดหนีไฟ" พร้อมสนับสนุนให้มีนายกรัฐมนตรีคนนอก หากเกิดกรณีประเทศเกิดวิกฤตจนหาทางออกไม่ได้ แต่ต้องกำหนดให้ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม จากการเสนอยื่นคำขอแก้ไขนี้ ไม่ว่าจะได้รับการพิจารณาแก้ไขหรือไม่แก้ไข หากกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มีเหตุผลก็ยอมรับ ทั้งนี้ ก็ต้องรับฟังสิ่งเสนอด้วยเช่นกัน


อลงกรณ์ยันสปช.เริ่มทำคำขอแก้รธน.ทางการพรุ่งนี้

นายอลงกรณ์ พลบุตร สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมาธิการกิจการ สปช. (วิป สปช.) เปิดเผยกับ สำนักข่าว INN ว่า ในวันพรุ่งนี้ (6 พ.ค.) จะเป็นวันเริ่มรวบรวม และสรุปข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เพื่อทำคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ และยอมรับว่าประเด็นการเมือง ยังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด เพราะเป็นตัวสะท้อนถึงความก้าวหน้าของประชาธิปไตย 

ทั้งนี้ นายอลงกรณ์ ยังกล่าวด้วยว่า เนื้อหาของ ร่าง รธน. ฉบับนี้ มีหลายเรื่องที่ดีมาก โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิพลเมือง ที่มีการปรับปรุง แก้ไข ดีกว่าทุกฉบับที่ผ่านมา ซึ่ง สปช. ส่วนใหญ่ ได้รับข้อมูลมาโดยตลอด จากการชี้แจงของกรรมาธิการยกร่างฯ ก็สนับสนุน ในแนวทางดังกล่าว โดยเฉพาะเรื่องสมัชชาคุณธรรม ซึ่งเชื่อว่าจะแก้ปัญหาได้ 

อย่างไรก็ตาม นายอลงกรณ์ ก็ได้ตำหนิ กลุ่มนักการเมือง ที่วิพากษ์วิจารณ์ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ที่มุ่งเฉพาะในเรื่องของการเข้าสู่อำนาจของนักการเมืองเพียงอย่างเดียว โดยไม่มองส่วนอื่น ที่ดีขึ้น และมีประโยชน์ ต่อชาติบ้านเมือง และพยายาม ตั้งข้อหาที่ไกลตัว ว่าจะเป็นการสืบทอดอำนาจของกลุ่มคน มาพยายามทำลายหลักการที่ดี เจตนารมณ์ที่ดี ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้


สปช.อำพล หนุน ทำประชามติ ร่าง รธน.

น.พ.อำพล จินดาวัฒนะ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ เปิดเผยว่า ควรจะทำประชามติเพื่อให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และประชาชนจะต้องทราบถึงเนื้อหาสาระทั้งหมด พร้อมกับต้องสร้างความเข้าใจอันดี สิ่งที่ประชาชนจะได้รับ เพราะรัฐธรรมนูญ เป็นของทุกคน

นอกจากนี้ น.พ.อำพล ยังกล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาเรื่องคำข้อแก้ไขเพิ่มเติมจากสมาชิก โดยจะต้องรวบรวมประเด็นทั้งหมดให้เป็นไปตาม ก่อนส่งไปยังคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ให้ทันกรอบระยะเวลา ที่จะครบกำหนดในวัน 25 พ.ค.นี้ ทั้งนี้ ได้แบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบในแต่ละประเด็นของร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ซึ่งส่วนตัวนั้น ได้ดูแลในส่วนของสมัชชาพลเมือง ชุมชน หลักการปฏิรูปประเทศ อย่างไรก็ตาม ในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมเพื่อหารือในเรื่องดังกล่าว ซึ่งคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนขึ้น


เอกชัยหวั่นรธน.ไม่ผ่านประชามติต้อมเริ่มนับ1ใหม่

พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กล่าวว่า ในกระบวนการทำประชามตินั้น จะต้องเตรียมการไว้ตั้งแต่แรก และถามความเห็นของประชาชนก่อนที่จะทำการร่างรัฐธรรมนูญ และ สปช. ก็ต้องเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเช่นเดียวกัน และรูปแบบของเวทีรับฟังความเห็นต้องไม่ใช่อย่างที่จัดในขณะนี้ ที่ร่างเสร็จแล้วถึงมาถามความเห็นของประชาชน ทั้งนี้ หากจะประชามติได้ต้องมี 2 วิธี คือ ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 ก่อน และต้องเขียนในรัฐธรรมนูญ ไว้ว่าให้มีการทำประชามติในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก่อนขึ้นทูลเกล้า หลังจากนั้น ให้เริ่มกระบวนการทำประชามติเพื่อถามความคิดเห็นของประชาชน ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 นั้น ก็ได้ทำประชามติถามประชาชน และส่วนใหญ่เห็นชอบกับรัฐธรรมนูญ เพราะเห็นว่า รับไปก่อนแก้ทีหลัง

นอกจากนี้ พล.อ.เอกชัย ระบุว่า หากทำประชามติครั้งนี้ อาจเกิดปัญหา เนื่องรัฐธรรมนูญจะไม่ผ่านทั้งฉบับได้ และจะทำให้กระบวนการทุกอย่างพังทั้งหมด เพียงเพราะบางประเด็นที่ประชาชนและพรรคการเมืองไม่เห็นด้วย ซึ่งรวมไปถึงระบบเลือกแบบสัดส่วนผสม

พล.อ.เอกชัย ยังเปิดเผยว่า ส่วนตัวได้ยื่นคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ 3 ประเด็น คือ เนื่องจาก ในร่างรัฐธรรมนูญ ได้มีการกำหนดเรื่องพลเมืองไว้ แต่ไม่มีกลไกการสร้างพลเมือง และนำตัวอย่างแบบประเทศเยอรมัน มาปรับใช้กับวัฒนธรรมคนไทยนั้น มองว่า พลเมืองประเทศไทย มีความแตกต่างกับประเทศเยอรมัน ที่รู้จักหน้าที่ของตน มีระเบียบวินัย ซึ่งในประเด็นนี้ จะต้องมีการสร้างกลไกที่ชัดเจนก่อนที่จะมีการกำหนดแบบนี้ นอกจากนี้ ยังเป็นประเด็นการถอนถอดนายกรัฐมนตรี ออกจากตำแหน่ง การจัดตั้งพรรครัฐบาล พรรคฝ่ายค้าน ที่ต้องมีจำนวน 1 ใน 5 ของจำนวนทั้งหมด อาจจะก่อให้พรรคการเมือง เกิดปัญหาในอนาคตได้ 

พร้อมกันนี้ ยังมีเรื่องการจัดตั้งองค์อิสระต่างๆ ขึ้นมาใหม่กว่า 10 องค์กร ที่จะต้องดูว่าตั้งขึ้นเกินความจำเป็น ซึ่งรวมไปถึงงบประมาณที่มากขึ้นว่าคุ้มค่าหรือไม่ และจะมีผลกระทบตามมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว ปี 2557 หรือไม่


ทีมกม.ปชป.หนุนประชามติรายมาตราที่เป็นปัญหา

นายวิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าฝ่ายกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 2 ได้เสนอแนะให้ทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2558 เฉพาะประเด็นรายมาตราที่มีปัญหามาก ว่า ตนคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีสิ่งที่ดีมากแต่ก็มีสิ่งที่เป็นปัญหาอยู่ เมื่อส่วนใหญ่ทั้ง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญนั้น ทราบดีว่าส่วนไหนมีปัญหา ซึ่งตนเองอยากให้มีการปรับแก้ในส่วนนี้ก่อน อาทิ อำนาจของ ส.ว. ที่มีมาก กลุ่มการเมืองที่ไม่ควรมี เรื่องมาตรา 181 มาตรา 182 ที่ควรเอาออก ที่มานายกรัฐมนตรี 

ทั้งนี้ เมื่อมีการปรับแก้ในส่วนที่เป็นปัญหาทั้งหมดแล้วจึงควรจะเปิดให้มีการทำประชามติทั้งฉบับน่าจะได้รับความชอบธรรมมากว่าประชามติเป็นรายมาตรา

นอกจากนี้ นายวิรัตน์ ยังระบุถึงกรณีที่มีการเสนอมีการทำประชามติ โดยเทียบรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550 ด้วยนั้น มองว่า การทำประชามติ ควรว่ากันด้วยเรื่องร่างฉบับปี 2558 ฉบับเดียว จะดีกว่า ส่วนในรัฐธรรมนูญฉบับปี 2550 ก็มีการทำประชามติ แต่ก็ถูกครหาว่า เป็นประชามติภายใต้บรรยากาศที่เป็นเผด็จการนั้น ดังนั้น หากต้องมีการทำประชามติ ทางคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ควรจะผ่อนปรนในส่วนนี้หรือไม่ นายวิรัตน์ กล่าวว่า เรื่องนี้ทุกฝ่ายต้องให้ความร่วมมือซึ่งกันและกัน เหตุผลที่ฝ่ายผู้มีอำนาจยังยืนยันให้มีการใช้คำสั่งพิเศษอยู่ ก็เพราะว่ายังมีขบวนการใต้ดินเคลื่อนไหวอยู่ ซึ่งหากมีการทำประชามติขึ้นมา คนกลุ่มนี้อย่างไรก็คงไม่ยอมรับในรัฐธรรมนูญ ซึ่งการจะทำให้ทุกคนยอมรับรัฐธรรมนูญนั้น ก็คงยาก แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูว่าจะทำอย่างไรให้สังคมโดยรวมและนานาชาติได้เข้าใจว่า รัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะเป็นรัฐธรรมนูญที่ดี และเป็นประชาธิปไตยที่สุดภายใต้สภาวการณ์ของประเทศไทย


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook