คดีแพรวา 9 ศพ ไขภาษากฎหมายจากคำพิพากษา

คดีแพรวา 9 ศพ ไขภาษากฎหมายจากคำพิพากษา

คดีแพรวา 9 ศพ ไขภาษากฎหมายจากคำพิพากษา
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ย้อนรอยคดีแพรวาสาวซีวิค 9 ศพ และไขภาษากฎหมายจากคำพิพากษาล่าสุดจากศาลฎีกา

ทันทีที่มีข่าวออกมาว่าศาลฎีกาไม่รับคำฟ้องในคดีสาวซีวิค 9 ศพ โลกโซเชียลก็เดือดยิ่งกว่าอุณหภูมิในบ้านเรา หลายๆ คนออกมาแสดงความไม่พอใจ บวกกับกระแสสังคมที่มีต่อเรื่องนี้ แม้แต่ศาลก็ถูกวิพากษ์วิจารณ์ไปด้วย

แต่เดี๋ยวก่อน...การไม่รับฟ้องในครั้งนี้คืออะไร และจะมีผลอย่างไรต่อคดีนี้ นั่นคือสิ่งที่หลายๆ คนอาจจะยังสงสัย ด้วยความกำกวมในภาษาข่าวและภาษากฎหมาย

หากจะคลายความสงสัยในเรื่องนี้ เราคงต้องไปถามผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายอย่าง ทนายวิรัช หวังปิติพาณิชย์ (@tanaiwirat)

ก่อนอื่นต้องย้อนกลับไปตั้งแต่คำพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นการพิพากษาด่านแรกของคดีดังแห่งปีที่สังคมจับตามอง

คำพิพากษาในตอนนั้นคือ จำเลยมีความผิดฐานขับขี่รถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นเสียชีวิต แต่จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อคดี จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 คือลงโทษจำคุก 2 ปี โดยให้รอลงอาญาเป็นเวลา 3 ปี พร้อมสั่งคุมประพฤติจำเลย 3 ปี และห้ามขับรถยนต์จนกว่าจะมีอายุครบ 25 ปีบริบูรณ์

สังคมจึงตั้งคำถามว่าทำไมโทษมันช่างเบาบางเสียเหลือเกินเมื่อเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น อย่างไรก็ตาม คดีความนี้ก็ได้ยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยการยื่นอุทธรณ์จากทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายโจทก์ต้องการให้เพิ่มโทษ พร้อมทั้งดำเนินการฟ้องร้องในทางแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายไปด้วย

ในขณะที่ฝ่ายจำเลยต้องการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาจากศาลชั้นต้น โดยต้องการจะยืนยันความบริสุทธิ์ของตัวเองและไม่ใช่การขับขี่โดยประมาท

ศาลอุทธรณ์ยังคงยืนยันตามศาลชั้นต้น คือจำเลยมีความผิดฐานขับขี่รถยนต์โดยประมาท ตัดสินให้เพิ่มระยะเวลาการรอลงอาญาเป็น 4 ปี และบำเพ็ญประโยชน์ 48 ชั่วโมง เป็นเวลารวม 4 ปี ส่วนโทษอื่นๆ ให้คงตามศาลชั้นต้น ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ฝ่ายจำเลยต้องการ

ดังนั้น ฝ่ายจำเลยจึงได้ยื่นคำร้องต่อไปในชั้นศาลฎีกา เพื่อพิสูจน์ว่าสาวซีวิคไม่ได้ขับรถโดยประมาท

จากข่าวล่าสุด ชัดเจนแล้วว่าศาลฎีกาไม่รับคำร้องของฝ่ายจำเลย ซึ่งถ้าจะต้องแปลไทยเป็นไทย ก็ขอสรุปง่ายๆ ว่าคำพิพากษายังมีผลคงเดิม คือสาวซีวิคมีความผิดฐานขับขี่รถยนต์โดยประมาท บทลงโทษที่ได้รับก็ยังคงเดิมไว้ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้ตัดสินไปก่อนหน้านี้ และยังส่งผลให้คดีทางแพ่งสามารถเดินหน้าต่อไปได้

ในแง่มุมของนักกฎหมาย คำสั่งของศาลฎีกาในลักษณะนี้อาจจะดูมีประโยชน์ต่อทางผู้เสียหายหรือฝ่ายโจทก์ แต่ที่จะมองข้ามไปไม่ได้ก็คือ การที่ฝ่ายจำเลยพยายามยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาอาจเป็นการยืดเวลาที่จะต้องชดใช้ค่าเสียหายให้กับผู้เสียหายออกไป เนื่องจากต้องหยุดกระบวนการทางแพ่งไว้ชั่วคราว เพื่อรอคำตัดสินทางอาญา

นับตั้งแต่วันแรกที่เกิดอุบัติเหตุจนถึงวันนี้ จะเห็นว่าฝ่ายจำเลยจะให้การปฏิเสธทุกข้อกล่าวหามาโดยตลอด แม้ต่อมาศาลจะพิพากษาว่าเธอมีความผิด ประเด็นในการต่อสู้คดีของสาวซีวิคก็ถูกเปลี่ยนมาเป็น "ประมาท" หรือ "ไม่ประมาท"

ทำไมประเด็นนี้จึงมีความสำคัญ?

เพราะคดีนี้ไม่ได้มีแค่ความผิดในทางอาญา ฝ่ายโจทก์ก็ได้มีการฟ้องร้องทางแพ่ง โดยเรียกค่าเสียหายเป็นจำนวนเงินถึง 120 ล้านบาท โดยคดีจะเข้าสู่กระบวนการทางแพ่งได้ก็ต่อเมื่อคดีทางอาญาสิ้นสุดลง ประเด็นสำคัญอยู่ตรงที่ ศาลแพ่งจะยึดคำพิพากษาของศาลอาญาเป็นหลัก

แนวทางการตัดสินในศาลแพ่งจึงไม่ได้อยู่ที่ผิดหรือไม่ผิด เพราะตัดสินไปแล้วด้วยศาลอาญา หากแต่อยู่ที่ "จะจ่ายค่าเสียหายอย่างไร" มากกว่า

เนื่องจากในตอนที่เกิดเหตุ จำเลยยังเป็นเยาวชน การเรียกร้องค่าเสียหายในทางแพ่งจึงไปตกอยู่กับผู้ปกครอง ในฐานะที่เป็นผู้อบรมเลี้ยงดู หรือในอีกทางหนึ่ง ศาลก็สามารถเรียกค่าเสียหายกับจำเลย (สาวซีวิค) ได้โดยตรง ซึ่งก็จะเป็นเรื่องของการบังคับคดีในลำดับถัดไป

ดังนั้น ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร ความเสียหายที่เกิดขึ้นจะได้รับการชดเชย (แต่จะช้าหรือเร็วก็เป็นอีกเรื่องนึง)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook