คปส. เรียกร้องรัฐ-ปชป.หยุดส่งสัญญาณจับกุมวิทยุชุมชน

คปส. เรียกร้องรัฐ-ปชป.หยุดส่งสัญญาณจับกุมวิทยุชุมชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 29 มกราคม ขอให้รัฐบาลหยุดส่งสัญญาณจับกุมวิทยุชุมชน โดยการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชน ถือเป็นหน้าที่ความรับผิดชอบหลักของรัฐในอันที่จะสนับสนุนให้ประชาชนได้รับสิทธิพื้นฐานตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด

การที่รัฐบาลประชาธิปัตย์ โดยนายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ ที่เข้ามากำกับดูแลเรื่องสื่อได้ออกมาส่งสัญญาณให้มีการจับกุมวิทยุชุมชนที่มีความคิดเห็นแตกต่างหรือคัดค้านการดำเนินงานของรัฐบาลคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) เห็นว่าเป็นท่าทีที่ผิดปกติของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐบาลนี้มีนโยบายสำคัญที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา ว่าจะสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการเผยแพร่ข้อมูลข่าสาร และจัดให้มีกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองให้สื่อมีเสรี ปราศจากการแทรกแซง และมีความรับผิดชอบกับสังคมตลอดจนจะดำเนินการตามแนวนโยบาานกฎหมายอย่างถูกต้องเป็นธรรม

ประการสำคัญคือในขณะนี้มีกลไกที่เป็นอิสระจากรัฐบาล ทำหน้าที่กำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ คือ อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ และ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) ซึ่งมีอำนาจตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 และอยู่ระหว่างดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์และออกใบอนุญาตชั่วคราวให้กับวิทยุชุมชนและกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่

ด้วยเหตุนี้รัฐบาลและหน่วยงานรัฐ เช่น กรมประชาสัมพันธ์ จึงไม่มีอำนาจหน้าที่กำกับดูแลการประกอบกิจการสื่อวิทยุและโทรทัศน์โดยตรง แต่เป็นหน้าที่ของกลไกอิสระตามกฎหมาย ซึ่งไม่ควรถูกแทรกแซงการทำหน้าที่จากทุกภาคส่วน คปส. จึงมีข้อเสนอต่อรัฐบาล

1. ให้รัฐบาลยุติการส่งสัญญาณจับกุมวิทยุชุมชน และมีความอดทน อดกลั้นต่อคำวิพากษ์วิจารณ์และการแสดงความคิดเห็นของประชาชนที่ออกมาคัดค้านการทำงานของรัฐบาลโดยให้คำนึงถึงสิทธิพื้นฐานในการสื่อสารของประชาชนภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย

2. ให้รัฐบาลเปิดโอกาสให้กลไกอิสระได้ทำหน้าที่โดยไม่ถูกแทรกแซงทางการเมืองหรือถูกใช้เป็นเครื่องมือยับยั้งฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลให้ไม่สามารถใช้สิทธิที่จะสื่อสารความเห็นที่แตกต่างได้ และกระบวนการในการกำกับดูแลวิทยุชุมชนที่เกิดขึ้นให้เป็นหน้าที่ของกลไกอิสระตามที่กฎหมายบัญญัติ

3. ให้รัฐบาลสนับสนุนการกำกับดูแลกันเองในกลุ่มวิทยุขนาดเล็ก โดยเปิดเวทีให้วิทยุชุมชน วิทยุธุรกิจท้องถิ่นทุกกลุ่มได้ร่วมกันกำหนดหลักเกณฑ์ กติกา จรรยาบรรณ ในการกำกับดูแลกันเอง หากรัฐบาลวิตกกังวลว่าจะมีการใช้สิทธิการสื่อสารที่กระทบต่อความมั่นคงของสังคมหรือเกินขอบเขตที่รัฐธรรมนูญรองรับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook