สศค.เผยศก.ไตรมาส4ปี51ติดลบ3-3.5%ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปี52 หวังแผนกระตุ้นทำให้ดีขึ้น แนะธปท.ลดค่าบาท

สศค.เผยศก.ไตรมาส4ปี51ติดลบ3-3.5%ต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกปี52 หวังแผนกระตุ้นทำให้ดีขึ้น แนะธปท.ลดค่าบาท

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
สศค.แถลงศก.ไตรมาสสุดท้าย ปี 2551 ติดลบ 3-3.5 % คาดต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรก ปี 2552 เพราะการส่งออก-บริโภค-ลงทุนภาคเอกชนทรุดหนัก ลุ้นแผนกระตุ้นช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น แนะธปท.ลดค่าเงินบาทหนุนส่งออก ชี้ปล่อยเนิ่นนานอาจเกิดขาดดุลแฝด สู่วิกฤตได้ สำนักงานเศรษฐกิจการคลังชี้ไตรมาส4ศก.ติดลบ3-3.5%

เมื่อวันที่ 29 มกราคม นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) แถลงภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนธันวาคม 2551 และไตรมาส 4 ปี 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในไตรมาส 4 ปี 2551 เศรษฐกิจไทยมีโอกาสติดลบตั้งแต่ 3% และมากที่สุดอาจถึง 3.5% ซึ่งอาจติดลบต่อไปจนถึงไตรมาสแรกปี 2552 เนื่องจากภาคการส่งออก ภาคการบริโภค และภาคการลงทุนเอกชนที่ชะลอตัวชัดเจน รวมถึงการเบิกจ่ายภาครัฐที่ล่าช้ากว่าปกติ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยเข้าสู่ภาวะถดถอยได้

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม 2551 ทาง สศค.ประเมินว่าปี 2551 เศรษฐกิจไทยจะขยายตัว 3% จากเดิมที่ประมาณการว่าจะขยายตัวได้ 5.1% เนื่องจากคาดว่าไตรมาสที่ 4 ปี 2551 เศรษฐกิจจะติดลบ 2-3% ต่อปี และในไตรมาสแรกปี 2552 อาจจะติดลบต่อเนื่อง ทำให้มีแนวโน้มที่เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวติดลบ

นายสมชัยกล่าวว่า โดยเฉพาะการส่งออกในไตรมาส 4 ที่หดตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจคู่ค้าที่ชะลอตัวลง ขณะเดียวกัน ยังได้รับผลกระทบจากการปิดสนามบินภายในประเทศ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกไตรมาส 4 อยู่ที่ 387,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน 10.6% ถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 7 ปี ขณะที่ปริมาณการส่งออก ลดลง 14.6% ส่วนมูลค่าการนำเข้าลดลง 2.1% ส่งผลให้ไตรมาส 4 ปี 2551 ขาดดุลการค้า 1.4 พันล้านเหรียญสหรัฐ

การบริโภค-การลงทุนเอกชนหดตัวอย่างหนัก

นายสมชัยกล่าวว่า ขณะที่ภาคการบริโภคขยายตัวเพียง 0.1% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 16.1% ส่วนการลงทุนเอกชน โดยเฉพาะหมวดภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ ลดลง 5.6% จากไตรมาสก่อนที่ขยายตัว 22.2% แสดงให้เห็นว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทำให้ผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ชะลอการลงทุน แม้ว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะเริ่มปรับตัวลดลงแล้วก็ตาม นอกจากนี้ ยังพบว่าในเดือนมกราคม 2552 อัตราเงินเฟ้อมีโอกาสติดลบได้เล็กน้อย เนื่องจากราคาน้ำมันในตลาดโลกลดลงต่อเนื่อง

นายสมชล่าวว่า การที่รัฐบาลกลับมาจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันตามปกติในเดือนกุมภาพันธ์ 2552 น่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อปรับตัวดีขึ้น และการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จะทำให้รัฐมีรายได้เพียงพอที่จะนำไปชดเชยเงินคงคลังที่ตั้งไว้ 19,000 ล้านบาท ในการจัดทำงบประมาณกลางปี ตลอดจนสามารถชดเชยรายได้ที่หายไป 130,000 ล้านบาทได้ ทั้งนี้ ปัจจุบันมีเงินคงคลังประมาณ 1 แสนล้านบาท

" ถ้าดูตอนนี้ คิดว่าจุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยอยู่ที่ไตรมาส 4 ปี 2551 แล้ว แต่ถ้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่รัฐบาลออกมาทำได้กลางๆ หรือผิดพลาด ก็จะทำให้จุดต่ำสุดของเศรษฐกิจไทยอยู่ในไตรมาส 1 ปี 2552 แต่ถ้าสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดี โดยเฉพาะการเร่งรัดการเบิกจ่ายภาครัฐได้ตามที่วางไว้ รวมทั้งการเร่งรัดการส่งอกอก การกระตุ้นการใช้จ่ายระดับรากหญ้า การช่วยเหลือธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมหรือเอสเอ็มอี การเร่งใช้งบฯค้างท่อของรัฐวิสาหกิจที่มีอยุ่ 2-3 แสนล้านบาท ก็น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยค่อยๆ ผงกหัวขึ้นได้ หรือเป็นในรูปแบบ V shape โดยจะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 1 ปีนี้ดีกว่าที่คาดการณ์ไว้ และจะค่อยๆ ปรับตัวดีขึ้นในไตรมาส 2 ที่งบกลางปีกว่าแสนล้านบาทจะเข้ามาในระบบพอดี นายสมชัยกล่าว

ยุธนาคารแห่งประเทศไทยทำค่าบาทอ่อนช่วยส่งออก

ผู้อำนวยการ สศค.กล่าวว่า จากการที่รัฐบาลจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยใช้ทั้งนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และนโยบายการคลังแบบขาดดุล ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ควรดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนที่แทรกแซงค่าเงินเพื่อให้ได้เปรียบทางการค้า(competitive devaluation) เพราะขณะนี้หลายประเทศดำเนินการเพื่อให้ค่าเงินอ่อนค่าใกล้เคียงกับประเทศอื่น ไม่เช่นนั้นน่าเป็นห่วงว่าอาจจะเกิดขาดดุลแฝดคือ การขาดดุลการคลัง และการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด ซึ่งจะเป็นภาระหนักสำหรับประเทศไทย และไม่ต้องการให้เกิดขึ้นเหมือนเมื่อปี 2540

ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบค่าเงินบาทกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคตั้งแต่ต้นปี 2552 พบว่าค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าเพียง 0.4% มาเลเซียอ่อนค่าลง 4.6% สิงคโปร์อ่อนค่าลง 4.5% อินโดนีเซียอ่อนค่าลง 2.9% และจีน อ่อนค่าลง 0.2% ดังนั้น ธปท. ควรจะใช้เครื่องมือที่มีอยู่ ในการเข้าไปดูแลอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อให้ไทยสามารถแ่งขันในการส่งออกได้ดีขึ้น

ปัจจุบันในต่างประเทศเริ่มมีการขาดดุลแฝดกันบ้างแล้ว เพราะได้รับผลจากเศรษฐกิจโลกจนต้องใช้มาตรการต่างๆ เข้ามาดูแลเศรษฐกิจประเทศ โดยในส่วนของประเทศไทยพบว่าดุลบัญชีเดินสะพัดเริ่มขาดดุล แต่ยังอยู่ในปริมาณเล็กน้อย แต่ก็ต้องระวังและจับตาดูให้ดี เพราะหากปล่อยขาดดุลบัญชีเดินสะพัดมากๆ ในระยะเวลายาวนาน เมื่อรวมกับการขาดดุลการคลังแล้ว จะทำให้ประเทศเกิดวิกฤตได้ ซึ่งไม่อยากเห็นเหมือนวิกฤตปี 2540 นายสมชัยกล่าว

มหาวิทยาลัยหอการค้าชี้ศก.ไตรมาส1-2ติดลบ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า การอัดฉีดงบประมาณกลางปีและมาตรการด้านภาษี รวมวงเงินกว่า 3 แสนล้านบาท ซึ่งเงินน่าจะสู่ระบบหลังเดือนมีนาคม น่าจะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวในไตรมาส 3 ของปีนี้ ทั้งนี้ จากปัจจัยลบที่กำลังเผชิญอยู่จะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาส 1-2 ติดลบ โดยไตรมาสแรกติดลบ ประมาณ 3-4% ไตรมาส 2 ติดลบ 0-1% ขึ้นมาเป็นบวกในไตรมาส 3 โดยขยายตัวประมาณ 1-2 % และไตรมาส 4 ขยายตัว 3-4% และทั้งปีขยายตัว 2%

นายธนวรรธน์กล่าวว่า สำหรับปัจจัยที่ยังต้องจับตาคือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ปัญหาการเมืองไทยและการพิจารณางบประมาณปี 2553 รวมถึงปัญหาความผันผวนของราคาน้ำมัน ส่วนการเดินทางไปโรดโชว์ต่างประเทศของนายกรัฐมนตรีถือเป็นสิ่งที่ดี จะสร้างความเชื่อมั่นและดึงนักลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาลงทุนในไทยได้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook