บวรศักดิ์แจงสปช.เร่งส่งคำขอแก้รธน.ภายในเย็นนี้

บวรศักดิ์แจงสปช.เร่งส่งคำขอแก้รธน.ภายในเย็นนี้

บวรศักดิ์แจงสปช.เร่งส่งคำขอแก้รธน.ภายในเย็นนี้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ แจง ที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ เร่ง ส่งคำขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญภายใน 16.30 น. วันนี้ ขณะที่ 'เลิศรัตน์' ไม่เชื่อ สปช. ล็อบบี้คว่ำร่างรธน. ชี้เป็นร่างที่ดี ด้าน สปช. ปฏิรูปการเมืองยื่นคำขอแก้ไขให้นายกฯ มาจาก ส.ส.-ส.ว.มาจากเลือกตั้งทั้งหมด

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ชี้แจงต่อที่ประชุมสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ว่า ในวันนี้จะเป็นวันสุดท้ายที่ สปช. จะต้องส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ภายในเวลา 16.30 น. โดยนำส่งได้ที่ฝ่ายเลขาฯ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่ง 1 คำขอแก้ไขเพิ่มเติม จะต้องมีผู้เสนอเพียง 1 คน หากมากกว่านั้น อาจผิดข้อกฎหมาย และจะต้องมีผู้รับรองคำขอแก้ไข 25 คน โดยตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน เป็นต้นไป จะเชิญตัวแทนจากแต่ละคำขอกลุ่มละ 5 คน เข้าชี้แจงรายละเอียดต่อกรรมาธิการยกร่าง ฯ กลุ่มละ 3 ชั่วโมง

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดโอกาสให้ สปช. สามารถส่งคำขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ ได้ทั้งหมด 8 คำขอแก้ไข


เลิศรัตน์ไม่เชื่อสปช.ล็อบบี้คว่ำร่างรธน.ชี้เป็นร่างที่ดี

พล.อ.เลิศรัตน์ รัตนวานิช โฆษกคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ยังไม่มี สปช. ส่งคำขอแก้ไขร่าง รธน. คาดว่า จะมีการส่งในวันนี้ (25 พ.ค.) ซึ่งครบกำหนดตามกรอบเวลา

ขณะที่กระแสข่าวที่สมาชิก สปช. บางกลุ่มขู่จะลงมติคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนเองไม่ทราบและไม่ได้ยินเรื่องนี้ ส่วนตัวมองว่า ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องคว่ำร่าง รธน. เพราะถือว่าเป็นร่างที่ดีอยู่แล้ว แต่ถ้าหากจะให้เห็นด้วยทั้งหมดคงเป็นไปไม่ได้ เพราะตนเองก็ไม่เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์ ซึ่งอาจมีความเห็นต่างบ้างเล็กน้อย และต้องดูเจตนารมณ์ของผู้ร่างด้วย มั่นใจไม่มีการคว่ำร่าง รธน. แน่นอน ทั้งนี้ กมธ.ยกร่างจะมีการประชุมในวันที่ 26, 28, 29 พ.ค. เพื่อดูข้อเสนอในการแก้ไขก่อนจะตกลงกันว่าทาง กมธ. จะพิจารณาแบบ รายมาตราแก้ไข หรือจะแยกตามหมวดเพราะว่าสามารถทำได้ทั้ง 2 วิธี


สปช.ปฏิรูปการเมืองยื่นคำขอแก้รธน.ให้นายกมาจากสส.

ศ.ดร.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ ประธานคณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมือง กล่าวว่า คณะกรรมาธิการปฏิรูปการเมืองและคณะกรรมาธิการปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ได้เสนอประเด็นที่ขอยื่นแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญ โดยเสนอให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เท่านั้น โดยไม่ต้องมีการบัญญัติไว้ในบทเฉพาะกาลถึงนายกรัฐมนตรีคนนอกหากเกิดวิกฤตการเมือง เพราะได้ระบุให้ปลัดกระทรวงรักษาราชการแทนทันทีหากมีการยุบสภา พร้อมยืนยันว่าระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสมจะทำให้รัฐบาลอ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศจึงเสนอให้ใช้ระบบสัดส่วนคู่ขนาน โดยกำหนดให้รัฐสภา ประกอบด้วย ส.ส.จำนวน 500 คน ส.ส.เขต 400 คน ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ส่วนสมาชิกวุฒิสภาให้มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด ตลอดจนให้ กกต. เป็นผู้กำกับและจัดการเลือกตั้ง รวมถึงมีอำนาจแจกใบเหลือง-แดง แก่ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมการจัดการเลือกตั้ง (กจต.)



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook