UNเผยมี2,600โรฮีนจาลอยลำ-เจ้ากรมทร.ย้ำไม่เคยไล่ยิง

UNเผยมี2,600โรฮีนจาลอยลำ-เจ้ากรมทร.ย้ำไม่เคยไล่ยิง

UNเผยมี2,600โรฮีนจาลอยลำ-เจ้ากรมทร.ย้ำไม่เคยไล่ยิง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

UNHCR - IOM ประเมินยังมีโรฮินจา กว่า 2,600 คน ลอยค้างอยู่บนเรืออพยพกลางทะเล พร้อมเตือน ตัวเลขผู้เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและความอดอยากสูงขึ้น ขณะที่ เจ้ากรมกิจการทหารเรือ ตั้งศูนย์ปฏิบัติการลาดตระเวนทางทะเลยันไม่เคยไล่ยิง

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ หรือ UNHCR  และ องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานแห่งสหประชาชาติหรือ IOM ได้เปิดเผยว่า ยังมีชาวโรฮินจา กว่า 2,600 อยู่บนเรือลอยค้างกลางทะเลอันดามัน และอ่าวเบงกอล จากการประมาณการโดยสหประชาชาติ  ซึ่งเรือผู้อพยพชาวโรฮินจา ที่ต้องลอยค้างกลางทะเลอยู่จำนวนมาก ทั้งที่มาจากบังกลาเทศ และ เมียนมาร์ เนื่องจาก ได้ถูกปราบปรามกดดัน ในการลักลอบเข้าน่านน้ำ ตั้งแต่ต้นเดือน พ.ค. จนทำให้ขบวนการค้าต้องปล่อยพวกเขาทิ้งไว้กลางทะเล 

ขณะที่ วิเวียนตัน โฆษกหญิงของ UNHCR ประจำกรุงเทพ เผยว่า ตัวเลขสำหรับผู้ที่ยังคงเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและความอดอยากในทะเลเป็นจำนวนมาก โดยตอนนี้ สิ่งที่รู้ก็คือ ยอดชาวโรฮินจา ที่เข้าลี้ภัยชั่วคราว ในอินโดนีเซีย มาเลเซีย ไทย และที่ ชาวโรฮินจาใน เมียนมา ได้มีเพียงการประมาณการจำนวนตัวเลขอยู่

นายเบอร์นาร์ด เคอร์บลัท ผู้แทนสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ ประจำฟิลิปปินส์ เปิดเผยระหว่างการแถลงการประชุมว่าด้วยการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งจัดโดยไอโอเอ็น และยูเอ็นเอชซีอาร์ ว่าจากการประเมินยังคงมีผู้อพยพทางเรือที่ถูกขบวนการค้ามนุษย์ทิ้งอยู่กลางทะเล 

ซึ่งจำเป็นต้องเพิ่มการค้นหาและเพิ่มทรัพยากรในการช่วยเหลือผู้อพยพ โดยหวังว่าการประชุมนานาชาติในไทยวันที่ 29 พ.ค.2558 จะนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างแท้จริง


บังกลาเทศวางแผนย้ายค่ายชาวโรฮินจาไปเกาะทางใต้

สำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า ผู้อำนวยการศูนย์ผู้อพยพบังกลาเทศกล่าวว่า รัฐบาลบังกลาเทศ เริ่มแผนการย้ายผู้อพยพไปทางเกาะฮาติยาในอ่าวเบงกอล ซึ่ง นายกรัฐมนตรีหญิง เชค ฮาสิน่า ก็สนับสนุนแผนการดังกล่าว ปัจจุบันบังกลาเทศเป็นที่อยู่ของชาวโรฮินจา ราว 32,000 คน ตามที่บันทึกไว้ โดยมีค่ายพักพิงสองแห่งอยู่ที่เมืองคอกซ์บาซาร์ใกล้ชายแดนเมียนมาร์


เจ้ากรมทร.ย้ำไทยไม่เคยไล่ยิงโรฮีนจา

พลเรือโทจุมพล ลุมพิกานนท์ เจ้ากรมกิจการทหารเรือ เปิดเผย สำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่าในการประชุมแก้ไขปัญหาการโยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติในมหาสมุทรอินเดีย ซึ่งไทยจะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมในวันที่ 29 พ.ค.นี้ ว่า ในส่วนของกรมกิจการทหารเรือเอง ถือเป็นหน่วยปฏิบัติส่วนหน้าในทางทะเล ซึ่งได้มีการจัดกำลังออกลาดตระเวนในน่านน้ำเพื่อสำรวจและป้องกันการลักลอบเข้ามาของกลุ่มคนหรือขบวนการค้ามนุษย์ในลักษณะดังกล่าวมาโดยตลอด และล่าสุดได้มีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการลาดตระเวนทางทะเลและตั้งศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษย์ธรรมผู้โยกย้ายถิ่นฐานแบบไม่ปกติ ในมหาสมุทรเดีย โดยปฏิบัติการต่างๆ ได้มีการรายงานให้นายกรัฐมนตรีและรัฐบาลรับทราบมาตลอด เพื่อนำไปประชุมด้วย

พร้อมกันนี้ เจ้ากรมกิจการทหารเรือ ยังกล่าวด้วยว่าที่ผ่านทหารเรือไม่เคยใช้อาวุธปืนไล่ยิงกลุ่มโรฮีนจาตามที่สื่อต่างประเทศมีการเสนอข่าวแต่อย่างใด โดยขั้นตอนการปฏิบัติทุกอย่างมีการบันทึกภาพและปฏิบัติกับชนทุกกลุ่มตามหลักสากล หากมีการตรวจสอบก็มีหลักฐานและคำชี้แจงชัดเจน ดังนั้นไม่ว่าใครจะมากล่าวหาอย่างไรก็พร้อมชี้แจงไปตามข้อเท็จจริง


'บรรพต'ย้ำรัฐบาลจริงใจแก้ปัญหาโรฮีนจา

พ.อ.บรรพต พูลเพียร โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงการแก้ปัญหาผู้โยกย้ายถิ่นฐานโดยเฉพาะชาวโรฮีนจา ว่า เป็นหน้าที่หลักของ กอ.รมน. ตั้งแต่เริ่มมี พ.ร.บ.กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 และมีการรายงานแนวโน้มสถานการณ์ตามห้วงระยะเวลาให้รัฐบาลมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นมาร่วม 10 ปีแล้ว และเพิ่งเป็นข่าวเมื่อมีการตรวจพบหลุมศพที่เขาแก้ว และมีการโยงเข้ากับเรื่องการค้ามนุษย์ ซึ่งรัฐบาลได้แสดงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา โดยได้มีการขยายผลจับกุมเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองและเครือข่ายที่เกี่ยวข้อง และที่ผ่านมาได้มีการออกหมายจับและมีการมอบตัวอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่และนานาชาติให้ความสนใจ ซึ่งในวันที่ 29 พ.ค. นี้ ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม เพื่อหารือถึงมาตรการและแนวทางในการแก้ไข โดยมีต่างประเทศเข้าร่วม 20 ประเทศ

อย่างไรก็ตาม พ.อ.บรรพต ยืนยันว่า ประเทศไทยไม่ได้เป็นประเทศจุดหมายปลายทางที่ผู้โยกย้ายถิ่นฐานมีความประสงค์จะเดินทางไป


เอกคาดสรุปคดีค้ามนุษย์โรฮีนจาปลาย มิ.ย.

พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงความคืนหน้าคดีค้ามนุษย์โรฮีนจา โดยขณะนี้มีการออกหมายจับทั้งหมด ยังอยู่ที่ 77 หมาย และสามารถควบคุมตัวได้แล้ว 48 ราย ซึ่งล่าสุด ยังไม่มีการขอหมายจับเพิ่มเติมแต่อย่างใด


ส่วนการรวบรวมสำนวนคดีผู้ต้องหาทั้งหมด พนักงานสอบสวนยังคงทยอยสอบสวนต่อเนื่อง ยึดตามกรอบระยะเวลาของกฎหมาย โดยคาดว่าจะสามารถส่งอัยการได้ประมาณ ปลายเดือนมิถุนายนนี้แน่นอน

อย่างไรก็ตาม พล.ต.อ.เอก กล่าวอีกว่า นโยบายปิดกั้นเส้นทางชายแดน เพื่อป้องกันการค้ามนุษย์โรฮีนจา ได้ดำเนินการตามแผนอย่างมีประสิทธิภาพ หลังจากที่ตั้งด่านสกัด สามารถปิดเส้นทางเข้า- ออกประเทศไทยได้เป็นอย่างดี


สภามาเลย์ผ่านญัตติอภิปรายเรื่องหลุมศพ-ค่ายอพยพ

สำนักข่าวเบอร์นามา รายงานว่า นายอิสมาอิล โมฮาหมัด ซาอีด รองประธานสภากล่าวว่า สภาผู้แทนราษฎรผ่านญัตติอภิปรายกรณีพบหลุมศพหมู่และค่ายผู้อพยพของเครือข่ายค้ามนุษย์ในรัฐปะลิส ติดชายแดนไทยแล้ว ซึ่งประเด็นดังกล่าวเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับของสภาฉบับที่ 18 (1) ว่าด้วยเรื่องซึ่งเป็นที่สนใจของสาธารณชนและกรณีเร่งด่วน โดยกำหนดการอภิปรายเป็นเวลา 1 ชั่วโมง นับตั้งแต่เวลา 16.30 น. ขณะที่ กระทรวงมหาดไทยมีหน้าที่ชี้แจงต่อกรณีที่มีค่ายกักกันผู้อพยพหลายแห่งอยู่ในดินแดนของมาเลเซียโดยไม่ทราบได้อย่างไร ซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วนเพราะกังวลต่อชะตากรรมของผู้อพยพหลายร้อยคนและความมั่นคงตามแนวชายแดนมาเลเซีย 


อธิบดีปค.เผยไร้ชื่อโรฮีนจาจดทะเบียนสมาคม

นายกฤษฎา บุญราช อธิบดีกรมการปกครอง เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งตรวจสอบสมาคมโรฮีนจาจดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ ว่าในฐานะที่อธิบดีกรมการปกครอง เป็นนายทะเบียนสมาคมในเขตกรุงเทพฯ ได้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อมูลนิธิ หรือสมาคมต่าง ๆ ที่จดทะเบียนในเขตกรุงเทพฯ แล้ว ไม่ปรากฏว่ามีมูลนิธิหรือสมาคมใดที่มีคำว่า "โรฮีนจา" อยู่ในสารบบ ส่วนจะมีการไปจดทะเบียนที่ต่างจังหวัดหรือไม่นั้น ยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ ซึ่งได้สั่งการด่วนให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดในฐานะนายทะเบียนสมาคมต่างจังหวัด เร่งตรวจสอบดูว่ามีมูลนิธิหรือสมาคมใดที่ยื่นจดทะเบียนภายใต้ชื่อ "โรฮีนจา" หรือไม่ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน จึงจะทราบรายละเอียดที่ชัดเจนอีกครั้ง

ทางด้าน กรรมการสมาคมโรฮิงญาแห่งประเทศไทย รายหนึ่ง เปิดเผยกับสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการยื่นเรื่องขอจดทะเบียนให้ถูกต้องตามกฎหมาย


สภาอาเซียนจวกพม่าออกกม.ควบคุมประชากรชี้ล้างเผ่าฯ

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า บรรดาสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน หรือ เอพีเอชอาร์ เปิดเผยว่า การผ่านกฎหมาย ควบคุมประชากร ฉบับใหม่ของรัฐบาลเมียนมา เป็นอีกหนึ่งมาตรการในนโยบายจัดการและล้างเผ่าพันธุ์ชนกลุ่มน้อยชาวโรฮีนจานอกจากนี้ กฎหมายควบคุมประชากรน่าจะถูกนำมาบังคับใช้โดยมีเป้าหมายเพื่อจำกัดการขยายเผ่าพันธุ์ของชนกลุ่มน้อย และประธานาธิบดีเต็งเส่ง ลงนามบังคับใช้เป็นกฎหมายแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งจะทำให้รัฐบาลมีอำนาจในการควบคุมการห้ามมีลูกเป็นเวลา3ปีในเขตพื้นที่ที่กำหนด    

โดย นาย ชาร์ลส์ ซานติเอโก้ สมาชิกรัฐสภามาเลเซียในฐานะประธานเอพีเอชอาร์กล่าวว่า กฎหมายนี้ของเมียนมาซึ่งเป็นรากฐานของการเลือกปฏิบัติ และมีความชัดเจนอยู่แล้วว่ารัฐบาลเมียนมาร์จ้องดำเนินการต่อชนกลุ่มน้อยในประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งชาวโรฮีนจา และชาวมุสลิม ขณะเดียวกัน รัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชนยังเตือนว่า กฎหมายควบคุมประชากรของเมียนมายังจำกัดสิทธิในการขยายเผ่าพันธุ์และส่งเสริมการใช้ความรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยในเมียนมาโดยเฉพาะชาวโรฮีนจา อีกทั้งกฎหมายควบคุมประชากรยังละเมิดสิทธิของผู้หญิงในการเลือกที่จะมีบุตรเมื่อใดก็ได้ ดังนั้นกฎหมายฉบับนี้ของเมียนมาร์ ถือว่าขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ


มาเลย์รวบ12ตร.เร่งสอบคาดเอี่ยวแคมป์ค้ามนุษย์

สำนักข่าวบีบีซี รายงาน ทางการมาเลเซีย กำลังสอบสวนเจ้าหน้าที่ตำรวจ 12 นาย ที่สงสัยว่าเกี่ยวข้องกับค่ายพักเหยื่อค้ามนุษย์ ในพื้นที่ห่างไกลทางภาคเหนือของประเทศ โดย นายวัน จูไนดี้ ตวนกู จาฟฟาร์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ทางการได้ควบคุมตัวเจ้าหน้าที่ 4 นาย มาตั้งแต่ช่วงต้นปี ทั้งนี้ การสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐเป็นผลสืบเนื่องมาจากการค้นพบหลุมศพ 139 หลุม ในบริเวณติดเขตชายแดน ซึ่งเป็นเส้นทางที่ใช้ลักลอบขนแรงงานจากเมียนมา และบังกลาเทศ เข้ามายังมาเลเซีย อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ 8 นาย ที่มีการสอบสวนเพิ่มถูกควบคุมตัว โดยคณะต่อต้านการคอร์รัปชั่นของมาเลเซีย ในข้อหากระทำผิดกฎหมายเกี่ยวกับการค้ามนุษย์  

ทั้งนี้ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยของมาเลเซีย กล่าวด้วยว่า การจับกุมมีขึ้นในภาคเหนือ จึงต้องตรวจสอบว่า ผู้ที่ถูกควบคุมตัวมีการเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับค่ายพักดังกล่าวหรือไม่อย่างไร



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook