เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อน-กรมชลยันช่วยปชช.สู้ภัยแล้ง

เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อน-กรมชลยันช่วยปชช.สู้ภัยแล้ง

เร่งทำฝนหลวงเติมน้ำเขื่อน-กรมชลยันช่วยปชช.สู้ภัยแล้ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กรมฝนหลวง แจงผลการดำเนินงาน ระบุฝนตก 90% ของการขึ้นบิน แต่ยังไม่เพียงพอต่อการเพาะปลูก เร่งทำเพิ่ม เพื่อเติมน้ำในเขื่อน ขณะที่ กรมชลฯ รับก.ค.ฝนกตกน้อยกว่าที่คาด ยัน เร่งช่วยเหลือ ปชช. สู้ภัยแล้ง

นายพรชัย ทองยิ่งสกุล รองอธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า ขณะนี้มีหน่วยปฏิบัติการ 9 หน่วย คือ จังหวัดพิษณุโลก จังหวัดขอนแก่น จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดอุบลราชธานี จังหวัดกาญจนบุรี จังหวัดสระบุรี และอำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยในความทุกข์ยากของราษฎรที่ขาดแคลนน้ำในการอุปโภคบริโภค และการเพาะปลูก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เปิดศูนย์ฝนหลวงพิเศษขึ้น 2 ศูนย์ คือ ศูนย์ฝนหลวงพิเศษจังหวัดเชียงใหม่ และศูนย์ฝนหลวงพิเศษจังหวัดนครสวรรค์ เริ่มปฏิบัติการตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2558 เพื่อบรรเทาสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ และเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อน 4 เขื่อน คือ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ และเขื่อนแควน้อยบำรุงแดน ทั้งนี้ ตั้งแต่เริ่มตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง เมื่อ 1 มีนาคม - 30 มิถุนายน 2558 มีการปฏิบัติการฝนหลวง ทำให้มีฝนตกคิดเป็น 92% ซึ่งขึ้นปฏิบัติการ 3,101 เที่ยวบิน มีรายงานฝนตกรวม 70 จังหวัดที่ร้องขอมายังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จากการสำรวจนี้พบว่าการปฏิบัติการฝนหลวงนี้สำเร็จพอสมควร โดยมีวันฝนตกเฉลี่ย 95% ของวันที่ขึ้นบิน แต่ก็ยังมีปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอที่จะเริ่มต้นเพาะปลูกพืชนาปีในระยะนี้ อย่างไรก็ตามกรมฝนหลวงและการบินเกษตรยังคงเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัย และเร่งเติมน้ำในเขื่อนต่อไป


กรมชลฯรับก.ค.ฝนกตกน้อยยันเร่งช่วยปชช.สู้ภัยแล้ง

นายเลิศวิโรจน์ โกวัฒนะ อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากรายงานของกรมอุตุนิยมวิทยา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีความเห็นตรงกันว่าในเดือน กรกฎาคมนี้จะมีฝนตกน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้ โดยฝนจะเริ่มตกชุกในเดือนสิงหาคมเป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานยังคงแผนบริหารจัดการน้ำด้วยการส่งน้ำให้เกษตรกรในลุ่มเจ้าพระยาไว้ในอัตรา 28 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจะทำให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภค และพื้นที่เพาะปลูก 3.44 ล้านไร่

ทั้งนี้ คาดว่าเมื่อเริ่มฤดูแล้ง ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2558 - 30 เมษายน 2559 จะมีน้ำใน 4 เขื่อนหลัก คือ เขือนภูมิพล เขือนสิริกิติ์ เขือนแควน้อยบำรุงแดน และเขือนป่าสักชลสิทธิ์ หากกรณีเลวร้ายมีฝนตกน้อยที่สุด จะเหลือน้ำต้นทุนทั้งหมด 3,251 ล้านลูกบาศก์เมตร หากกรณีที่มีฝนตกใกล้เคียงกับปี 2530 ที่มีฝนตกน้อยที่สุดจะมีน้ำรวม 3,733 ล้านลูกบาศก์เมตร และกรณีฝนตกต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10% ตามคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา จะมีน้ำรวม 3,900 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปริมาณน้ำทั้งหมดนี้จะเพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคไปจนถึงเดือนเมษายน 2559

นอกจากนี้ นายเลิศวิโรจน์ เปิดเผยว่า จากปริมาณน้ำที่มีอยู่น้อยขณะนี้ รัฐบาลได้มีมาตรการช่วยเหลือ 
โดยได้รับความร่วมมือจากฝ่ายปกครองและฝ่ายความมั่นคง เรื่องการดูแลรอบเวรการส่งน้ำ เพื่อลดผลกระทบในพื้นที่ดอนซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงในการรับน้ำ รวมทั้งการเจาะน้ำบาดาลมาช่วย ซึ่งรัฐบาลได้อนุมัติการสร้างขุดเจาะ จำนวน 880 บ่อสามารถดำเนินการได้วันละ 20 บ่อ แต่จากการลงที่ตรวจสอบก็พบว่ายังต้องเพิ่มบ่อน้ำบาดาลเป็น 1,034 บ่อ ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากครม. แล้วเมื่อวันที่ 30 มิถุนายนที่ผ่านมา สำหรับมาตรการจ้างเกษตรกร ในลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อขุดลอกคลอง กำจัดวัชพืชอาคารชลประทาน ได้เริ่มมาตรการดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา และจะดำเนินการจ้างเกษตรกรจนถึงช่วงที่คาดว่าฝนจะตก หรือประมาณเดือนสิงหาคม ด้วยงบประมาณของกรมชลประทาน 64 ล้านบาท เชื่อว่าสามารถจ้างงานเกษตรกรได้ 224,737 คนต่อวัน ทั้งนี้ หลังจากสิ้นฤดูฝนกรมชลประทานเตรียมใช้มาตรการจ้างงานเกษตรกรต่ออีก โดยใช้งบประมาณจากเงินกู้ในส่วนแผนบริหารจัดการน้ำประมาณ 1,600 ล้านบาท


ข่าวที่เกี่ยวข้อง ::::::

สุรินทร์แล้งยกจังหวัด -เฒ่านครพนมเครียดยิงตัวตาย

http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=628923


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook