คลอง13น้ำแห้งถนนทรุด2ม.สุรินทร์แล้งหนักรอบ50ปี

คลอง13น้ำแห้งถนนทรุด2ม.สุรินทร์แล้งหนักรอบ50ปี

คลอง13น้ำแห้งถนนทรุด2ม.สุรินทร์แล้งหนักรอบ50ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

พิษภัยแล้ง! น้ำในคลองรพีพัฒน์ คลอง 13 ลดฮวบติดก้นคลองทำตลิ่งทรุด ถนนทรุดตัวเกือบทั้งเส้น ชาวบ้านเดือดร้อนหนัก - สุรินทร์แล้งหนักสุดในรอบ 50 ปี น้ำไม่พอทำการเกษตร

ได้รับแจ้งว่า ได้เกิดทรุดตัวถนนคันคลองระพีพัฒน์หนองแค-ตู้ยามปากท่อ ในช่วงเส้นทางไป อ.หนองเสือ หมายเลข 3034 ห่างจากวัดลำบัว ประมาณ 500 เมตร ลึกประมาณ 1-2 เมตร โดยถนนทรุดตัวระยะประมาณ 150 เมตร รถไม่สามารถผ่านได้ โดยทั้งนี้เกิดจากน้ำในคลองแห้งสนิทจากภัยแล้ง จึงทำให้ตลิ่งทรุดดังกล่าว

นอกจากนี้ ทาง ตร.สภ.หนองเสือ แจ้งเพิ่มเติมว่า ถนนเลียบคลอง 13 ขนาน ตั้งแต่ อ.หนองเสือ ไปถึง อ.หนองแค สระบุรี เกิดถนนทรุดตัวด้วยเช่นกัน โดยทรุดแทบจะตลอดทั้งเส้นทาง โดยสาเหตุคาดว่าจากระดับน้ำในคลองสิบสามลดต่ำลงมาก จนทำให้ตลิ่งทรุดตัวเช่นกัน

 

สุรินทร์แล้งหนักรอบ50ปีน้ำไม่พอทำเกษตร

รายรายงานข่าวแจ้งว่า จ.สุรินทร์ ยังคงเกิดสภาวะแห้งแล้งอย่างรุนแรงหนักที่สุดในรอบหลายสิบปี เนื่องจากเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงยาวนาน ทำให้แหล่งน้ำต่างๆ มีปริมาณน้ำน้อยมากไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่ทำนา จำนวน 3,329,919 ไร่ เริ่มได้รับผลกระทบหนักเป็นบริเวณกว้าง เพราะขาดน้ำหล่อเลี้ยงต้นข้าว และกำลังยืนต้นตาย และบางพื้นที่พบว่าต้นข้าวยืนต้นแห้งตายแล้วเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในพื้นที่ อ.ศีขรภูมิ จ.สุรินทร์ ที่พบว่าชาวนาต่างได้รับความเดือนร้อน ต้องหนีตายด้วยการปลูกต้นมันสำปะหลังตามคันนา เพื่อหารายได้มายังชีพแทน และคาดว่าอีกประมาณ 2 สัปดาห์ นับแต่วันนี้ไป ถ้ายังไม่มีฝนตกลงมา นาข้าวคงจะต้องแห้งตายไม่เหลือแม้แต่ต้นเดียวอย่างแน่นอน

สำหรับ จ.สุรินทร์ มีพื้นที่เสี่ยงภัยแล้ง ซึ่งเป็นที่ประสบภัยแล้งซ้ำซากจำนวน17 อำเภอ 120 ตำบล 540 หมู่บ้าน ปัจจุบันจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน(ภัยแล้ง) จำนวน 1 อำเภอ คือ อำเภอท่าตูม จำนวน 2 ตำบล 15 หมู่บ้าน (คิดเป็นร้อยละ9.09 ของพื้นที่ทั้งหมดของจังหวัด) ราษฎรที่ได้รับความเดือดร้อนจากการขาดแคลนน้ำอุปโภค-บริโภค จำนวน 2,225 ครัวเรือน (ร้อยละ 10.55 ของครัวเรือนทั้งหมด) 8,941 คน ขณะนี้สถานการณ์ยังไม่สิ้นสุด

ขณะที่นายนิรันดร์ กัลยาณมิตร ผู้ว่าราชการจังหวัดสุรินทร์ สั่งกำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นติดตามสถานการณ์ และเร่งการช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด โดยจังหวัดสุรินทร์มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมดของจังหวัด ประมาณ 3,879,443 ไร่หรือ ร้อยละ 76.40 ของพื้นที่ของพื้นที่จังหวัด

 

โคราชน้ำแห้งขอดเหลือใช้ไม่เกิน1เดือน

นครราชสีมา (5 ก.ค. 58) นางนลินรัตน์ แก้วป้องปก ผู้ใหญ่บ้านอ้อ หมู่ 6 ต.กำปัง อ.โนนไทย จ.นครราชสีมา ได้พาผู้สื่อข่าวมาดูสภาพน้ำลำเชียงไกร ซึ่งเป็นลำน้ำที่ไหลมาจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร อ.ด่านขุนทด จ.นครราชสีมา ปัจจุบันมีสภาพแห้งขอด จนไม่สามารถสูบขึ้นมาใช้ทำนาได้เหมือนปีที่ผ่านมา ส่งผลให้นาข้าวของชาวบ้านอ้อ ที่ตั้งอยู่ริมน้ำลำเชียงไกร และมีการหว่านข้าวไว้แล้วกว่า 400 ไร่ กำลังจะยืนต้นตาย เนื่องจากไม่มีน้ำหล่อเลี้ยง และระยะนี้ไม่มีฝนตกลงมาตามฤดูกาลที่คาดหวังไว้ ขณะเดียวกันบริเวณฝายบ้านอ้อ ที่มีการกักเก็บน้ำไว้สำหรับใช้ทำน้ำประปาของหลายหมู่บ้าน ใน ต.กำปัง อ.โนนไทย ก็มีปริมาณน้ำเหลือน้อยลงทุกวัน ซึ่งคาดกว่าจะสามารถใช้ทำน้ำประปาได้ไม่เกิน 1 เดือน อีกทั้งบริเวณนี้ก็เป็นดินเค็มจึงไม่สามารถเจาะน้ำบาดาลมาทำน้ำประปาได้ หากภายในเดือนกรกฎาคม นี้ ไม่มีฝนตกลงมาเติมน้ำในฝาย ก็จะทำให้ชาวบ้านขาดแคลนน้ำใช้ ได้รับความเดือดร้อนกว่า 500 หลังคาเรือน

 

จนท.ขึ้นบินทำฝนหลวงต่อเนื่อง

นายวิทยา อัปมาโถ รองหัวหน้าศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน นำเจ้าหน้าที่ขึ้นบินทำฝนหลวงในพื้นที่ทำการเกษตร และบริเวณเหนือเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เพื่อเติมน้ำในเขื่อนตลอดตั้งแต่ช่วงเช้าที่ผ่านมา ตามแผนปฏิบัติการในการแก้ไขสถานการณ์ภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะนี้ โดยเฉพาะในเจต จ.ขอนแก่น, มหาสารคาม,ร้อยเอ็ด, สกลนคร และอุดรธานี

นายวิทยา กล่าวว่า การปฏิบัติงานจะยังคงเน้นหนักไปในพื้นที่ภาคการเกษตรและการเติมน้ำเข้าเขื่อนหลักในภาคอีสาน โดยทำการบินด้วยเครื่องฝนหลวง 2 ลำ ในแต่ละวัน วันละ 2-4 เที่ยวบิน ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศและการรวมตัวของกลุ่มก้อนเมฆ โดยเฉพาะในช่วงเช้าและช่วงเย็นที่สภาพอากาศเอื้ออำนวย แต่ถึงอย่างไรก็ตามสภาพอากาศที่ร้อนจัด และอากาศแห้ง รวมทั้งไม่มีการรวมตัวของกลุ่มก้อนเมฆ ยังคงเป็นอุปสรรคที่สำคัญต่อการทำฝนหลวงในระยะนี้อย่างมาก


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook