กต.-สธ.ประชุมสาธารณสุขผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

กต.-สธ.ประชุมสาธารณสุขผู้โยกย้ายถิ่นฐาน

กต.-สธ.ประชุมสาธารณสุขผู้โยกย้ายถิ่นฐาน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กต.ร่วม สธ. จัดประชุมระดับภูมิภาคด้านสาธารณสุขของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน เพื่อสร้างความร่วมมือในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าว

กระทรวงต่างประเทศร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคด้านสาธารณสุขของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ระหว่างวันที่ 27 - 28 ส.ค. นี้ ทั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ พัฒนาความร่วมมือ และเรียนรู้ผลสำเร็จ ปัญหา อุปสรรคการดำเนินงานบริการสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศในภูมิภาคอื่นๆ อาทิ ยุโรป สเปน และสวิสเซอร์แลนด์ นอกจากนี้ มีองค์กรระหว่างประเทศร่วมด้วย ทั้ง องค์การระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐาน องค์การอนามัยโลก กองทุนโลก เพื่อร่วมเป็นเครือข่าย สร้างความร่วมมือในการดูแลสุขภาพแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตาม

โดย นายแพทย์สุริยะ วงศ์คงคาเทพ  รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวระหว่างเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการระดับภูมิภาคด้านสาธารณสุขของผู้โยกย้ายถิ่นฐาน ว่า ประเทศไทยเริ่มดำเนินการสร้างหลักประกันสุขภาพในกลุ่มแรงงานต่างด้าวที่อยู่นอกระบบประกันสังคม และได้จำหน่ายบัตรประกันสุขภาพสำหรับแรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามแรงงาน ตั้งแต่ปี 2547 และในปี 2557 รัฐบาลมีนโยบายตั้งศูนย์จดทะเบียนแรงงานต่างด้าวแบบเบ็ดเสร็จ เพื่อขึ้นทะเบียนผู้หลบหนีเข้าเมือง ให้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สัญชาติ และให้ได้รับประกันสุขภาพ รวมทั้งป้องกันการค้ามนุษย์ โดยผลดำเนินการล่าสุด เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่า สามารถจำหน่ายบัตรประกันสุขภาพทั้งสิ้น 1,750,899 คน เป็นกัมพูชา 609,785 คน เมียนมา 994,355 คน และลาว 194,365 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2550 เพียง 7 แสนคน

ทั้งนี้ ผลดีจากการที่แรงงานต่างด้าวและครอบครัวได้รับการประกันสุขภาพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันควบคุมโรคของประเทศด้วย อีกทั้งยังลดช่องว่างการเข้าถึงบริการสุขภาพและความร่วมมือในการป้องกันโรค นอกจากนี้ ยังได้อบรมคนต่างด้าวให้ทำหน้าที่เป็นพนักงานและอาสาสมัครสาธารณสุข รวมทั้งเป็นล่ามในโรงพยาบาล ทั้งนี้ ได้มีการให้ความรู้การส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในกลุ่มผู้ป่วยต่างด้าวด้วย และได้ขยายความร่วมมือกับภาคประชาสังคม องค์กรเอกชน อาทิ มูลนิธิรักษ์ไทย ในการดำเนินงานควบคุมโรคเอดส์ วัณโรค และมาลาเรีย


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook