จากภาพถ่ายสะเทือนอารมณ์ สู่พลังโซเชียล ช่วยชีวิตสองพ่อลูกผู้ลี้ภัย

จากภาพถ่ายสะเทือนอารมณ์ สู่พลังโซเชียล ช่วยชีวิตสองพ่อลูกผู้ลี้ภัย

จากภาพถ่ายสะเทือนอารมณ์ สู่พลังโซเชียล ช่วยชีวิตสองพ่อลูกผู้ลี้ภัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

(29 ส.ค.58) สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานข่าวว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายกิสเซอร์ ซิโมนาร์สัน นักกิจกรรมจากกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์เผยแพร่ภาพถ่ายของชายคนหนึ่งที่ยืนขายปากกาในกรุงเบรุต ประเทศเลบานอน พร้อมกับอุ้มลูกสาวที่กำลังหลับ นายซิโมนาร์สันเผยว่า "ภาพนี้น่าเศร้าใจอย่างมาก วิธีถือปากกานั้น ประหนึ่งนี้คือทุกสิ่งในโลกที่เขามี"

จนกระทั่งไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง มีผู้คนได้เผยแพร่พร้อมช่วยเหลือพ่อลูกในภาพ แต่ด้วยความไม่รู้ว่าชายคนนี้คือใคร เขาจึงใช้พลังของสื่อสังคมออนไลน์เข้าช่วยเหลือ โดยใช้แฮชแท็กบายเพนส (‪#‎BuyPens‬) เพื่อค้นหาชายในภาพ

ด้วยความร่วมมือมหาศาล สองวันให้หลังนายซิโมนาร์สันประกาศทางทวิตเตอร์ส่วนตัวว่า ในที่สุดก็พบกับนายอับดุล ชายในภาพดังกล่าว


(ที่มาภาพ: Twitter-Gissur Simonarson)

นายอับดุล ฮาริม อัตตาร์ คุณพ่อลูกสองและผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย วัย 35 ปีนั้นรู้สึกตกใจอย่างมาก ที่ตนถูกตามหาตัวในครั้งนี้ โดยหนึ่งในนักกิจกรรมที่เข้าร่วมช่วยเหลือการค้นหาครั้งนี้อย่างนางคาโรล มาโลฟ อาสาสมัครช่วยเหลือผู้ลี้ภัยในเลบานอน ได้ทวิตข้อความเล่าความน่ารักของรีม ลูกสาววัย 4 ขวบของอับดุลเมื่อครั้งพบกันว่า "รีมเดินเขามาหาฉัน กอดฉัน แล้วก็ขอถ่ายรูปเซลฟี่ด้วย ช่างเป็นเด็กที่น่ารักอะไรเช่นนี้"

(ที่มาภาพ: Twitter-Carol Malouf)

ด้านนายซิโมนาร์สันได้ตั้งเว็บไซต์ #BuyPens เพื่อระดมทุนบริจาคโดยตั้งเป้าไว้ที่ 5,000 ดอลล่าร์ (ประมาณ 172,000 บาท) เพื่อช่วยเหลือครอบครัวของอับดุล โดยภายในเวลาครึ่งชั่วโมงยอดบริจาคก็ทะลุเป้า และภายในเวลา 24 ชั่วโมง เงินบริจาคจากประชาชน 3,000 คน รวมกันอยู่ที่ 80,000 ดอลล่าร์สหรัฐฯ (2,868,640 บาท)

หลังทราบข่าวของยอดบริจาค คุณพ่อลูกสาวรายนี้ถึงกับดีใจมากจนเริ่มร้องไห้ และกล่าวขอบคุณความกรุณาของผู้คนที่ร่วมบริจาค ก่อนเผยว่าด้วยเงินก้อนนี้ เขาสามารถที่จะส่งลูก ๆ เข้าเรียนได้เสียที โดยเขาจะยังนำเงินไปช่วยเหลือผู้ลี้ภัยรายอื่นด้วย

(ที่มาภาพ: Twitter-Gissur Simonarson)

ทั้งนี้ นายอับดุลเคยทำงานที่โรงงานผลิตช็อกโกแลตในซีเรียก่อนเกิดสงครามกลางเมือง เขาเป็นหนึ่งในผู้ลี้ภัยที่ลงทะเบียน 4 ล้านคน ที่ต่อสู้ชีวิตในประเทศตุรกี, จอร์แดน, และเลบานอน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook