ฟื้นกองทุนหมู่บ้านฯ หรือแค่หว่านเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ?

ฟื้นกองทุนหมู่บ้านฯ หรือแค่หว่านเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ?

ฟื้นกองทุนหมู่บ้านฯ หรือแค่หว่านเงิน กระตุ้นเศรษฐกิจ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

วันพรุ่งนี้ 1 ก.ย. 2558 จะมีการนำเสนอมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ตามรายงานข่าวบอกว่าจะเป็นมาตรการเป็นเพ็กเกจ และหนึ่งในมาตรการนั้นก็คือ กองทุนหมู่บ้าน ฯ

โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเปิดแนวทางการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น จากปากของทีมเศรษฐกิจยืนยันจะเพิ่มทุนประมาณ 4 หมื่นล้านใส่ลง ไปในกองทุนหมู่บ้าน โดยจะมีการปรับวิธีการให้กู้ยืม ที่จูงใจยิ่งนัก คือ ให้กู้ยืมโดยไม่มีดอกเบี้ย หรือดอกเบี้ย 0 %

ซึ่งเหตุผลหลักก็คือ เพื่อเร่งกระตุ้นกำลังซื้อโดยเร็ว เป็นการปูพื้นสำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ทั้งการส่งเสริมเอสเอ็มอี ฟื้นหนึ่งผลิตภัณฑ์หนึ่งหมู่บ้าน หรือที่รู้จักกันดีในนาม OTOP ในขณะการลงทุนโครงสร้างฟื้นฐานในโรงการขนาดใหญ่ก็เร่งดำเนินการเพื่อให้เป็นรูปธรรมโดยเร็ว ปฏิรูประบบภาษีเพื่อปรับโครงสร้างภาคการผลิตของประเทศ

อย่างไรก็ตามในเรื่องรายละเอียดของมาตรการที่จะออกมากระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องติดตามความชัดเจนในวันพรุ่งนี้ แต่ที่เป็นประเด็นน่าสนใจ อย่างที่ยกมาในตอนแรกก็คือ การหยิบกองทุนหมู่บ้าน ฯ ขึ้นมา โหมกระแสอีกครั้ง หวังเป็นกองหน้าทะลวงฝ่าปัญหาเศรษฐกิจไทย ในครั้งนี้ให้ได้

และในทันทีที่มีการพูดถึงบทบาทของกองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งก็คือ ผลงานของ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ที่นำมาใช้ในครั้งแรกในการเข้ามารับบทบาทในสมัยรัฐบาลพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร เมื่อปี 2544 ทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. ก็ออกมาขานรับแนวคิดทันที

โดยทางพล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาแย้มว่า ทางนายกประยุทธ์ ได้ติดตามการดำเนินงานของกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติอย่างใกล้ชิด เพราะท่านนายกฯ เชื่อว่า กองทุนหมู่บ้านฯ ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติให้เพิ่มทุนระยะที่สามไปแล้วนั้น จะเป็นโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้แต่ละชุมชนได้ใช้เงินทุนเพื่อการพัฒนาชุมชน สร้างงาน สร้างรายได้ และวางรากฐานชุมชนให้เข็มแข็งตามทิศทางที่เหมาะสม

"อย่างไรก็ตามท่านนายกฯ ยังมีความเป็นห่วงในเรื่องการนำเงินไปใช้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืน และสร้างภาระในการหาเงินมาชำระคืนกองทุน เช่นใช้จ่ายซื้อสินค้าของใช้ฟุ่มเฟือย จึงอยากให้พี่น้องประชาชนวางแผนการใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด นอกจากนี้กรรมการหมู่บ้านยังเป็นกลไกที่สำคัญ เพื่อให้กองทุนมีความยั่งยืนและเกิดประโยชน์ในการพัฒนา หากคณะกรรมการหมู่บ้านซึ่งดูแลกองทุนฯ มีความซื่อสัตย์สุจริต โปร่งใส ตรวจสอบได้ ยึดมั่นในหลักการเพื่อส่วนรวม เชื่อว่าทุกกองทุนจะเป็นส่วนเสริมเศรษฐกิจให้แข็งแรงในระดับชุมชนได้"

คำถามก็คือ กองทุนหมู่บ้าน จะเป็นกลไกสำคัญที่ผลักดันฟื้นเศรษฐกิจไทย วางรากฐานการพัฒนาเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือ ...?

อย่างที่เกรินมาในตอนต้นว่า กองทุนหมู่บ้าน เป็นนโยบาย ที่ถูกนำมาใช้ด้วยการผลักดันของ ดร.สมคิด ในสมัยรัฐบาลทักษิณ เมื่อเดือน กรกฎาคม 2544 ด้วยการจัดตั้งกองทุนขึ้นมาทั่วประเทศ ถึง 7 หมื่นกว่าหมู่บ้าน หรือ 7 หมื่นกว่า กองทุน และใช้เงินมากกกว่า 7 หมื่นล้านบาท

มาถึงวันนี้ กองทุนหมู่บ้านผ่านมา 14 ปี เต็ม ย่างเข้าปี ที่15 และกำลังจะถูกยกให้เป็นหัวหอกในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจของประเทศอีกครั้ง

ถามว่า ระยะเวลา 14 ปี กองทุนหมู่บ้านประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด...? มีงานวิจัย มีงานศึกษาทั้งระดับนักศึกษา ระดับนักวิจัยนักวิชาการมากมาย...ให้ศึกษาบทสรุปในเรื่องนี้ แต่ที่จะยกขึ้นเป็นข้อสังเกตคือ
เป้าหมายที่ต้องการสร้างความเข้มแข็งของชุมนุนของสังคมรากฐาน สร้างอาชีพที่ยั่งยืน ....เป้าหมายนี้จริงหรือไม่ ?

เรายังจำได้หรือไม่ว่าในช่วงการเข้ามาบริหารในช่วงแรกของรัฐบาล คสช. นโยบายหนึ่งที่เป็นนโยบายเร่งด่วน คือ เร่งปราบปรามแก้ไขปัญหาการทวงหนี้นอกระบบอย่างไม่เป็นธรรม เราได้เห็นข่าวปรากฏในสื่อมากมายถึงการกระทำอันโหดร้ายในการติดตามหนี้นอกระบบ มีการใช้กำลังทำร้ายร่างกายอย่างรุนแรง ถึงขั้นรัฐบาล คสช.ต้องเร่งปราบปรามเป็นการเร่งด่วน .....

ดังนั้น บทบาทของกองทุนหมู่บ้านฯ ที่ต้องการวางรากฐานสร้างความเข้มแข็งของเศรษฐกิจชุมชน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ที่ยั้งยืน แก้ปัญหาความยากจน แก้หนี้นอกระบบ ....ผ่านไปกว่า 13-14 ปี ทำไม ปัญหาหนี้นอกระบบยังมีจำนวนมาก และรุนแรงขึ้น...

ในช่วงต้นรัฐบาล คสช. คงจำกันได้ว่า ต้องเร่งให้ ศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงการคลัง เข้ามาเร่งจักการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบอย่างเร่งด่วน .....

ดังนั้น ต่อแนวคิด การผลักดัน กองทุนหมู่บ้านมาเป็นหัวหอกในการกระตุ้นเศรษฐกิจ...และปรับเงื่อนไขการกู้ โดยไม่มีต้นทุนทางการเงินที่เป็นดอกเบี้ย มาตรการนี้แท้จริงคือการปั๊มเงินใส่ลงในมือชาวบ้าน เพื่อเร่งให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย เพื่อเร่งฟื้นกำลังซื้อ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

แต่คำถาม คือ คุ้มหรือไม่กับระยะยาว ปัญหา จะวนเวียนกลับมาอีกหรือไม่ การกู้แม้ไม่มีดอกเบี้ย แต่ก็เป็นเงินกู้ เป็นภาระที่ต้องชำระคืน หาก กู้ไปแล้วไม่สามารถต่อยอดสร้างรายได้กลับ ใช่หรือไม่ที่ต้องไปกู้นอกระบบเพื่อมาชำระหนี้ ปัญหาก็จะวนเวียนกลับมาอีกไม่รู้จบสิ้น

ดังนั้น น่าสนใจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในวันพรุ่งนี้ นอกจากการเติมเงินใส่มือชาวบ้าน แล้ว มีอะไรที่จะบ่งบอกได้ว่า จะมีการต่อยอดเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ เพื่อความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง หรือ จะเป็นเพียง การหว่านเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่สร้างปัญหาในอนาคตต่อไป..ต้องติดตามกันต่อครับ.....

เปลวไฟน้อย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook