จับตาดรีมทีมกู้วิกฤติการบินไทย หรือแค่ตอบแทนรายการคุณขอมา

จับตาดรีมทีมกู้วิกฤติการบินไทย หรือแค่ตอบแทนรายการคุณขอมา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ถ้าเปรียบ การบินไทย เป็นนักมวยตอนนี้ คงส่ออาการโคม่าไม่น้อย ที่โดนคู่ต่อสู้ ฮุกซ้าย จากพิษสภาพเศรษฐกิจโลก ต่อด้วยฮุกขวา จากการบริหารงานภายใน สารพัดเรื่องที่ผิดพลาด ตามด้วยตุ๊ยท้อง จากกลุ่มผู้ชุมนุมปิดสนามบิน ลงไปนอนให้กรรมการนับ 8 แต่ก็แค่ซวนเซ ยังไม่ถึงกับนับ 10 หรือ ถึงขนาดต้องโยนผ้าขาว ชนิดแพ้แบบหมดรูป

ปัญหาถังแตกของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ปูดขึ้นหลังจาก กระทรวงการคลังออกมาแฉตัวเลขว่านับตั้งแต่ปลายปี 51 การบินไทยได้มาเจรจาขอกู้เงินจากสถาบันการเงินของรัฐ 10,000 ล้านบาท หลังมีปัญหาการขาดสภาพคล่องรุนแรง โดยเห็นได้จากผลประกอบการมีปัญหาขาดทุนต่อเนื่องตั้งแต่ไตรมาส 2 และ 3 ของปี 51

และคาดว่าไตรมาส 4 จะมีผลกำไร แต่ต้องเจอปัญหากลุ่มผู้ชุมนุมปิดสนามบิน ทำให้รายได้ไม่เข้าเป้า โดยที่ผ่านมาคาดการณ์ว่า ผลประกอบการของการบินไทย ในปี 51 จะขาดทุนกว่า 10,000 ล้านบาท ถือว่าเป็นปีที่ขาดทุนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ทีเดียว

ส่วนปี 52 การบินไทย ยังมีหนี้ที่ครบกำหนดชำระอีก 14,000 ล้านบาท ทำให้การบินไทยต้องเจรจาขอกู้กับสถาบันการเงินในประเทศเพิ่มเติมอีก เพื่อนำมาชำระหนี้ก้อนนี้ ซึ่งมีคนวงในกระทรวงการคลัง คาดการณ์กันว่า การบินไทย ต้องกู้เงินสดมาหมุนเวียนไม่ต่ำกว่า 60,000-70,000 ล้านบาท แต่

พล.อ.อ.ณรงค์ศักดิ์ สังขพงศ์ รักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนปัจจุบัน ยืนยันว่า มีความจำเป็นที่ต้องกู้เงิน 34,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินระยะยาว เพื่อทดแทนเงินกู้ระยะสั้น 15,000 ล้านบาท และกู้เงินเสริมสภาพคล่องในปีนี้อีกไม่เกิน 19,000 ล้านบาท

ประเด็นการขาดทุนเป็นประวัติการณ์ครั้งแรกของการบินไทยครั้งนี้ มีหลายฝ่ายออกมาวิเคราะห์ว่านอกจากปัญหาที่ทุกคนรู้อยู่แล้ว เช่น เศรษฐกิจโลกถดถอย รวมทั้งปัญหาความวุ่นวายในบ้านเรา จนทำให้ต้องปิดสนามบิน แต่ก็ไม่น่าสนใจเท่ากับข้อกล่าวหา ที่ว่า ฝ่ายบริหารการบินไทยเอง บริหารงานผิดพลาด ส่งผลร้ายให้เกิดวิกฤติการบินไทย

เรื่องนี้ผู้บริหารระดับสูงในการบินไทย ยอมรับว่า มาจากการบริหารงานของฝ่ายบริหารการบินไทย โดยเฉพาะแผนการจัดหาเครื่องบิน ที่เกินกว่าความจำเป็น รวมทั้งการทำประกันความเสี่ยงราคาน้ำมันไว้ล่วงหน้าราคาที่สูงมาก 140 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล เป็นเวลานานเกินกว่าที่ธุรกิจอื่น ๆ ทำไว้ โดยทำไว้ตั้งแต่เดือนก.ค. 51 ถึง มี.ค. 52 เป็นเวลากว่า 10 เดือน ส่วนนี้ทำให้การบินไทยขาดทุนเป็นเงินจำนวนมาก เพราะหลังจากนั้นไม่นานราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง

ก่อนนี้สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ได้ทำหนังสือถึงประธานกรรมการการบินไทย เพื่อขอทราบผลการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-300 จำนวน 8 ลำ ซึ่ง ครม. มีมติให้จัดหาโดยวิธีการเช่า แต่การบินไทยกลับดำเนินการขัดมติ ครม. ในการจัดหาเครื่องบินทั้ง 8 ลำ โดยจัดเช่าซื้อเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-300 ทั้ง 8 ลำ จากบริษัท แอร์บัส อินดัสตรีส์ โดยวางเงินมัดจำล่วงหน้าประมาณ 13 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 442 ล้านบาท และได้จ่ายเงินค่างวดให้บริษัทแอร์บัสไปแล้ว 2 งวด เป็นเงินกว่า 60 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท เท่ากับว่ามีการจ่ายเงินมัดจำและจ่ายเงินล่วงหน้าไปแล้วกว่า 70 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 2,400 ล้านบาท

เรืออากาศโทอภินันทน์ สุมนะเศรณี กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ การบินไทย ในขณะนั้น ระบุว่า สาเหตุที่ขอทบทวนมติ ครม. ในการจัดหาเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-300 เพราะการบินไทยเห็นว่าการจัดหาโดยวิธีการซื้อหรือเช่าซื้อ น่าจะมีความเหมาะสมมากกว่าการเช่ามาดำเนินงานตามมติครม.เด้อหรือเช่าซื้อ จะส่งผลให้การบินไทยเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องบิน จึงมีความคุ้มค่าในการลงทุนมากกว่าการเช่าเครื่องบินมาให้บริการ และยืนยันว่าเครื่องบินแอร์บัส เอ 330-300 ไม่ได้เป็นเครื่องบินที่ล้าสมัยหรือเครื่องบินตกรุ่น

ส่วน ทนง พิทยะ อดีตประธานกรรมการบริษัทการบินไทย ซึ่งถือเป็นยุคที่อนุมัติซื้อเครื่องบินมากที่สุด โดยตั้งแต่ปี 45-47 ได้อนุมัติซื้อเครื่องบินไปกว่า 39 ลำ มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท และยังเป็นแคนดิเดตประธาน บอร์ดการบินไทยคนใหม่ เพราะถือเป็นผู้คร่ำหวอดในการบินไทย ระบุถึงปัญหาการขาดทุนของการบินไทยว่า เกิดจาก 3 ปัจจัย คือ 1. ราคาน้ำมัน 2. การปิดสนามบิน และ 3. การบริหารงานที่มีจุดอ่อน โดยเป็นบริษัทเดียวในโลกที่ราคาตั๋วโดยสารที่ซื้อผ่านระบบอินเทอร์เน็ต มีราคาสูงกว่าตั๋วโดยสารที่ซื้อผ่านบริษัททัวร์

ทนง ยังระบุว่า การบินไทยยังไม่ปรับตัวตามสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป โดยยังใช้ระบบการบริหารงานแบบเดิม เกิดความผิดพลาดในการวางแผนโดยเฉพาะการซื้อขายน้ำมันล่วงหน้า ส่งผลให้ขาดทุนในส่วนนี้ 5-6 พันล้านบาท แต่เชื่อว่าการบินไทยยังไม่ได้เสียหายมาก เพราะยังมีเครดิตจากสินทรัพย์มูลค่าหลายหมื่นล้านบาท ส่วนการจัดซื้อเครื่องบินในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครื่องบินแอร์บัสเอ 340-500 ไม่ได้เป็นสาเหตุที่ทำให้การบินไทยประสบปัญหา

เปรียบเหมือนไปสร้างโรงงานให้เขา แต่ไปบริหารไม่เป็นแล้วเจ๊ง จะมาว่าผมซื้อไม่ดี แล้วทำไมคนอื่นอยู่รอดได้ ทำไมสิงคโปร์แอร์ไลนส์บริหารเป็นสายการบินอันดับหนึ่งของโลกได้ สมัยที่อยู่กันมา 3-4 ปี กำไรหมื่นกว่าล้านบาททุกปี แผนที่จะทำให้การบินไทยเป็นอันดับหนึ่งของโลกมีความเป็นไปได้ตลอดเวลา ปัญหาการบินไทยที่ชัดเจนไม่ได้ร้ายแรง ทำกำไรหมื่นกว่าล้านบาทมาหลายปี นอกจากนั้นไม่เคยขาดทุนเลย การบินไทยสะสมสินทรัพย์ไว้จำนวนมาก หากจำเป็นต้องกู้สัก 20,000 ล้านบาท ไม่ได้เป็นเรื่องยาก เพราะหนี้สินต่อทุนไม่ได้สูงมาก ทนง กล่าว

สมใจนึก เองตระกูล อดีตกรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย กลับมองว่า ปัญหาขาดสภาพคล่องไม่ได้มีสาเหตุจากผู้บริหารขาดประสิทธิภาพ แต่เป็นเพราะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และการปิดล้อมสนามบิน ทำให้การบินไทยได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าสายการบินอื่น อีก 3-4 เดือนข้างหน้าการบินไทยน่าจะกลับมามีกำไร เพราะแนวโน้มนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในประเทศเริ่มเพิ่มขึ้น

ผมยืนยันว่าการบินไทยไม่ได้ห่วยแตก เพียงแต่ที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก ปัญหานี้กระทบต่อการดำเนินงานของสายการบินทุกราย ผมคิดว่ารัฐบาลต้องให้ความช่วยเหลือ การบินไทยไม่ใช่ว่าจะขาดทุนตลอดไป เดือนนี้ขาดทุน เดือนหน้าอาจมีกำไร

ถ้าถามว่า ตอนนี้การบินไทย มีช่องทางอะไรที่เป็นทางออกให้กลับมาเป็นสายการบินแห่งชาติ ที่รุ่งเรืองอีกครั้ง กูรู ทนง เสนอแนวทางไขปัญหาว่า การบินไทยต้องลดต้นทุนการดำเนินงาน และจัดเครือข่ายการบินให้ได้ผลที่สุด รวมทั้งการปรับปรุงด้านบริการ ซึ่งปัจจุบันเริ่มแย่ลง เพราะไปลดมาตรฐานการให้บริการ ทำให้ผู้โดยสารชั้นหนึ่ง และชั้นธุรกิจลดลง และการบินไทยต้องเพิ่มสัดส่วนการขายตั๋วผ่านระบบอินเทอร์เน็ตให้ได้ เพื่อลดต้นทุนการดำเนินงาน และทุกสายการบินในโลกให้ความสำคัญเรื่องนี้ โดยการบินไทยต้องขายตั๋วชั้นธุรกิจและชั้นหนึ่งผ่านระบบ อินเทอร์เน็ตให้ได้ และลดการขายตั๋วผ่านเอเย่นต์

ส่วน อัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒระเทศ หรือ ทีดีอาร์ไอ ชี้ทางรอดการบินไทยว่า ต้องให้บอร์ดชุดปัจจุบันลาออกยกชุด เนื่องจากต้องรับผิดชอบร่วมกันจากการบริหารที่ผิดพลาด เพื่อเปิดทางให้คนใหม่เข้ามาแก้ปัญหา แต่หากรายใดที่เคยมีการท้วงติง บางโครงการเป็นลายลักษณ์อักษร สามารถแต่งตั้งกลับมาภายหลังได้ และให้ประกาศยกเลิกบินฟรี แม้เงินส่วนนี้ไม่มาก แต่เป็นผลทางจิตวิทยา ที่แสดงให้ประชาชนเห็นว่า พนักงาน บอร์ดการบินไทย และรัฐบาล มีความตั้งใจจริงในการแก้ปัญหาการบินไทยอย่างครบวงจร

ตอนนี้ต้องติดตามว่า แผนการเพิ่มรายได้ ลดรายจ่ายของการบินไทยที่ประกาศออกมาในเบื้องต้น ทั้งฝ่ายบริหารจะลดค่ายานพาหนะ ฝ่ายบริหารระดับสูง คือ ระดับผู้อำนวยการใหญ่ขึ้นไป 50% เป็นเวลา 6 เดือน ขณะที่พนักงานจะลดค่าทำงานล่วงเวลา ค่าใช้จ่ายในส่วนของการขนส่งสินค้า ค่าใช้จ่ายในส่วนที่พักลูกเรือในต่างประเทศ คาดลดได้ถึง 2,900 ล้านบาท และแผนที่จะหันมาจำหน่ายตั๋วโดยสารตรง เลิกจำหน่ายผ่านเอเย่นต์ ที่ต้องโดนหักหัวคิวถึง 7% ส่วนแผนการฟื้นฟูทั้งหมดจะประกาศอย่างเป็นทางการในการประชุมบอร์ดการบินไทยวันที่ 11 ก.พ. นี้

ส่วนงานเร่งด่วนในตอนนี้ คือ บีบบอร์ดชุดเก่าให้ลาออก แล้วตั้งประธานบอร์ดและบอร์ดชุดใหม่ รวมทั้งการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่การบินไทยที่เป็นมืออาชีพจริง ๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีการโผรายชื่อเช่น วิชิต สุรพงษ์ชัย จากธนาคารไทยพาณิชย์ พิชัย ชุณหวชิร จาก บริษัท ปตท. อำพน กิตติอำพน เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นายบัณฑูร สุภัควณิช ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง สุรชัย ธารสิทธิ์พงษ์ ปลัดกระทรวงคมนาคม

สำหรับประธานบอร์ดการบินไทย เบื้องต้นได้เจรจาที่จะให้ ทนง พิทยะ เข้ามาเป็นประธานอีกครั้ง เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นผู้ที่รู้เรื่องการบินไทยดีที่สุด หากจะให้ปัญหาของการบินไทยคลี่คลาย ก็น่าจะหาผู้ที่เคยทำงานให้กับการบินไทยจริง ๆ เข้ามา ซึ่ง ทนง เอง ก็ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่ามีการทาบทามจริง โดยส่วนตัวไม่อยากกลับไปดำรงตำแหน่งอีก แต่ถ้าจำเป็นก็ต้องทำเพื่อส่วนรวม

งานนี้ถือว่า เป็นการวัดฝีมือของ โสภณ ซารัมย์ รมว. คมนาคม และ ศรีสุข จันทรางศุ ประธานคณะกรรมการฟื้นฟูและพัฒนาโครงข่ายขนส่งทางอากาศ เพื่อให้ประเทศเป็นศูนย์กลางการบินพลเรือน และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในภูมิภาคว่า จะพลิกสถานการณ์จากลบเป็นบวกให้การบินไทยได้อย่างไร

อีกไม่นาน ก็จะได้เห็นหน้าตาดรีมทีมกู้วิกฤติการบินไทยทั้งประธานบอร์ด บอร์ด กรรมการผู้อำนวยการใหญ่เป็นอย่างไร ก็จะรู้ว่า ฝ่ายการเมือง จริงจังในการกอบกู้การบินไทยแค่ไหน. จิตวดี เพ็งมาก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook