เจาะลึกแนวคิด"ร่างทรง"ในสังคมไทย! กับ"เชฟหมี"คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เจาะลึกแนวคิด"ร่างทรง"ในสังคมไทย! กับ"เชฟหมี"คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

เจาะลึกแนวคิด"ร่างทรง"ในสังคมไทย! กับ"เชฟหมี"คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีข่าวเกี่ยวกับเรื่อง "ร่างทรง" หรือ "คนทรงเจ้า" ออกมาเรียกเสียงฮือฮากับคนในสังคม มีทั้งที่เปิดเวทีนำคนที่คิดเห็นสองฝ่ายมาถกเถียงกันในรายการ มีทั้งข่าวผีร่างทรงจากตัวละครดังอย่าง "อีแพง" หรือว่าจะเป็นคลิปร่างทรงที่มีท่าทีเปลี่ยนไป เมื่อมีคนบอกว่าจะแจ้งตำรวจ

"มติชนออนไลน์" พูดคุยกับ "เชฟหมี" หรือนายคมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง อาจารย์ประจำภาควิชาปรัชญา คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

"ร่างทรง" หรือ "การทรงเจ้าเข้าผี" เกิดขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร?

อันดับแรก ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า สังคมวัฒนธรรมไทยโบราณ เรานับถือผีมาก่อน คือในความหมายที่ว่า เรานับถือพลังที่นอกเหนือตัวเรา เป็นพลังจากธรรมชาติ เป็นบรรพบุรุษ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์อื่นๆ ซึ่งความเชื่อแบบนี้อยู่ในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน จนกระทั่งวันหนึ่ง มีศาสนาจากอินเดียเข้ามา คือพุทธศาสนา และศาสนาพราหมณ์ แต่วิธีคิดแบบศาสนาผีก็ไม่ได้หายไปไหน เพราะวิธีคิดแบบศาสนาผีได้แฝงฝังในสังคมไทย ดังที่ อ.นิธิ กล่าวไว้ว่า ที่จริงแล้วเรานับถือผี แต่เราเพียงเลือกรับพราหมณ์และพุทธที่ไม่ขัดกับผี จุดนี้จึงเป็น การผสมผสานของศาสนาในสังคมไทย

เพราะฉะนั้น การที่ไทยเรานับถือผี เราก็มีผีอยู่แล้ว แต่เป็น "ผีท้องถิ่น" ทีนี้พอศาสนาพุทธ-พราหมณ์เข้ามา ซึ่งมันมากับวิธีคิดเรื่องเทวดา ช่วงหลังเราจึงเห็นการประดับประดาผีให้มีความอลังการมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น พระภูมิเจ้าที่ ซึ่งแต่เดิมเป็นสิ่งศักดิ์ของศาสนาผี ไม่ใช่ศาสนาพราหมณ์ แต่วันหนึ่งพอศาสนาพราหมณ์เข้ามา แล้วผนวกเข้ากับตำนานเทพเจ้าต่างๆ ด้วยวิธีคิดนี้เราจึงสร้างให้พระภูมิกลายเป็นเทพในระบบคิดแบบพราหมณ์ ทั้งที่จริงแล้ว พระภูมิคือผี ดังนั้นจากปรากฏการณ์ "การทรงเจ้าเข้าผี" จึงเป็นเรื่องปกติธรรมดาในสังคมไทยหรือสังคมที่นับถือศาสนาแบบผี

ในที่อื่นๆ มีเรื่องพวกนี้บ้างไหม?
เอาเข้าจริงแนวคิด "ศาสนาผี" ในภูมิภาคอื่นทั่วโลกก็มี คือมันมีระบบการติดต่อสื่อสารกับผี โดยอาจใช้ดนตรี เพลง การขับร้อง พิธีกรรม หรือกระทั่งการทรงเจ้าเข้าผี ซึ่งเป็นเรื่องปกติเพื่อติดต่อสื่อสารกับรรพบุรุษและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เขาเชื่อถือ โดยในทางวิทยาศาสตร์จะว่าอย่างไรไม่รู้ แต่คือในระบบศาสนามันเป็นอย่างนั้น

คือในโลกตะวันตกก็มีความเชื่อเรื่องผีอยู่แล้ว แต่พอวิธีคิดแบบศาสนาคริสต์เข้ามา ก็มีการประณามสิ่งเหล่านี้ว่าเป็นสิ่งนอกรีต นอกรอย คือสิ่งเหล่านี้ก็ยังดำรงอยู่ แต่ศาสนาคริสต์ไม่ได้สนับสนุน ฉะนั้นวิธีคิดแบบนี้มันจึงทำได้เพียงกระจายอยู่ในกลุ่มเล็กๆ

ในสังคมไทย ทำไมจึงดูเหมือนมีมาก?
เพราะเรื่องผีมันเป็นวิธีคิดดั้งเดิม แล้วพอวิธีคิดแบบพราหมณ์-ฮินดูเข้ามา ซึ่งมากับความอลังการ คือมีทั้งเรื่องเล่า มีเสื้อผ้า มีของประดับประดาชัดเจน คือมีมากกว่า ผีพื้นเมือง จริงๆก็คือเป็นการแปลงของแขกให้เป็นของพื้นเมืองซึ่งใช้วิธีการทรงเจ้าเข้าผีแบบเดิม

แต่ผมเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงจาก"ผีพื้นเมือง"ไปสู่"เจ้าทรงเทพแบบฮินดูหรือเทพแบบแขก"นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่กี่10 ปีมานี้เองนะ ซึ่งมันเป็นเพราะว่าองค์ความรู้แบบฮินดูมันเปิดกว้างมาขึ้น และอย่างที่บอกเทพเจ้าแบบฮินดูมีมูลค่าในแง่ของความอลังการ มันจึงทำให้ไปหยิบยืมมาใช้ได้ง่าย คือการที่จะไปหาคนเข้าทรง คุณจะไปหาแบบไหน ระหว่างพวกผีพื้นบ้าน เจ้าพ่อ เจ้าแม่ กับ พระศิวะ พระแม่อุมา พระพิฆเนศ ก็อาจจะเลือกแบบหลังใช่ไหมครับ เพราะว่ามันดูดีกว่า

การเลือกไปหา "ร่างทรง" ในแบบต่างๆ สะท้อนอะไรไหม?
ผมว่าในแง่หนึ่งสะท้อนสังคมชนชั้น เพราะว่าสุดท้ายแล้วเนี่ย เทพเจ้าฮินดูกับเทพเจ้าพื้นเมือง มันเกิดช่วงชั้นหรือการจัดลำดับชั้นขึ้นมา กลายเป็นว่า เทพองค์นี้ใหญ่กว่าเทพองค์นั้นโดยอาศัยตำนาน คือวิธีคิดแบบเทพฮินดูมันเกี่ยวพันกับวิธีคิดเรื่องศูนย์กลางหรือราชสำนักด้วย เพราะเอาจริงราชสำนักก็เป็นส่วนผสมของพุทธ พราหมณ์ ผี แต่พราหมณ์เยอะที่สุด ก็ดูได้จากพระราชพิธีต่างๆ และอาจเป็นเพราะว่าวิธีคิดแบบพราหมณ์ส่งเสริมพระราชอำนาจ เพราะฉะนั้นวิธีคิดแบบพราหมณ์มันจึงอยู่ตรงศูนย์กลางความเชื่อหรือจักรวาลวิทยาแบบไทย

ดังนั้น คนที่อยู่รอบๆก็สามารถที่จะดึงเอาความเป็นเทพฮินดูเข้ามาสู่ระบบของเขาเอง มันจึงเป็นการกระจายอำนาจออกจากศูนย์กลางออกไปข้างนอก เพราะฉะนั้นในอีกแง่หนึ่ง การเปลี่ยนมาสู่เทพฮินดู มันก็สะท้อนความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในเรื่องขององค์ความรู้ การมีลำดับช่วงชั้นและอำนาจ

มองอย่างไรกับการนำเอา "ตัวละครในวรรณคดีหรือในละคร" มาใช้ในการทรงเจ้า?
ในมุมหนึ่ง อยากให้มองมองคนทรงเจ้าในมุมเศรษฐกิจ คือที่จริงบางสำนักเจ้าทรงเขาก็ชัดเจนว่าเป็นองค์กรธุรกิจแบบหนึ่ง แน่นอนว่า การเป็นธุรกิจมันต้องมีจุดขาย การเอาเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย หรือสิ่งที่แปลกใหม่เข้ามามันก็เป็นลักษณะหนึ่งของการสร้างจุดขาย เพราะฉะนั้น เอาถึงที่สุด สิ่งที่เจ้าทรงจะดึงมาใช้จะเป็นอะไรก็ได้ในจักรวาลนี้ ผมอาจจะเข้าทรงคาร์ล มาร์กซ หรือเลนินก็ได้ คือมันเป็นวิธีการที่อาจจะไปเหมาะสมกับสิ่งที่เขาต้องการหรือกลุ่มเป้าหมายของเขาพอดี

ทีนี้ถ้าไม่พูดถึงเรื่องจุดขายเลยก็ได้เพราะตัวละครบางตัวเช่นถ้าผมไปเข้าทรงพระอภัยมณีคุณก็อาจจะรู้ว่านี่เป็นตัวละครในวรรณคดีเพราะหลักฐานมันชัดเจนแต่ถ้ามันเป็นความเชื่อที่มาจากตำนานเราจะบอกได้อย่างไรว่ามันจริงไม่จริง เช่น หนุมาน เพราะคนฮินดูกว่าร้อยละ90 หรือมากกว่านั้นก็ถือหนุมาน คือถ้ามองจากมุมในวรรณคดี หนุมานคือตัวละครหนึ่ง แต่ถ้ามองจากมุมความเชื่อ หนุมานคือพระเจ้าองค์หนึ่ง หนุมานคือ GOD ที่คนให้ความเคารพนับถือ และถึงที่สุด เพราะความคลุมเครือแบบนี้แหละ ที่คือจุดขายสำคัญ

บางคนบอกว่าการทรงเจ้าเข้าผี เป็นสิ่งผิด จริงไหม?
เอาอย่างนี้ คือถ้ายึดตามองค์ความรู้แบบคัมภีร์ก็ผิดอยู่แล้ว แต่คือถ้าเขาไม่ได้ทำผิดกฎหมายในแง่การหลอกลวง มันก็เป็นสิทธิของเขาในการเลือกตีความ และเลือกที่จะเชื่อ คือถ้าเราต้องการเส้นแบ่งความถูกต้องของศาสนา ก็ตอบได้ชัดเจนว่า คนทรงเจ้านั้นผิด และผิดเต็มประตูด้วย เพราะมันผิดแกนหลักความเชื่อและความถูกต้องตามคัมภีร์

แต่ถ้ามองจากมุมของโลกสมัยใหม่ คือมุมของเสรีนิยมประชาธิปไตย มันเป็นสิทธิที่จะเชื่อ มันเป็นเสรีภาพในการนับถือศาสนา แต่ก็ต้องถูกตรวจสอบและวิพากษ์วิจารณ์ได้ เพราะการทรงเจ้าเข้าทรง มันไม่ได้เกิดขึ้นมาใหม่แบบโดดๆ เพราะเขายังใช้สัญลักษณ์ พิธีกรรม หรือรูปแบบเทวตำนานจากของเดิม ก็ต้องยอมรับการวิพากษ์วิจารณ์และตรวจสอบในส่วนนี้ให้ได้ แต่เขาก็มีสิทธิที่จะตีความและเชื่อ แล้วถึงที่สุด คุณจะเชื่อไอโฟนยังได้เลย ตราบใดที่ไม่ละเมิดสิทธิของคนอื่น

ที่บอกว่าต้องตรวจสอบและวิจารณ์ ขอบเขตแค่ไหน อย่างไร?
ทุกฝ่ายครับ คือฝ่ายที่เป็นเจ้าทรงเอง แม้จะบอกว่าเป็นสิทธิเสรีภาพที่จะนับถือ แต่ในระบบสังคมที่เจริญแล้ว ต่อให้อ้างแบบนั้น ก็ต้องได้รับการตรวจสอบกันเองในระบบ แต่อาจจะไม่ใช่อำนาจการตรวจสอบจากรัฐนะครับ ประเด็นอยู่ตรงนี้คือ ถ้ามันมีองค์กรที่เป็นองค์กรใหญ่ตั้งอยู่ตรงกลาง แล้วมีอำนาจสิทธิ์ขาดในการบอกว่าสิ่งใดผิด สิงใดถูก อันนี้เป็นวิธีคิดแบบรัฐรวมศูนย์ แต่ในโลกสมัยใหม่ ไม่ใช่ว่าจะต้องไม่ถูกตรวจสอบ เพียงแต่การตรวจสอบนี้เป็นการตรวจสอบในระนาบเดียวกัน คือมีทั้งสำนักที่ตีความต่างกัน

สำหรับคนที่ไม่เชื่อ ยิ่งคุณไม่เชื่อ คุณยิ่งต้องยืนอยู่บนฐานของเสรีภาพในการนับถือศาสนา มิฉะนั้นแล้วคุณก็จะทำตัวเป็นรัฐในรัฐ คือคุณจะทำตัวเป็นองค์กรศาสนาเสียเอง ปัญหาของสังคมปัจจุบันมันเป็นอย่างนี้ เพราะคนที่อ้างตนว่าไม่มีความเชื่อ อ้างสิทธิ์ราวกับว่า คนที่ไม่มีความเชื่อมีสิทธิอำนาจเหนือกว่าคนที่มีความเชื่อ สุดท้ายคุณจะกลายเป็นองค์กรของศาสนาอีกแบบหนึ่งไปเสียเอง เพราะฉะนั้นหากจะยืนอยู่บนฐานของเสรีนิยมประชาธิปไตย วิธีการแบบนี้มันไม่แฟร์ เพราะคุณก็ต้องถูกตั้งคำถามได้ด้วย และถึงที่สุด คุณก็ไม่มีสิทธิ์ขาดในการไปชี้หน้าใครว่าเขาผิด เพราะการทำแบบนั้นมันหมายความว่า คุณมีหลักการที่ถูกต้องหนึ่งเดียวของคุณอยู่ การทำแบบนี้จึงเป็นการไม่เคารพความใจกว้าง ซึ่งมันไม่ใช่วิธีคิดของเสรีนิยมประชาธิปไตยอย่างแน่นอน

มองอย่างไรกับ "คนทรงเจ้า" ในอนาคต?
ผมว่าตอนนี้สำนักทรงเจ้ากำลังปรับตัวเข้าสู่องค์ความรู้ใหม่ๆ โดยไปศึกษาหาความรู้จากในคัมภีร์ เช่น แต่เดิมพิธีกรรมอาจจะทำแบบมั่วๆซั่วๆตามที่คิดกันเอง แต่ในขณะนี้การปรับตัวคือ เจ้าทรงบางคนไปเรียนประวัติศาสตร์ บางคนไปเรียนจากพราหมณ์อินเดียเลย ไปเรียนภาษาแขก ไปเรียนสันสกฤต ไปเรียนฮินดี แล้วสมัยนี้ปรับตัวจากสำนักเล็กๆ ไปสู่เทวสถานด้วยซ้ำ มีพราหมณ์ประจำอยู่ด้วยเลย คือเขาพยายามปรับตัวไปสู่องค์กรทางศานา และผมคิดว่านี่เป็นแนวโน้มของเจ้าทรงในสังคมไทย

จะไปสู่ความยุ่งยากวุ่นวายหรือไม่?
แน่นอน แต่ผมว่ามันจะถกเถียงกันในออนไลน์มากขึ้น คือมันมีแง่ดี เพราะในโลกออนไลน์มันไม่มีใครสามารถถือสิทธิ์ขาดหรืออำนาจสูงสุดในการตัดสินว่าอะไรผิด อะไรถูก และอีกอย่างวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์ในสังคมไทยมันมีอำนาจพิเศษบางอย่าง แต่การเข้าไปสู่พื้นที่การถกเถียงเชิงเหตุผล มันไม่ได้แปลว่าวิทยาศาสตร์จะยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น นี่เป็นโอกาสที่ดีในการถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล

จะมอง "คนทรงเจ้า" แบบวิธีคิดสมัยใหม่ ได้อย่างไร?
ผมมีหลักการง่ายๆ ประจำตัวเลยคือ คุณจะเชื่ออะไรเชื่อไป แต่คุณต้องศึกษาสิ่งที่คุณเชื่อ แล้วสุดท้าย หากคุณพิจารณาอย่างแยบคายและรอบด้าน ทีนี้คุณจะเชื่อก็เชื่อไป ตราบเท่าที่ไม่ละเมิดกฏหมายและสิทธิของคนอื่น ตราบนั้นความเชื่ออะไรก็ตามย่อมต้องได้รับความเคารพ

เรามักจะมีความกังวลเกินจริงกับความวุ่นวาย ไม่ว่าจะเรื่องอะไรก็ตาม ทั้งศาสนา สังคม การเมือง ทั้งๆที่จริงความวุ่นวายเป็นโอกาสที่ก่อให้เกิดอะไรใหม่ๆเสมอ แล้วการถกเถียงอย่างมีเหตุมีผล และมีขันติธรรมในภาวะแบบนี้ จะนำไปสู่สังคมที่มีสติปัญญาขึ้นมาได้ คือขอให้เถียงกันแล้วไม่ฆ่ากัน แค่นั้นแหละครับ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook