สดร.เผยเกิดจันทรุปราคา,ดวงจันทร์ใกล้โลก28ก.ย.

สดร.เผยเกิดจันทรุปราคา,ดวงจันทร์ใกล้โลก28ก.ย.

สดร.เผยเกิดจันทรุปราคา,ดวงจันทร์ใกล้โลก28ก.ย.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เผย 28 ก.ย. เกิดจันทรุปราคาเต็มดวงและดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดรอบ 100 ปี ไทยไม่สามารถเห็นได้ เนื่องจากตรงกับกลางวัน

ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ เปิดเผยว่า ช่วงเช้าวันที่ 28 กันยายน 2558 จะเกิดปรากฏการณ์ "จันทรุปราคาเต็มดวง" ขึ้น แต่ประเทศไทยไม่สามารถสังเกตเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ได้เนื่องจากตรงกับเวลากลางวัน ดวงจันทร์ยังอยู่ใต้ขอบฟ้า ปรากฏการณ์ครั้งนี้ สังเกตเห็นได้ในแถบอเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ มหาสมุทรแอตแลนติก ยุโรป แอฟริกา และด้านตะวันตกของเอเชีย นอกจากนี้ยังเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงโคจรมาเข้าใกล้โลกที่สุดในรอบปีที่ระยะห่าง 356,876 กิโลเมตร จะมองเห็นดวงจันทร์มีขนาดใหญ่กว่าปกติ ประมาณ 2-3% หรือที่เรียกกันว่า "Supermoon" ดังนั้น พื้นที่ดังกล่าวข้างต้นจะสามารถมองเห็นจันทรุปราคาเต็มดวงสีแดงอิฐที่มีขนาดใหญ่กว่าปกติอีกด้วย ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงที่เกิดขึ้นในวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลก เกิดขึ้นในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา เพียง 5 ครั้ง ซึ่งครั้งนี้เป็น ครั้งที่ 6 และจะเกิดครั้งต่อไปในปีพ.ศ.2576 แม้ว่าคนไทยจะพลาดชมจันทรุปราคาเต็มดวง แต่ในคืนวันที่ 28 กันยายน ก็ยังมีโอกาสเห็นปรากฏการณ์ดวงจันทร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี สามารถรอชมและเก็บภาพความสวยงามกันได้ทั่วประเทศ 

ปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงในวันที่ 28 กันยายน 2558 นี้ เกิดขึ้นในช่วงเช้าตามเวลาในประเทศไทย ดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่เงามัวของโลกตั้งแต่เวลาประมาณ 07.11 น. และจากนั้นค่อยๆ เคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกเกิดเป็นจันทรุปราคาบางส่วนในเวลาประมาณ 08.07 น. หลังจากนั้นดวงจันทร์เริ่มเข้าสู่ "จันทรุปราคาเต็มดวง" ตั้งแต่เวลา 09.11 - 10.23 น. ช่วงที่ดวงจันทร์อยู่ในเงามืดของโลกเต็มดวง จะมองเห็นดวงจันทร์เป็นสีแดงอิฐทั้งดวง หลังจากนั้นดวงจันทร์จะเริ่มออกจากเงามืดของโลกเข้าสู่การเป็นช่วงจันทรุปราคาบางส่วนอีกครั้ง จนกระทั่งออกจากเงามืดของโลกทั้งดวงในเวลา 11.27 น. แล้วเปลี่ยนเป็นจันทรุปราคาเงามัว ซึ่งสังเกตได้ยากเนื่องจากดวงจันทร์มีการเปลี่ยนแปลงความสว่างเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ช่วงท้ายสุดดวงจันทร์จะพ้นจากเงามัวของโลกเวลา 12.28 น. ถือว่าเป็นการสิ้นสุดของปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวงโดยสมบูรณ์


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook