อุตสาหกรรมการบินปี 2552 ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

อุตสาหกรรมการบินปี 2552 ยังชะลอตัวต่อเนื่อง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า ปี 2551 อุตสาหกรรมการบินทั่วโลกต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก รวมทั้งอุตสาหกรรมการบินของไทยด้วย โดยจำนวนผู้โดยสารทางอากาศในปี 2551 มีประมาณ 54.4 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 ลดลงอย่างมากจากปีก่อนที่มีจำนวนผู้โดยสารทางอากาศประมาณ 57.2 ล้านคน ขยายตัวประมาณร้อยละ 7.8 โดยสาเหตุการลดลงมาจากต้นทุนน้ำมันที่เพิ่มขึ้น แม้ในช่วงครึ่งหลังของปีราคาน้ำมันมีทิศทางลดลง แต่หลายสายการบินได้ทำการประกันความเสี่ยงน้ำมันล่วงหน้าเอาไว้ ทำให้ยิ่งประสบปัญหาขาดทุนจากแนวโน้มราคาน้ำมันที่ลดลง รวมทั้งปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองก็ได้ส่งผลต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจ โดยในช่วงปลายปีที่เหตุการณ์ชุมนุมประท้วงได้ลุกลามไปจนถึงขั้นต้องมีการปิดท่าอากาศยานสุวรรณภูมิและดอนเมือง แม้เหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นๆ แต่ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเชื่อมั่นในการท่องเที่ยวและการคมนาคมขนส่งของไทย

สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินในปี 2552 คาดว่าจะยังคงต้องเผชิญวิกฤตอย่างหนัก โดยเฉพาะปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ที่จะทำให้ปริมาณการเดินทางทางอากาศยังคงลดลงต่อเนื่องจากปีก่อน นอกจากนี้ปัญหาจากความวุ่นวายทางการเมืองภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลสำคัญต่อบรรยากาศในการท่องเที่ยวและการลงทุนของประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นสัดส่วนหลักและมีผลต่อจำนวนผู้โดยสารทางอากาศของไทย โดยหลังการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลมายังชุดนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สถานการณ์การเมืองของไทยก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองของไทยมีเสถียรภาพและไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงดังเช่นในปีที่ผ่านมา รวมทั้งรัฐบาลสามารถสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างประเทศให้กลับมาลงทุนและท่องเที่ยวในไทยได้ ก็อาจช่วยพยุงภาวะของอุตสาหกรรมการบินได้ในระดับหนึ่ง โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าจำนวนผู้โดยสารในปี 2552 จะมีประมาณ 49-52 ล้านคน หดตัวประมาณร้อยละ 5-10 เป็นการหดตัวต่อเนื่องจากปีก่อนที่หดตัวประมาณร้อยละ 4.8 โดยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวยังเป็นปัจจัยกดดันสำคัญ

สำหรับภาวะการแข่งขันในตลาดปีนี้คาดว่าจะมีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะการแข่งขันกันปรับลดราคาเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดจากจำนวนผู้โดยสารที่มีแนวโน้มลดลง ขณะที่พฤติกรรมของผู้โดยสารก็คาดว่าจะให้ความสำคัญกับราคาตั๋วโดยสารมากขึ้น เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลง ทำให้อาจเป็นโอกาสสำคัญของสายการบินต้นทุนต่ำ สำหรับตลาดบนคาดว่าการแข่งขันด้านบริการของแต่ละสายการบินจะรุนแรงมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นกลุ่มลูกค้าที่ยังมีกำลังซื้ออยู่ในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าการที่สายการบินจะสามารถฝันฝ่าวิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ไปได้ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านราคาหรือบริการเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายปัจจัย อาทิ สถานะทางการเงิน เส้นทางการบิน ประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน ชื่อเสียงและการยอมรับ และอื่นๆ

สำหรับมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวล่าสุดของรัฐบาล ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าเป็นมาตรการที่จะส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมการบิน แต่อาจเป็นเพียงผลทางอ้อม โดยอาจช่วยเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดการเดินทางมากขึ้น อย่างไรก็ตาม สิ่งที่รัฐบาลควรเร่งดำเนินการคือการสร้างความเชื่อมั่นและทำการตลาดด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยรัฐบาลอาจใช้การเดินสายโรดโชว์ควบคู่กับทำการตลาดในประเทศที่เป็นเป้าหมายสำคัญและยังมีกำลังซื้ออยู่ รวมทั้งออกแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ เช่น แคมเปญไทยเที่ยวไทย การจัดอีเวนท์ประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยว การดึงงานประชุมสัมมนาระดับโลกให้เข้ามาจัดในไทย ซึ่งจะช่วยกระตุ้นกลุ่ม MICE (Meeting Incentive Convention and Exhibition) ซึ่งเป็นกลุ่มที่คาดว่าจะยังมีกำลังซื้ออยู่ เป็นต้น โดยการทำการตลาดนี้จะต้องเร่งดำเนินการบนพื้นฐานของความมีประสิทธิภาพและมีเป้าหมายชัดเจน ท่ามกลางภาวะที่งบประมาณของรัฐบาลมีจำกัด

นอกจากนี้ แนวทางที่จะกำหนดให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิเป็นท่าอากาศยานเดี่ยวก็ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ บนพื้นฐานของผลประโยชน์สูงสุดของประเทศและเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการบินในภูมิภาค ซึ่งหากรัฐบาลเลือกแนวทางดังกล่าวก็ควรเร่งดำเนินการขยายการก่อสร้างท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในระยะที่ 2 ควบคู่กันไปด้วย เพื่อขยายขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารให้เพิ่มขึ้นทันกับการเติบโตของจำนวนผู้โดยสารในอนาคต โดยจะต้องพิจารณาความเหมาะสมของการลงทุนเพื่อไม่ให้เป็นภาระทางด้านการคลังของรัฐบาลในระยะยาว

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook