ตัวเลขศก.ธปท.ธค2551 บ่งชี้ภาวะหดตัวเป็นประวัติการณ์

ตัวเลขศก.ธปท.ธค2551 บ่งชี้ภาวะหดตัวเป็นประวัติการณ์

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ตัวเลขเศรษฐกิจล่าสุดเดือนธันวาคม 2551 ที่รายงานโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในภาพรวมสะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/2551 อาจหดตัวลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2551 โดยเครื่องชี้เศรษฐกิจหลายตัวส่งสัญญาณความเปราะบางที่ชัดเจนมากขึ้น ตัวเลขเศรษฐกิจเดือนธันวาคม 2551

การใช้จ่ายของภาคเอกชน ... การลงทุนพลิกกลับมาหดตัวครั้งแรกในรอบ 15 เดือน

การบริโภคภาคเอกชนพลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้ง ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 0.9 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2551 หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 1.5 ในเดือนพ.ย. (ซึ่งเป็นการหดตัวลงครั้งแรกในรอบ 1 ปีครึ่ง นับตั้งแต่เดือนพ.ค.2550) นำโดย การนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภค (โดยเฉพาะสินค้าไม่คงทน) ปริมาณจำหน่ายน้ำมันเบนซินและแก๊สโซฮอล์ (ที่ได้รับแรงหนุนจากการปรับตัวลงของราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศ) และปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่ง (ซึ่งมีอัตราการขยายตัวที่สูงเนื่องจากฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า)

อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์หดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 11 เดือน และเป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงของรายได้เกษตรกร (ขยายตัวเพียงร้อยละ 14.6 ในเดือนธ.ค. จากร้อยละ 20.4 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ การบริโภคที่พลิกกลับมาขยายตัวอีกครั้งในเดือนธ.ค. มีความสอดคล้องกับทิศทางของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ขยับขึ้น สู่ระดับ 74.8 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 74.2 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่เดือนม.ค. 2545

การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 15 เดือน (นับตั้งแต่ก.ย. 2550) ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน หดตัวลงร้อยละ 2.6 (YoY) ในเดือนธ.ค.2551 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ในเดือนพ.ย. เมื่อพิจารณาองค์ประกอบหลักของการลงทุนภาคเอกชน อาทิ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ การนำเข้าสินค้าทุน และมูลค่าโครงการขอรับส่งเสริมการลงทุน พบว่า องค์ประกอบหลักที่สะท้อนการลงทุนภาคเอกชนหดตัวลงอย่างพร้อมเพรียงกัน ซึ่งเป็นสัญญาณด้านลบที่สะท้อนให้เห็นถึงความกังวลต่อแนวโน้มที่เปราะบางของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจต่างประเทศ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าสถานการณ์ของการลงทุนโดยรวมจะอ่อนแอลงอย่างมาก แต่ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจขยับขึ้นเล็กน้อย (แต่ยังคงต่ำกว่าระดับ 50) มาอยู่ที่ 36.9 ในเดือนธ.ค. จากระดับ 34.4 ในเดือนพ.ย. ซึ่งเป็นระดับที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำข้อมูลในปี 2543

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวมากสุดในประวัติการณ์

การผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงมากสุดในประวัติการณ์ โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัวลงถึงร้อยละ 18.8 ในเดือนธ.ค.2551 ซึ่งนับเป็นอัตราการหดตัวลงที่รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่มีการจัดทำข้อมูล และต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 7.7 ในเดือนพ.ย. โดยการผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตรวม (อาทิ หมวดอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า) ซึ่งต้องเผชิญกับแนวโน้มเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกที่รุนแรงขึ้น หดตัวลงถึงร้อยละ 31.0 ในเดือนธ.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 8.4 ในเดือนพ.ย.

ในขณะที่ การผลิตสินค้าที่สัดส่วนการส่งออกน้อยกว่าร้อยละ 30 ของการผลิตรวม (อาทิ หมวดยานยนต์ สินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภค และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม) ซึ่งเป็นไปตามการชะลอลงของเศรษฐกิจในปศ หดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน อีกร้อยละ 2.6 ในเดือนธ.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 3.3 ในเดือนพ.ย. ทั้งนี้ การหดตัวลงอย่างรุนแรงของการผลิตภาคอุตสาหกรรมได้ส่งผลทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตร่วงลงสู่ระดับที่ต่ำสุดในรอบ 10 ปี ที่ร้อยละ 58.9 ในเดือนธ.ค. จากร้อยละ 59.4 ในเดือนพ.ย.

ผลผลิตภาคเกษตรพลิกขยายตัวชะลอลงหลังจากเร่งเก็บเกี่ยวในช่วงต้นฤดู ทั้งนี้ ดัชนีผลผลิตพืชผล (Crop Production Index) ขยายตัวร้อยละ 0.5 (YoY) ในเดือนธ.ค. จากที่ขยายตัวร้อยละ 3.8 ในเดือนพ.ย. เนื่องจากเกษตรกรเร่งเก็บเกี่ยวสินค้าเกษตรหลายประเภทอาทิ ข้าวนาปี และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ในช่วงต้นฤดู ในขณะที่ ราคาพืชผลยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยขยายตัวอีกร้อยละ 14.0 ในเดือนธ.ค. แต่ชะลอลงจากร้อยละ 16.0 ในเดือนพ.ย.

ภาคต่างประเทศ ... ดุลการค้าเกินดุลเนื่องจากการนำเข้าที่ลดลงอย่างมาก

การส่งออกหดตัวลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ทั้งนี้ การส่งออกหดตัวลงอีกร้อยละ 15.7 (YoY) ในเดือนธ.ค.2551 หลังจากที่หดตัวร้อยละ 17.7 ในเดือนพ.ย. โดยเป็นผลมาจากปริมาณสินค้าส่งออกที่หดตัวลงถึงร้อยละ 17.1 ในเดือนธ.ค. (ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 20.8 ในเดือนพ.ย.) ขณะที่ ราคาสินค้าส่งออกขยายตัวเพียงร้อยละ 1.7 ในเดือนธ.ค. (ลดลงจากที่ขยายตัวร้อยละ 4.0 ในเดือนพ.ย.) ทั้งนี้ การส่งออกปรับตัวแย่ลงในเกือบทุกหมวด (ยกเว้น หมวดสินค้าที่ใช้แรงงานสูง ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 50.1 ในเดือนธ.ค. ตามการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นมาก) โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตร ที่หดตัวถึงร้อยละ 37.0 ในเดือนธ.ค. หลังจากที่หดตัวร้อยละ 32.5 ในเดือนก่อนหน้า หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ที่หดตัวลงร้อยละ 10.2 ในเดือนธ.ค. หลังจากที่หดตัวร้อยละ 17.5 ในเดือนก่อนหน้า และหมวดสินค้าใช้เทคโนโลยีสูง ที่หดตัวลงอีกร้อยละ 19.9 ในเดือนธ.ค. ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 21.4 ในเดือนก่อนหน้า

การนำเข้าหดตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปีครึ่ง โดยการนำเข้าหดตัวถึงร้อยละ 8.8 (YoY) ในเดือนธ.ค. 2551 ซึ่งนับเป็นการหดตัวในอัตราที่รุนแรงที่สุดในรอบกว่า 6 ปีครึ่ง (นับตั้งแต่มี.ค.2545) พลิกจากที่ขยายตัวร้อยละ 0.2 ในเดือนพ.ย. โดยปริมาณสินค้านำเข้าหดตัวลงอีกร้อยละ 6.6 (ต่อเนื่องจากที่หดตัวร้อยละ 1.6 ในเดือนก่อนหน้า) ขณะที่ ราคาสินค้านำเข้าหดตัวลงถึงร้อยละ 2.3 ในเดือนธ.ค. (หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.8 ในเดือนก่อนหน้า) ทั้งนี้ การนำเข้าสินค้าในหมวดวัตถุดิบ และหมวดสินค้าทุนหดตัวลงร้อยละ 14.6 และหดตัวร้อยละ 4.7 ในเดือนธ.ค. หลังจากที่หดตัวลงร้อยละ 13.3 และขยายตัวร้อยละ 11.5 ในเดือนก่อนหน้าตามลำดับ ในขณะที่ การนำเข้าในหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น ขยายตัวร้อยละ 4.3 และร้อยละ 4.4 ในเดือนธ.ค. หลังจากที่หดตัวร้อยละ 6.9 และหดตัวร้อยละ 11.8 ในเดือนก่อนหน้า ตามลำดับ

ดุลการค้าบันทึกยอดเกินดุล ทั้งนี้ การนำเข้าที่ร่วงลงอย่างรุนแรง ในขณะที่ การส่งออกยังคงหดตัวลง ได้ส่งผลให้ดุลการค้าพลิกกลับมาบันทึกยอดเกินดุล 495.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. 2551 หลังจากที่ขาดดุล 895.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย. และเมื่อรวมยอดเกินดุลการค้าเข้ากับดุลบริการฯ ซึ่งบันทึกยอดขาดดุลสูงถึง 404.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. ได้ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดบันทึกยอดเกินดุลเพียง 91.0 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนธ.ค. แต่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ขาดดุล 934.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในเดือนพ.ย.

จากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดเดือนธ.ค.2551 ของธปท. ทำให้ได้ภาพรวมของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส 4/2551 ซึ่งสะท้อนว่าทุกภาคเศรษฐกิจของไทยกำลังอ่อนแอลงอย่างมาก โดยการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวเพียงร้อยละ 0.7 (YoY) ในไตรมาส 4/2551 เทียบกับที่ขยายตัวถึงร้อยละ 5.2 ในไตรมาส 3/2551 ในขณะที่ รายได้เกษตรกรขยายตัวเพียงร้อยละ 17.1 (YoY) ในไตรมาส 4/2551 ลดลงจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 57.4 ในไตรมาส 3/2551 ส่วนการลงทุนภาคเอกชนพลิกกลับมาหดตัวลงร้อยละ 0.1 ในไตรมาส 4/2551 หลังจากที่ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่องในช่วง 2 ไตรมาสก่อนหน้า สำหรับผลผลิตภาคอุตสาหกรรมพลิกกลับมาหดตัวลงเช่นกัน โดยหดตัวร้อยละ 8.1 (YoY) ในไตรมาส 4/2551 หลังจากที่ขยายตัวร้อยละ 7.6 ในไตรมาส 3/2551

นอกจากนี้ การส่งออกซึ่งเป็นแรงหนุนที่สำคัญของเศรษฐกิจไทย ต้องเผชิญกับภาวะที่ยากลำบาก เนื่องจากเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่ม G-3 และเศรษฐกิจเพื่อนบ้านในเอเชียที่เป็นคู่ค้าสำคัญของไทยนั้น มีแนวโน้มหดตัวลงอย่างรุนแรง ทั้งนี้ การส่งออกของไทยหดตัวลงถึงร้อยละ 9.4 ในไตรมาส 4/2551 หลังจากที่ขยายตัวถึงร้อยละ 28.4 ในไตรมาส 3/2551 โดยสินค้าหมวดเกษตรที่เคยขยายตัวได้อย่างโดดเด่นในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2551 พลิกกลับมาหดตัวถึงร้อยละ 19.6 ในไตรมาส 4/2551

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจทั่วโลกที่มีแนวโน้มเข้าสู่ภาวะถดถอยพร้อมๆ กันนั้น อาจส่งผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทยในปีนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยมองว่า การส่งออกของไทยอาจหดตัวลงประมาณร้อยละ 7.0 ในปี 2552 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 16.8 ในปี 2551 ซึ่งเป็นนัยว่าภารกิจในการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอาจต้องพิจารณาให้ครอบคลุมโจทย์ในหลายๆ ด้าน และมีแนวทางที่ชัดเจนในการประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้สามารถผ่านพ้นสถานการณ์ที่เต็มไปด้วยปัจจัยลบจากทั้งในและต่างประเทศ โดยได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2552 อาจขยายตัวเพียงร้อยละ 1.5 ซึ่งเป็นอัตราการขยายตัวที่ต่ำกว่าระดับศักยภาพ เทียบกับที่คาดว่าอาจจะขยายตัวต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ในปี 2551

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook