บทวิเคราะห์ : เยียวยาวิกฤตอาหารด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

บทวิเคราะห์ : เยียวยาวิกฤตอาหารด้วยหลักเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วาระสำคัญประการหนึ่งในการประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ก็คือ วิกฤตการณ์อาหาร ซึ่งประเทศไทยเองก็เคยมีความตระหนกในประเด็นนี้อยู่ครั้งหนึ่งแล้วเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่มีการตุนข้าวสารและอาหารแห้งจนทำให้อาหารเหล่านั้นมีราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ จึงเป็นทางออกที่นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นำไปเสนอในเวทีสำคัญครั้งนี้ด้วย วิกฤตความมั่นคงทางอาหารกับประเทศไทย ประเทศไทยถือว่ายังเป็นประเทศสำคัญในการผลิตและส่งออกอาหารของโลกนี้ แม้จะยังมีปัญหาภายในไม่ว่าจะปัญหาความอดอยาก ฐานะทางเศรษฐกิจ การเมือง เทคโนโลยีการพัฒนาการผลิต ฯลฯ แต่ด้วยความที่ประเทศไทยมีความพร้อมในการผลิตอาหารและวัตถุดิบที่จำเป็น ประเทศไทยจึงมีบทบาทสำคัญไม่มากก็น้อยในการเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขวิกฤตการณ์อาหารโลกในครั้งนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกษตรกรไทยก็มีความชำนาญ และความรู้ในการทำการเกษตรกรรมเป็นอย่างดี หากได้รับการพัฒนาความรู้เพิ่มเติม รวมทั้งได้รับการพัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรแล้วก็น่าจะทำให้ประเทศไทยเป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลกได้ไม่ยากนัก นายกรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก็ได้เสนอหลเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำริ เพื่อมารับมือกับวิกฤตการณ์อาหารโลก โดยแนวคิดนี้ได้รับความสนใจและการยอมรับจากนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และ นายบิล เกตส์ มหาเศรษฐีไมโครซอฟท์ อีกด้วย ทุนนิยม กับ เศรษฐกิจพอเพียง สาเหตุประการหนึ่งที่ทำให้เกิดวิกฤตการความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งเกิดการขาดแคลนด้านอาหารในโลกนี้ก็เพราะความหลงใหลในทุนนิยมที่เกิดขึ้นในโลกใบนี้ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมแบบ "มือใครยาวสาวได้สาวเอา โดยไม่คำนึงถึงความพอดี และพอเพียง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่ประชากรของโลกมีจำนวนเพิ่มมากสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทรัพยากรที่นำมาเป็นอาหารก็ยังคงมีจำกัด แม้มนุษย์จะสามารถพัฒนาการเพาะปลูกได้ แต่ด้วยวัฒนธรรมแบบทุนนิยมที่แสวงหาวัตถุตามกำลังที่ตนมีจนเกินความพอเพียง จึงทำให้เกิดวิกฤตความมั่นคงทางอาหารเกิดขึ้น ดังนั้นความพอเพียงจึงเป็นกุญแจสำคัญประการหนึ่ง ที่จะช่วยเข้ามาเยียวยาวิกฤตการณ์ทางอาหารให้มีอาการดีขึ้นมาได้ เสียงตอบรับจากที่ประชุม นายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการสหประชาชาติ และนายบิล เกตส์ เจ้าพ่อไมโครซอฟท์ มหาเศรษฐีอันดับต้น ๆ ของโลก มีความเห็นพ้องกับข้อเสนอเกี่ยวกับการนำหลักเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้เพื่อรับมือกับวิกฤตความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งยังตั้งความหวังไว้อีกด้ยว่า กลุ่มประเทศอาเซียน ควรเป็นแหล่งสำรองอาหารสำคัญของโลก ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มประเทศอาเซียนมีจุดเด่นอยู่หลายประการคือ ความหลากหลายทางวัฒนธรรม ความหลากหลายทางภูมิศาสตร์ ความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และความหลากหลายของพืชพรรณ รวมทั้งประเทศอาเซียนส่วนมากยังเป็นประเทศเกษตรกรรม ซึ่งมีความชำนาญในการทำการเพาะปลูกอยู่แล้ว หากมีความร่วมมือจากนานาชาติ ในการช่วยพัฒนาความรู้และเทคโนโลยีเพิ่มเติม ก็จะมีศักยภาพในการเป็นผู้ผลิตอาหารสำหรับโลกในอย่างพอเพียง หลายต่อหลายครั้งในระยะนี้ที่เราจะได้ยินคำว่า "การล่มสลายของทุนนิยม ซึ่งแม้จะยังไม่ล่มสลายหายวับไปกับตาจริง ๆ แต่ทุนนิยมแบบสุดโต่งก็ไม่สามารถดำรงอยู่ได้อีกต่อไปในสภาพเศรษฐกิจของโลกที่กำลังย่ำแย่ดังเช่นทุกวันนี้ เศรษฐกิจแบบพอเพียง ซึ่งค่อนข้างจะสวนทางกับทุนนิยม จึงกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่จะช่วยให้ประชาชนของโลกนี้ประคองตัวอยู่ได้อย่างปกติสุข นับว่าประเทศไทยมีความสำเร็จระดับหนึ่งแล้วสำหรับการยอมรับในแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริบนเวทีเศรษฐกิจโลกครั้งนี้ กนกวรรณ ขวัญคง : เรียบเรียง ชูชาติ เทศสีแดง : บรรณาธิการ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook