แอมนาสตี้ฯกดดันพม่าแก้ปัญหาสิทธิมนุษย์ชนก่อนลต.

แอมนาสตี้ฯกดดันพม่าแก้ปัญหาสิทธิมนุษย์ชนก่อนลต.

แอมนาสตี้ฯกดดันพม่าแก้ปัญหาสิทธิมนุษย์ชนก่อนลต.
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กดดันทางการเมียนมา ให้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในประเทศ ก่อนการเลือกตั้ง 8 พ.ย.นี้

แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เปิดเผยก่อนที่จะมีการลงคะแนนเสียงในวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ ว่า การคุมขังนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวอย่างสงบ การจำกัดเสรีภาพในการพูด การเลือกปฏิบัติ และการระงับสิทธิ์ทางการเมืองของชนกลุ่มน้อย โดยเฉพาะชาวโรฮีนจาที่ถูกคุกคามได้บั่นทอนความสำคัญของการเลือกตั้งในประเทศเมียนมาอย่างรุนแรง ในช่วงหนึ่งเดือนก่อนการเลือกตั้งครั้งประวัติศาสตร์นี้ ทางการเมียนมาได้สั่งคุมขังนักโทษทางความคิดรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 19 คน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล คาดว่าขณะนี้มีจำนวนนักโทษทางความคิดรวมกันแล้วทั้งสิ้น 110 คน แม้ว่าตัวเลขที่แท้จริงน่าจะสูงกว่านี้มาก เพราะยังมีอีกหลายร้อยคนที่ถูกตั้งข้อหาและอยู่ระหว่างรอการประกันตัวอยู่

โจเซฟ เบเนดิกต์ (Josef Benedict) ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล เผยว่า ในขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในเมียนมากำลังจะลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง และอีกหลายพันคนอาจได้ร่วมเดินขบวนและรับฟังการปราศรัยของ นางออง ซาน ซูจี แต่กลับมีบุคคลอีกเป็นจำนวนมากที่ถูกศาลสั่งจำคุกเพียงเพราะการแสดงความเห็น หรือการประท้วงอย่างสงบ ผู้มีอำนาจอ้างว่าประเทศนี้กำลังเดินหน้าสู่เส้นทางการปฏิรูป แต่ในความเป็นจริงแล้วยังคงมีการเดินหน้าปราบปรามเสรีภาพในการแสดงออก และสิทธิ์ในการชุมนุมอย่างสงบอย่างเข้มข้น เมื่อเดือนที่แล้ว แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลเผยแพร่เอกสารเกี่ยวกับนักโทษทางความคิดยุคใหม่ในเมียนมา ซึ่งตกเป็นเหยื่อการปราบปรามที่เข้มข้นยิ่งขึ้น

“ทางการได้เริ่มปราบปรามการเคลื่อนไหวที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งตั้งแต่หลายเดือนก่อน นับเป็นปฏิบัติการเพื่อให้แน่ใจว่าบรรดาเสียง ‘ที่ไม่พึงประสงค์’ จะถูกคุมขังในเรือนจำ และเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความหวาดกลัวขึ้น ส่งผลให้ผู้ที่คิดจะวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต้องคิดให้รอบคอบก่อนจะพูดอะไรออกมา”

แต่สำหรับชาวโรฮีนจาและกลุ่มคนอื่น ๆ อีกหลายแสนคนแล้ว การแสดงความเห็นระหว่างการเลือกตั้งเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้เลย เนื่องจากพวกเขาได้ถูกตัดสิทธิ์ในการเลือกตั้งไปแล้ว

เมื่อต้นปีนี้ ทางการเมียนมาได้ประกาศยกเลิกบัตรประจำตัวชั่วคราวของชาวโรฮีนจา หรือที่เรียกว่า “บัตรขาว” ส่งผลให้ชาวโรฮีนจาไม่สามารถลงคะแนนเสียงได้ในวันอาทิตย์นี้ แม้ว่าพวกเขาจะสามารถลงคะแนนเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2553 และ 2555 ที่ผ่านมาก็ตาม นอกจากนี้ ยังมีการเพิกถอนสิทธิ์การลงสมัครรับเลือกตั้งของผู้สมัครชาวมุสลิมและโรฮีนจาเป็นจำนวนมากด้วยเหตุผลที่มีลักษณะเลือกปฏิบัติ ในขณะเดียวกันทางการกลับไม่สามารถแก้ปัญหาการรณรงค์เพื่อยุยงสร้างความเกลียดชัง และยุยงให้เกิดการเลือกปฏิบัติและใช้ความรุนแรงต่อชาวมุสลิม

“การกีดกันชาวโรฮีนจาออกจากการเลือกตั้งอย่างสิ้นเชิง ชี้ให้เห็นถึงปัญหาการเลือกปฏิบัติที่ร้ายแรงและหยั่งรากลึก นับเป็นสัญญาณเตือนแก่ประชาคมระหว่างประเทศ และเป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่า ทางการเมียนมาไม่มีเจตจำนงที่จะแก้ไขปัญหาของชาวโรฮีนจาในลักษณะที่เคารพศักดิ์ศรีและสิทธิมนุษยชนของพวกเขา”

ในวันที่ 6 พฤศจิกายน 2558 หรือเพียงสองวันก่อนการเลือกตั้ง รัฐบาลเมียนมาจะเข้าสู่กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนตามวาระของประเทศเมียนมา (Universal Periodic Review) ในที่ประชุมคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติที่กรุงเจนีวา ซึ่งนับเป็นโอกาสสำคัญที่ประชาคมระหว่างประเทศจะใช้โอกาสนี้เพื่อกดดันทางการเมียนมาให้แก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ร้ายแรงในประเทศ

“ในขณะที่การเลือกตั้งในวันอาทิตย์นี้เป็นช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของเมียนมา แต่บททดสอบที่แท้จริงถึงเจตจำนงของทางการเมียนมาเพื่อเดินหน้าสู่การปฏิรูปสิทธิมนุษยชนจะเกิดขึ้นในช่วงอีกไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์ ไม่กี่เดือน หรือไม่กี่ปีข้างหน้า หลังจากคูหาเลือกตั้งปิดตัวลง”



แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook