กรธ.ยังไม่สรุปแยกอำนาจรมต.จากสส.เพิ่มกกต.เป็น9คน

กรธ.ยังไม่สรุปแยกอำนาจรมต.จากสส.เพิ่มกกต.เป็น9คน

กรธ.ยังไม่สรุปแยกอำนาจรมต.จากสส.เพิ่มกกต.เป็น9คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ระบุเพิ่มจำนวน กกต. เพื่อเปลี่ยนวิธีทำงานให้มีประสิทธิภาพ ย้ำไม่กดดันข้อเสนอแก้ไขทุจริตเลือกตั้ง

นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ อดีตประธานกรรมการการเลือกตั้ง ระบุถึงเหตุผลการเพิ่มจำนวน กกต. จาก 5 คน เป็น 9 คน เพื่อเปลี่ยนวิธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพและครอบคลุมการทำงานมากขึ้น ลักษณะคล้ายบอร์ดบริหารที่จะช่วยกันทำงาน ขณะที่คุณสมบัติคงเป็นไปตามเดิม โดยคณะกรรมการสรรหาคัดเลือก ซึ่งมีสัดส่วนจากผู้พิพากษาที่จะเป็นตัวหลักด้วย

พร้อมกันนี้ นายอภิชาต ย้ำด้วยว่า ไม่รู้สึกกดดันถึงข้อเสนอแก้ปัญหาทุจริตการเลือกตั้ง ที่ประชาชนให้ความสำคัญและมีในข้อเสนอของ คสช. เพราะเป็นที่ต้องแก้ไขปัญหาการทุจริตการเลือกตั้งอยู่แล้ว ซึ่ง กกต.ชุดปัจจุบันก็พยายามดำเนินการอยู่ แต่ก็ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนด้วย แม้จะมีกฎหมายการเลือกตั้งบังคับไว้อยู่แล้ว ซึ่งการร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ลงรายละเอียดเรื่องนี้ จะเน้นหนักการวางหลักการและโครงสร้าง ส่วนรายละเอียดบัญญัติไว้ใจกฎหมายลูก ซึ่งตนและ นายประพันธ์ นัยโกวิท ในฐานะอดีต กกต. ก็จะเข้ามาดูแลเรื่องนี้ หลังจากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้ว

ส่วนความคืบหน้าการทำงาน ที่พิจารณาไปถึงส่วนท้องถิ่นแล้ว แต่ยังไม่ลงรายละเอียด ขณะที่คุณสมบัติของรัฐมนตรีจะต้องลาออกจากการเป็น ส.ส. เพื่อแยกอำนาจฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติหรือไม่นั้น ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่เบื้องต้นมองว่าไม่จำเป็นต้องลาออกจากการเป็น ส.ส.

 

ธิติพันธุ์กล่าวรายงานรับฟังความเห็นร่างรธน.

บรรยากาศโครงการสัมมนา "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะในคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ร่วมกับสถาบันพระปกเกล้า ที่โรงแรมลี การ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา วันที่สอง ล่าสุด นายธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ในฐานะประธานอนุกรรมการรับฟังและสรุปความคิดเห็นที่มีผู้เสนอแนะ ได้กล่าวรายงานต่อ นายอภิชาต สุขัคคานนท์ รองประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ คนที่ 2 ซึ่งเป็นประธานในพิธีเปิดการสัมมนา พร้อมกันนี้ เปิดวีดีทัศน์ปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "การร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" โดย นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ การนำเสนอเรื่อง "กติกาในการแสดงความคิดเห็นการมีส่วนร่วมแบบออนไลน์และโจทย์สำหรับการเสวนาระดมความคิดเห็น"

 

กรธ.ยังเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อเนื่อง

บรรยากาศโครงการสัมมนา "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" ที่โรงแรมลี การ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ล่าสุด ได้เปิดวีดีทัศน์ปาฐกถาพิเศษของ นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า ประเทศไทยอยู่ในระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน สิ่งที่ต้องทำขณะนี้คือการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อใช้เป็นหลักในการปกครองประเทศ เป็นหลักในการบริหารราชการแผ่นดิน และเป็นหลักคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน รวมถึงการกำหนดหน้าที่ของประชาชนและหน้าที่ของรัฐที่พึงมีต่อกัน ซึ่งยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะเขียนให้ครอบคลุมตรงความประสงค์ของประชาชนได้ทั้งหมด จึงจำเป็นต้องจัดการรับฟังความเห็นของประชาชน โดย กรธ. จะเดินทางลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อรับฟังความเห็น ขณะเดียวกันได้เปิดให้ประชาชนเสนอความเห็นและข้อเสนอแนะต่อ กรธ. ได้หลายช่องทาง อาทิ ไปรษณีย์ ช่องทางออนไลน์ และเสนอความเห็นผ่านเวทีรับฟังความเห็นของ กรธ. ซึ่งยืนยันว่าจะนำข้อเสนอแนะของประชาชนไปคิด และรวบรวมให้เกิดประโยชน์สูงสุด

 

กรธ.อภิปรายความรู้ร่างรธน.แก่ปชช.

บรรยากาศโครงการสัมมนา "การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญ" ที่โรงแรมลี การ์เด้น พลาซ่า อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ล่าสุด ได้มีการอภิปรายให้ความรู้เรื่องการร่างรัฐธรรมนูญ พร้อมจัดเสวนากลุ่มย่อยใน 5 ประเด็น หลัก ได้แก่ ประเด็นสิทธิ เสรีภาพ และหน้าที่ของประชาชน การกระจายอำนาจ หน้าที่ของรัฐที่พึงปรารถนา การได้มาซึ่งตัวแทนที่พึ่งปราถนา รวมทั้งประเด็นการปฏิรูปประเทศด้วย

โดยข้อเสนอในประเด็น หน้าที่ของรัฐที่พึ่งปรารถนานั้น ประชาชนต้องการให้เจ้าหน้าที่รัฐปฏิบัติตามกฎหมาย มีความโปร่งใส และเป็นธรรม มีความเป็นประชาธิปไตย และรัฐควรที่จะมีการทำงานที่รวดเร็ว เพราะที่ผ่านมาในการทำเรื่องขอที่ดินนั้นมีความล่าช้า ใช้เวลานานเกินไป

การแบ่งกลุ่มเสวนากลุ่มย่อยใน 5 ประเด็นหลัก ในส่วนของการได้มาซึ่งตัวแทนที่พึ่งปรารถนานั้น ประชาชนส่วนใหญ่ได้ร่วมแสดงออกถึงการแก้ปัญหา ซึ่งต้องการให้มีระบบคัดกรอง ส.ส. โดยให้เป็นหน้าที่ของ กกต. และให้มีการกำหนดอายุ ส.ส. ต้องไม่เกิน 80 ปี พร้อมให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 1 ใบ 1 เบอร์ ซึ่งทำให้เห็นว่าเสียงของประชาชนมีความหมายและสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมเห็นด้วยกับระบบเลือกตั้งแบบสัดส่วนผสม ด้านการกระจายอำนาจนั้น ต้องการให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัด ประชาชนต้องมีอำนาจในตรวจสอบการทำงานของท้องถิ่น รวมถึงให้มีการตั้งสภาประชาชนขึ้น เพื่อเป็นการเพิ่มอำนาจให้แก่ประชาชน พร้อมเพิ่มบทลงโทษในการใช้กฎหมายของรัฐ เพราะถือเป็นผู้ที่มีส่วนในการบังคับใช้กฎหมายทั้งหมด


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook