รบ.บอกมีพวกปลุกปั่นปมราชภักดิ์ทำสับสนขอรอผลสอบ

รบ.บอกมีพวกปลุกปั่นปมราชภักดิ์ทำสับสนขอรอผลสอบ

รบ.บอกมีพวกปลุกปั่นปมราชภักดิ์ทำสับสนขอรอผลสอบ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

'พล.ต.สรรเสริญ' ยัน มีความพยายามปลุกปั่นจากปมราชภักดิ์ แจงเชิญตัว 2 แกนนำไปพูดคุย ชี้การตรวจสอบไม่จำเป็นต้องลงพื้นที่

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยข้อสั่งการในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในเรื่องของความมั่นคง โดย พล.อ.ประวิตร ระบุว่าปัจจุบันมีความพยายามของแกนนำและกลุ่มการเมืองในการปลุกปั่นเพื่อให้เกิดประเด็นทางการเมือง เช่น แกนนำของ นปช. ที่จะเดินทางไปอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งในพื้นที่นั้นไม่สามารถตรวจสอบได้อยู่แล้ว เพราะการตรวจสอบจะต้องตรวจสอบจากเอกสารหลักฐาน และด้วยหน้าที่แล้วแกนนำทั้ง 2 คนไม่มีหน้าที่ในการตรวจสอบ แต่เป็นการพยายามปลุกปั่นให้เกิดความสับสนมากกว่า และในขณะนี้หน่วยงานที่ไปดำเนินการตรวจสอบก็ยังไม่มีหน่วยงานใดระบุว่าโครงการดังกล่าวมีการทุจริตประพฤติมิชอบ และที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีก็ได้กำชับแล้วว่า ทุกหน่วยงานจะต้องทำงานอย่างสุจริต โปร่งใส สามารถตรวจสอบได้

ทั้งนี้ การลงพื้นที่ของแกนนำ นปช. นั้นไม่ได้ลงไปเพียงลำพัง และจากการข่าวพบว่าในจังหวัดราชบุรีและประจวบคีรีขันธ์มีประชาชนจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วยกับการกระทำของแกนนำทั้ง 2 คน จึงอาจจะก่อให้เกิดเหตุการเผชิญหน้ากัน ทางฝ่ายความมั่นคงจึงจำเป็นต้องเชิญตัวแกนนำทั้ง 2 คนไปทำการพูดคุยและขอความร่วมมือให้หยุดการดำเนินการ เพราะไม่ทำให้เกิดประโยชน์กับประเทศชาติ

อย่างไรก็ตาม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอให้ประชาชนแยกแยะให้ได้ว่าประเด็นใดเป็นการปลุกปั่นและประเด็นใดเป็นการตรวจสอบ ขอให้ใช้ดุลยพินิจในการรับข้อมูลข่าวสาร โดยเฉพาะในสังคมโซเซียลที่มีความพยายามจะเชื่อมโยงให้เกี่ยวข้องกับบุคคลในรัฐบาล ซึ่งขณะนี้ทางเจ้าหน้าที่กำลังตรวจสอบการปล่อยข่าวดังกล่าวอยู่ หากจับได้ก็จะดำเนินการตามกฎหมาย

 

ป.ป.ช.ยังไม่พบข้อมูลชี้ชัดมีทุจริตราชภักดิ์

นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดเผยถึงมติที่ประชุมกรรมการ ป.ป.ช. ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ทางคณะกรรมการ ป.ป.ช. ให้สำนักการข่าวของ ป.ป.ช. ไปตรวจสอบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการอุทยานราชภักดิ์ ซึ่งจากข้อมูลภาพรวมทั้งหมดยังไม่พบข้อมูลที่ชัดเจนว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายการทุจริต แต่ทั้งนี้ได้มีผู้เสียหายมาร้องทุกข์ที่กองบังคับการปราบปราม รวมทั้งสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน พบว่ามีงบกลางกว่า 63 ล้านบาท ถูกนำมาใช้ในโครงการนี้ด้วย ซึ่งกำลังตรวจสอบว่าการใช้งบประมาณดังกล่าวและเงินบริจาคของมูลนิธิอุทยานราชภักดิ์ถูกต้องตามขั้นตอนหรือไม่ ขณะที่ทางกระทรวงกลาโหมได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้ว ดังนั้น เมื่อมีหน่วยงานทำหน้าที่ตรวจสอบอยู่ คณะกรรมการจึงมีมติให้สำนักงาน ป.ป.ช. ติดตามการดำเนินงานของทั้ง 3 หน่วยงาน ซึ่งหากพบมีเจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำการทุจริตหน่วยงานข้างต้นก็ต้องส่งเรื่องมาให้ ป.ป.ช. ดำเนินการภายใน 30 วัน

ส่วนกรณีที่ พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมออกมายอมรับว่า มีการหักค่าหัวคิวโรงหล่อองค์บูรพมหากษัตริย์จริง นายสรรเสริญ กล่าวว่า ยังไม่แน่ชัดว่าใครเป็นผู้กระทำการดังกล่าวและมีจริงหรือไม่ ส่วนกระแสข่าวการประมูลต้นไม้ในอุทยานราชภักดิ์ที่มีราคาเกินจริงนั้น เป็นหน้าที่ของ สตง. ต้องตรวจสอบว่ามีการนำเงินจัดซื้อต้นไม้จริงหรือไม่

 

ครม.เห็นชอบกม.ห้ามโฆษณาอาหารสำหรับทารก-เด็กเล็ก 

พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรีที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธาน ว่า คณะรัฐมนตรีมีมติตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก และผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. .... เพื่อควบคุมการโฆษณา การจำหน่ายโดยวิธีให้ส่วนลด
หรือขายพ่วง การแจกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ และการให้ข้อมูลผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับอาหารทารกและเด็กเล็ก เนื่องจากเดิมมีกฎหมายตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 ควบคุมอาหารทุกประเภท แต่ไม่เน้นอาหารเด็กทารกและเด็กเล็ก ทำให้องค์การอาหารและยา (อย.) มีข้อจำกัดในการตรวจตรา ดำเนินการ และไม่ครอบคลุมเรื่องอาหารทารกและเด็กเล็ก และขณะนี้มีการโฆษณาอย่างแพร่หลายและมีช่องว่างให้เกิดการแอบแฝงในการโฆษณา 
ซึ่งขัดกับองค์การอนามัยโลก จึงเสนอห้ามไม่ให้มีการโฆษณาในส่วนอาหารเด็กทารกและเด็กเล็ก โดยมีคณะกรรมการขึ้นมาดูแลเรื่องนี้ 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมมีการตั้งข้อสังเกตว่าการห้ามไม่ให้มีการโฆษณาอาจจะกระทบต่อผู้ประกอบการ แต่มีการเสนอว่าหากยึดหลักตามองค์การอนามัยโลก ก็ควรจะเป็นหลักการเดิม ครม. จึงเห็นชอบแต่มอบหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณา ว่าจะทำอย่างไรให้มีการโฆษณาเพื่อไม่ให้กระทบผู้ประกอบการ แต่ไม่ขัดต่อหลักการขององค์การอนามัยโลก ก่อนที่จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีต่อไป


แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook