10 วิธีกู้ธรรมชาติ จาก 10 นศ. สถาบัน ปฏิบัติง่ายๆ ด้วยมือเรา

10 วิธีกู้ธรรมชาติ จาก 10 นศ. สถาบัน ปฏิบัติง่ายๆ ด้วยมือเรา

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
ภาวะโลกร้อนเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรง และกำลังอยู่ในกระแสสังคมที่ทุกคนกำลังจับตา หลากหลายองค์กรเริ่มออกมารณรงค์ให้ช่วยกันแก้ไขปัญหาโลกร้อน แต่เหนือสิ่งอื่นใด ทุกอย่างขึ้นอยู่กับตัวเราทั้งหมด ไม่จำเป็นต้องทำอะไรใหญ่โตเพื่อช่วยโลก แค่ทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ โดยที่ทุกคนมีจิตสำนึกและร่วมมือกัน ย่อมเป็นสิ่งที่ดีกว่า นักศึกษาจาก 10 สถาบันได้เสนอ 10 วิธีกู้ธรรมชาติ แม้จะเป็นการกระทำที่เล็กน้อย แต่ทุกคนสามารถทำได้โดยง่ายและใกล้ตัวเราเป็นอย่างมาก

นายวทัญญู อิงควิวัฒน์ หรือ โอ๊ต คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เสนอวิธี ต้องทิ้งขยะให้เป็นที่เป็นทาง

เป็นนิสัยส่วนตัวครับ เพราะโอ๊ตไม่ชอบอะไรที่มันรกตา เวลาเห็นขยะทิ้งไว้ก็จะช่วยเก็บไปทิ้งให้เป็นที่เป็นทางครับ ขยะบางอย่างย่อยสลายยากและใช้เวลานาน ยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ เรื่องอย่างนี้อยู่ที่จิตสำนึกครับ ขอเพียงทุกคนทิ้งขยะให้ลงถังก็ช่วยให้บ้านเมืองน่าอยู่ขึ้นเยอะ ไม่ก่อให้เกิดมลพิษด้วย ถ้าเราไม่ดูแลสภาพแวดล้อม แล้วใครจะมาดูแลแทนเราล่ะครับ

ปัจจุบันขยะ เป็นปัญหาใหญ่อันดับหนึ่งในสังคม กรุงเทพมหานครมีปริมาณขยะสูงถึง 8.5 พันตันต่อวัน หากคิดเฉลี่ยเป็นรายบุคคลแล้ว 1 คนจะก่อให้เกิดขยะในปริมาณ 0.8 - 1 กิโลกรัมต่อวัน จึงเป็นภาระหนักของ กทม. ในการกำจัดขยะเหล่านั้น ปริมาณขยะที่เกิดขึ้นมากมายนี่เองส่งผลให้มีขยะตกค้างเป็นจำนวนมากในแต่ละวันส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสภาพความเป็นอยู่ในสังคมมากมาย

น.ส.อาฬษา เหมือนแก้ว หรือ ป่าน คณะบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เสนอวิธีปลูก ต้นไม้

บ้านป่านโชคดีที่มีเนื้อที่ให้ปลูกต้นไม้ก็ช่วยกันกับคุณแม่ คุณน้าซื้อต้นไม้มาปลูกกันเองที่บ้าน ส่วนใหญ่เป็นไม้ประดับ เพราะปลูกต้นไม้ใหญ่ไว้หลายต้นแล้ว ตื่นมาตอนเช้าเจอต้นไม้เยอะๆ มันสดชื่นค่ะ เหมือนอยู่ต่างจังหวัด ในหมู่บ้านทุกบ้านจะปลูกต้นไม้กันหมด เพราะเห็นว่าบ้านป่านปลูกแล้วดูร่มรื่นสวยดีเลยปลูกตามกัน ป่านยังตอนกิ่งเอาไปให้เพื่อนๆ ที่มหาวิทยาลัยลองปลูกกันด้วย

ป่านว่าการปลูกต้นไม้เป็นการช่วยธรรมชาติให้เกิดสมดุล ถ้าทุกคนช่วยกันปลูกตามบ้านหรือเข้าไปปลูกป่าได้ยิ่งดี เพราะจะช่วยได้เยอะมาก ตอนนี้มลพิษในอากาศมีเยอะมาก ถ้าไม่มีต้นไม้สูดเอามลพิษไปก็ต้อง เป็นเราแล้วค่ะที่ต้องสูดแทน

นายนราธิป ธรรมพัฒน์พงศ์ หรือ นิว คณะวิศวกรรมศาสตร์สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสนอวิธีลดการใช้ลิฟต์

ทุกครั้งที่กดลิฟต์จะสิ้นเปลืองพลังงานมากถ้าขึ้นลงไม่กี่ชั้น แนะนำให้เดินขึ้นบันไดดีกว่า ช่วยออกกำลังกายขาได้ด้วย ถ้าจะใช้ น่าจะใช้เวลาขึ้นไปบนชั้นที่สูงมากๆ แต่เวลาใช้ลิฟต์ควรขึ้นกันหลายๆ คน จะได้ไม่ใช้ลิฟต์ หลายรอบ ยิ่งใช้ลิฟต์น้อยก็สามารถช่วยลด การใช้ไฟฟ้าลงได้ เป็นการช่วยทางอ้อมครับ เพราะโรงผลิตไฟฟ้าเวลาทำงาน จะปล่อย มลภาวะที่เป็นพิษ ในโลกยังมีอีกหลายวิธีที่สามารถ ช่วยรักษาธรรมชาติได้ ที่สำคัญขอแค่ไม่ทำลาย ธรรมชาติก็พอแล้ว

น.ส.อรรถพร อจลเสรีวงศ์ หรือ หลา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นึกถึง วิธีการนำกลับมาใช้ใหม่ หรือ Reuse

เป็นเด็กกิจกรรมค่ะ เวลามีกิจกรรมอะไรที่ต้องใช้อุปกรณ์ก็จะนำของที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ เช่น เศษไม้ เศษเหล็ก ไม่ต้องเสียเงินซื้อ บางครั้งอาศัยขอยืมเอา ของที่บางคนเห็นว่ามันใช้ประโยชน์ไม่ได้แล้ว ความจริง มันยังมีประโยชน์อยู่ การนำกลับมาใช้ใหม่ช่วยให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ว่า ของที่เขาทิ้งแล้วเราจะสามารถนำมาใช้ในงานของเราได้อย่างไรให้ดูมีคุณค่าและสวยงาม

การนำกลับมาใช้ใหม่สามารถช่วยอนุรักษ์ธรรมชาติได้มาก เพราะปัจจุบันทรัพยากรมีอยู่อย่างจำกัด ของแต่ละอย่างก็ต้องใช้ให้คุ้มค่าค่ะ

การคัดแยกขยะก่อให้เกิดผลประโยชน์อย่างมาก คือสามารถลดปริมาณขยะลงได้ เป็นการประหยัดงบประมาณลง เพราะในเมื่อเหลือปริมาณขยะจริงที่จำเป็นต้องกำจัดหรือทำลายน้อยลง ก็จะใช้งบประมาณน้อยลงในการเก็บขนและกำจัดหรือทำลายขยะน้อยลงไปด้วย เช่น สามารถซื้อถังขยะให้น้อยลง ทำให้ซื้อรถเก็บขนขยะให้น้อยลง มีคนงานจำนวนน้อยลง และใช้เงินจ้างในการกำจัดและทำลายขยะน้อยลง

ในปัจจุบัน กทม. ต้องเก็บขนและทำลายขยะว9,000 ตัน ต้องใช้งบประมาณถึงประมาณ 2,000 ล้านบาท/ต่อปี ในการจัดการเก็บขนและทำลายขยะใช้เจ้าหน้าที่กว่า 10,000 คน ใช้รถเก็บขนขยะกว่า 2,000 คัน ใช้เรือเก็บขนขยะหลายสิบลำ ใช้ถังขยะนับหมื่นใบ ต้องจ้างฝังกลบขยะในราคาตันละกว่า 100 บาท นอกจากนี้ยังทำให้ได้วัสดุหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่เรียกว่า Recycle ช่วยให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะในเมื่อขยะน้อยลง สิ่งแวดล้อมก็จะต้องดีขึ้น สะอาดขึ้นปลอดภัยต่อสุขภาพมาก

น.ส.กมลรัตน์ แสงครุฑ หรือ ตอง วิทยาลัยการเมืองการปกครอง มหาวิทยาลัยมหาสารคาม บอกว่าวิธีที่ตนปฏิบัติเป็นประจำคือ การประหยัดและรักษาน้ำ

ที่บ้านสอนเรื่องนี้มาค่ะ ถ้าเห็นน้ำที่รองไว้เต็มก็ต้องปิด เพราะถ้าไม่ปิดน้ำที่ล้นออกมามันก็ไร้ประโยชน์ เมื่อตองมาอยู่หอพักด้านหลังจะมีที่ล้างรถอยู่ ตองเห็นประจำเลยค่ะว่า น้ำถูกเปิดทิ้งไว้เวลาล้างรถ คนไหนที่รู้จักตองก็จะเข้าไปเตือน แต่ถ้าไม่รู้จักตองจะให้คนดูแลหอมาเตือนแทน ที่ต้องประหยัดน้ำเพราะน้ำเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นเหมือนเส้นเลือดหล่อเลี้ยงโลกนี้ ถ้าขาดน้ำทุกอย่างก็ดูเหี่ยวเฉา ไม่สดชื่น น้ำทุกหยดมีคุณค่า แม้แต่น้ำหยดเดียวก็ต่อชีวิต คนทั้งโลกได้

ในการผลิตน้ำประปาแทบทุกขั้นตอน ล้วนแล้วแต่ต้องใช้พลังงานในการผลิตทั้งสิ้น เริ่มตั้งแต่การสูบน้ำจากแหล่งน้ำจืด การกรอง การสูบน้ำเพื่อส่งไปตามท่อน้ำ รวมถึงการบำบัดน้ำเสีย ดังนั้นหากเราใช้น้ำอย่างประหยัด ก็จะเป็นการช่วยประหยัดพลังงาน ได้อีกทางหนึ่ง โดยเริ่มต้นจากที่บ้าน ไม่ควรรดน้ำต้นไม้ตอนมีแดดจัด เพราะจะทำให้น้ำระเหยไปอย่างรวดเร็ว ควรเลือกที่จะรดในเวลาเช้าเพราะอากาศยังเย็นอยู่ทำให้น้ำระเหยได้ช้า เลือกใช้อุปกรณ์ประหยัดน้ำหรืออุปกรณ์ที่มีประสิทธิภาพสูง ทั้งก๊อกประหยัดน้ำ ซักโครก เป็นต้น

น.ส.กนกพร อยู่ศรีเจริญ หรือ นก นักศึกษาภาควิชาภูมิศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อยากให้ใช้การปั่นจักรยานแทนการใช้รถ

ปกติปั่นจักรยานทุกวัน ที่ไม่ใช้มอเตอร์ไซค์ เพราะเป็นการช่วยลดการใช้น้ำมันค่ะ การเผาผลาญของเครื่องยนต์ก่อให้เกิด ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ทำลายชั้นบรรยากาศ ถ้าลดการใช้เครื่องยนต์ก็พอช่วยได้บ้างค่ะ ที่สำคัญช่วยออกกำลังกายได้อีกทางหนึ่ง

แม้คนหนึ่งอาจจะช่วยไม่ได้มาก แต่ถ้าทุกคนลองหันมาปั่นจักรยานก็เท่ากับช่วยประหยัดน้ำมัน และลดมลภาวะเป็นพิษ อย่างน้อยก็ดีกว่าที่เราไม่ได้ช่วยทำอะไรเลย

นายภัทรินทร์ พานิชโยทัย หรือ เปา คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขามัลติมีเดีย และอินเทอร์เน็ต มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เสนอให้ หลีกเลี่ยงการใช้ถุงพลาสติก

การทำถุงพลาสติกโรงงานที่ผลิตจะปล่อยความร้อน เป็นสาเหตุทำให้โลกร้อน ที่สำคัญถุงพลาสติกย่อยสลายได้ยาก ตัวผมเองตอนนี้ก็หันมาทานมาม่าที่ทำจากถ้วยกระดาษครับ ส่วนคุณแม่ชอบเอาถุงพลาสติกกลับมาใช้ใหม่ เป็นการช่วยลดการผลิตลงได้ครับ อยากฝากให้ทุกคนใช้ของจากธรรมชาติมากกว่าของที่สังเคราะห์ขึ้นมาครับ

นายเกษม ไตรพรวัฒนกุล หรือ กรุ๊ป คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ลดการเล่นเกมออนไลน์ทั้งวันก็สามารถช่วยได้

เมื่อก่อนเล่นเกมออนไลน์ทุกวัน วันละ 8 ชั่วโมงเป็นอย่างต่ำ แต่ตอนนี้ไม่ค่อยได้เล่น แล้วค่าไฟลดลงกว่าเดิมมากครับ ตอนนั้นโดนที่บ้านเตือนก็เลยพยายามลดการเล่นเกมออนไลน์ลง ในตอนแรกลดได้ไม่เยอะแต่ระยะหลังลดลงกว่าเดิมมาก ยิ่งตอนนี้มีงานเข้ามาเยอะทำให้ไม่มี เวลาเล่น แต่ถือเป็นสิ่งที่ดีครับ อย่างน้อยก็ช่วย ประหยัดพลังงาน ประหยัดค่าไฟที่บ้าน เมื่อก่อนถึงไม่ได้เล่นเกมก็เปิดคอมพิวเตอร์ทิ้งไว้ เพิ่งรู้ครับว่าแค่เลิกเล่นเกมออนไลน์เป็นวันๆ ก็สามารถช่วยโลก ช่วยธรรมชาติได้

น.ส.มณฑาทิพย์ ภักดิ์ทองพันธ์ หรือ ปุ๊ก คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง เสนอวิธีง่ายๆ คือ การปิดไฟเมื่อไม่ใช้

จากสถานะทางบ้าน ทางใดช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้ก็ต้องประหยัดค่ะ ตอนกลางวันจะไม่เปิดไฟเลย แต่จะเปิดในช่วงเย็นที่ฟ้าเริ่มมืดแล้ว และเป็นช่วงที่ทุกคนกลับบ้านมาอยู่พร้อมกันด้วยค่ะ นอกจากนี้ปุ๊กยังต้องช่วยประหยัดค่าไฟในส่วนอื่นๆ ด้วย ทั้งโทรทัศน์ เครื่องซักผ้า และถึงจะช่วยประหยัดแล้ว แต่ถ้าค่าไฟขึ้นก็โดนที่บ้านว่าเหมือนกัน

การปิดไฟเมื่อไม่ใช้ เป็นิธีที่ง่ายๆ แต่ ทุกคนสามารถทำได้ เป็นการช่วยลดพลังงาน และช่วยเหลือธรรมชาติทางหนึ่ง ถ้าทุกคนสามารถช่วยลดกันคนละเล็กละน้อยได้จะดี มากค่ะ

มีการศึกษาวิจัยกันในแวดงวงพลังงานว่า ก๊าซธรรมชาติ ที่บ้านเราใช้ผลิตไฟฟ้านั้น ประมาณการณ์แล้วแหล่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะมีให้ใช้ได้อีกประมาณ 60 - 70 ปีเท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วง ที่เราต้องรีบคิดหาทางตั้งรับหรือแก้ไขปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

ข้อมูลจากกระทรวงพลังงาน ระบุถึงสถานการณ์ด้านพลังงานในปี 2550 ว่า การใช้ก๊าซธรรมชาติ ในปี 2550 ปริมาณการใช้อยู่ที่ระดับ 3,236 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 5.1 ก๊าซธรรมชาติถูกนําไปใช้ในภาคการผลิตต่างๆ ได้แก่ การผลิตไฟฟ้าคิดเป็น สัดส่วนร้อยละ 70 ของการใช?ทั้งหมด จํานวน 2,286 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 1.5 ส่วนกําลังการผลิตติดตั้งไฟฟ้า ปี 2550 อยู่ที่ 28,230 เมกะวัตต์ความต้องการไฟฟ้าสูงสุดเกิดขึ้น ณ วันที่ 24 เมษายน 2550 ที่ระดับ 22,586 เมกะวัตต? สูงขึ้นกว่าปีก่อน 1,522 เมกะวัตต? ค่าตัวประกอบไฟฟ้าเฉลี่ย (Load Factor) อยู่ที่ร้อยละ 75 และกําลังผลิตสํารองไฟฟ้าต่ำสุด (Reserved Margin) อยู่ที่ร้อยละ 20.4

ปิดท้ายด้วย น.ส.สุพรรณี สายบุญ หรือ นุ้ย คณะครุศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เสนอวิธี การไม่ใช้เครื่องปรับอากาศ

เครื่องปรับอากาศมันมีการใช้สาร ซีเอฟซี (CFC) ทำให้เกิดภาวะเรือนกระจก และส่งผลให้โลกร้อนขึ้น เพราะชั้นบรรยากาศถูกทำลาย โดยเฉพาะโอโซน บ้านนุ้ยเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน เพราะห้องนอน ที่บ้านติดแอร์ทุกห้องค่ะ แต่นุ้ยไม่เปิดแอร์ ชอบเปิดพัดลมมากกว่า เป็นการประหยัดพลังงานไฟฟ้า และทำให้ไม่เกิดภาวะโลกร้อนเพิ่มขึ้นด้วย นุ้ยว่าทุกอย่างควรเริ่มที่ตัวเองก่อน คนที่บ้านก็ไม่ได้ปิดแอร์นอนอย่างนุ้ยทุกคน แต่อย่างน้อยนุ้ยก็ทำเป็นตัวอย่างให้เห็นว่า คนเราไม่ต้องมีแอร์ก็อยู่ได้ค่ะ

สาร CFC หรือ Chlorofluorocarbon เป็นสารที่ทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ เกิดขึ้นมาจากอุตสาหกรรมทำโฟม น้ำยาแอร์ หรือผสมอยู่ในกระป๋องสเปรย์ การเผาไหม้ขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ ทำให้ รังสี UV จากแสงอาทิตย์เข้ามาสู่ผิวโลกมาก รังสี UV มีผลเสียต่อมนุษย์เพราะถ้าผิวหนังโดนรังสี UV ในปริมาณมาก จะทำให้เกิดมะเร็งที่ผิวหนัง ตาเป็นต้อได้

ทั้งหมดคือ 10 วิธีง่ายๆ จากนักศึกษา 10 สถาบัน ในความเป็นจริงยังมีอีกสารพัดวิธีในการช่วยโลก เพียงแค่ลงมือปฏิบัติคนละเล็กละน้อย โลกของเราจะน่าอยู่ขึ้นมาก แต่สิ่งสำคัญคือ จิตสำนึกของเราเอง การช่วย อนุรักษ์ธรรมชาติ รักษาภาวะโลกร้อนไม่ควรทำตามกระแส แต่ควรทำออกมาจากใจที่มีจิตสำนึกต่อธรรมชาติและโลกจริงๆ ต่างหาก

************************************

เรียบเรียงโดย นางสาวอนุธิดา ฉัตรเมืองแวง นศ.มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา

ข้อมูลอ้างอิงจาก

กรุงเทพมหานคร

สำนักงานเลขานุการกรม http//secreta.doae.go.th

www.bangkokbiznews.com

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook