เพื่อไทย จ้องตัดงบฝึกคนว่างงาน 6.9 พันล้าน อ้างส่อขัดรธน. กอปร์ศักดิ์ นัดถกงบฯจังหวัด 2 ก.พ.นี้

เพื่อไทย จ้องตัดงบฝึกคนว่างงาน 6.9 พันล้าน อ้างส่อขัดรธน. กอปร์ศักดิ์ นัดถกงบฯจังหวัด 2 ก.พ.นี้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
เพื่อไทย ชี้งบฯฝึกคนว่างงานส่อขัด รธน. ขอแปรญัตติตัดเหี้ยน 6.9 พันล้าน อ้างไม่มีหน่วยงานรับผิดชอบชัดเจน สำนักนายกฯ แจงไม่จัดลงรายกระทรวง เพราะโยกงบฯไม่ได้ กอร์ปศักดิ์ นัดถกงบฯจังหวัด 5 หมื่นล้าน ให้เวลา 20 วัน ผู้ว่าฯทำแผนส่งประกวดขอเงิน

กอร์ปศักดิ์ไนัดถกงบฯจังหวัด

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) เปิดเผยเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ว่า ในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ จะมีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) นัดแรกของรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมีนายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยวาระสำคัญคือการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการจัดทำแผนพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ตามพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) ว่าด้วยการบริหารจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ พ.ศ.2551 และกำหนดหลักเกณฑ์ในการบริหารงบประมาณของจังหวัดและกลุ่มจังหวัดด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลเตรียมตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ไว้จัดสรรให้จังหวัดต่างๆ ถึง 5 หมื่นล้านบาท แต่ในปีนี้มีการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์ในการจัดสรรใหม่

นายกอร์ปศักดิ์ได้มอบนโยบายว่า จะไม่เน้นการกระจายเงินให้ทั่วถึงทุกจังหวัด แต่จะให้ผู้ว่าฯเสนอแผนแลกงบประมาณ โดยต้องจัดทำแผนงานสอดคล้องกับศักยภาพของจังหวัด และสามารถตอบสนองต่อการแข่งขันของประเทศได้ จึงไม่ได้แปลว่าจะต้องใช้งบฯที่ตั้งไว้ 5 หมื่นล้านบาท จนเกลี้ยงหมด เลขาธิการ ก.พ.ร.กล่าว

นายทศพรกล่าวว่า สำหรับแผนยุทธศาสตร์การพัฒนากลุ่มจังหวัดทั้ง 18 กลุ่ม จะเน้นมิติด้านการส่งเสริมและกระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ ส่วนแผนจังหวัดทั้ง 75 จังหวัด จะเน้นมิติด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม โดย ก.น.จ.จะให้อิสระจังหวัดในการคิดแผนงานและโครงการต่างๆ แต่ต้องมีกระบวนการปรึกษาภาคส่วนต่างๆ ภายในจังหวัด และต้องแยกแยะให้ชัดเจนว่าพื้นที่เป้าหมายของแต่ละโครงการว่าเป็นระดับประเทศ กลุ่มจังหวัด หรือจังหวัด พร้อมจำแนกเม็ดเงินที่ใช้ว่ามาจากงบฯกระทรวง/ทบวง/กรม หรืองบฯจังหวัด หรืองบฯองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อนกัน ทั้งนี้ จะให้เวลาในการจัดทำแผนประมาณ 20 วัน ก่อนนำกลับมาเสนอต่อคณะอนุกรรมการ ก.น.จ. และเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 17 มีนาคม เพื่อจัดทำคำเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ต่อไป

ติงขรก.อย่าเข้มงบฯเอสเอ็มแอล

ที่รัฐสภา เวลา 09.30 น. มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปี 2552 ประชุมร่วมกันที่รัฐสภา มีนายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธานการประชุม โดยที่ประชุมได้เริ่มพิจารณางบประมาณโครงการเศรษฐกิจพอเพียงเพื่อยกระดับชุมชน หรือโครงการเอสเอ็มแอลเดิม จำนวน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่ง กมธ.จากพรรคฝ่ายค้านและพรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นสอดคล้องกันว่าหน่วยราชการไม่ควรวางหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวดเกินไปในการใช้เงินงบประมาณ แต่ควรให้อิสระชาวบ้านในแต่ละชุมชนว่าโครงการใดจะเป็นประโยชน์สูงสุด และห้ามปล่อยกู้หรือเอาเงินไปแบ่งกันเองภายในหมู่บ้าน โดยให้ส่วนราชการคอยกำกับดูแลเท่านั้นแต่ไม่ควรเข้าไปก้าวก่ายความคิดของชาวบ้าน

นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี กมธ.จากพรรคประชาธิปัตย์ ซักถามว่าสาเหตุที่โครงการเอสเอ็มแอลเกือบ 1 หมื่นหมู่บ้าน วงเงินเดิมคือ 6,000 ล้านบาท จึงยังไม่มีการโอนเงินไปยังหมู่บ้าน นายพงษ์เทพ ถิฐาพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชนตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง (พพพ.) ชี้แจงว่า มีเม็ดเงินพร้อมที่จะโอนให้อยู่แล้ว แต่รัฐบาลพรรคพลังประชาชนถูกยุบไปเสียก่อน ทุกอย่างจึงหยุดชะงัก หากรัฐบาลชุดนี้อนุมัติเม็ดเงินก็พร้อมจะลงไปยังหมู่บ้านทันที

พท.-ปชป.ถล่มโครงการว่างงาน

จากนั้นเป็นการพิจารณาโครงการเพิ่มศักยภาพผู้ว่างงานเพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมในชุมชน งบประมาณ 6,900 ล้านบาท เพื่อรองรับปัญหาว่างงานอันเนื่องมาจากวิกฤตเศรษฐกิจ กลุ่มเป้าหมายเป็นแรงงานในสถานประกอบการและนักศึกษาจบใหม่ จำนวน 2.4 แสนคน หน่วยฝึกอบรมได้แก่ กระทรวงแรงงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน และสถาบันการศึกษา

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ส.ส.ประจวบคีรีขันธ์ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) กรรมาธิการ อภิปรายว่า กลุ่มเป้าหมาย 2.4 แสนคน ไม่น่าจะครอบคลุม เนื่องจากเชื่อว่าภายในสองปีนี้จะมีคนว่างงาน 1.2 ล้านคน ทำให้อาจเกิดปัญหาเรื่องความเป็นธรรมในการคัดสรรผู้ตกงานเข้าฝึกอบรม และควรให้กระทรวงแรงงาน เป็นแม่งาน ไม่ใช่สำนักนายกรัฐมนตรี

ด้านนายอัศวิน วิภูศิริ ส.ส.สัดส่วน พรรคชาติไทยพัฒนา ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้าแบ่งเป็นภาคผู้ใช้แรงงานกับใช้องค์ความรู้ ภาคผู้ใช้แรงงานสามารถกลับสู่ภาคเกษตรได้ และกลับสู่ภาคแรงงานได้เมื่อเศรษฐกิจฟื้น แต่สำหรับภาคผู้ใช้องค์ความรู้ ยิ่งผู้หญิงอายุเกิน 30 ปี ผู้ชายอายุเกิน 35 ปี เมื่อออกไปแล้วกลับมายาก และไม่สามารถไปทำงานด้านแรงงานได้ด้วย รัฐบาลจึงต้องคิดในเรื่องนี้

ขอตัดงบฯฝึกคนว่างงาน6.9พันล.

นายสมชาย ชุ่มรัตน์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ชี้แจงว่า ข้อมูลการว่างงานของกระทรวงในปี 2549 มี 1.8 แสนคน ปี 2550 มี 2.8 แสนคน ปี 2551 มีเกือบ 4 แสนคน และในปี 2552 เฉพาะเดือนมกราคม มีแรงงานถูกเลิกจ้าง 7 หมื่นคน ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงงานกำหนดกลุ่มเป้าหมายใช้งบฯ 4 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ถูกเลิกจ้าง เป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญสุด ต้องเอาเข้าสู่การจ้างงานโดยเร็ว เพราะมีภาระทางครอบครัว ถัดมาคือกลุ่มนักศึกษาจบใหม่ ปีละ 5 แสนคน เชื่อว่ามีที่ยังไม่มีงานทำ 2-3 แสนคน ถัดมาคือแรงงานในระบบประกันสังคม และแรงงานนอกระบบ ทั้งนี้ จนถึงมกราคม 2552 มีสถานประกอบการแจ้งมายังกระทรวงว่า ยังมีความต้องการแรงงาน 1.3 แสนตำแหน่ง ในจำนวนนี้มีอาชีพเกี่ยวกับแพทย์และพยาบาลส่วนหนึ่ง ส่วนอีก 1.25 แสนตำแหน่ง กระจายเป็นผู้บริหารระดับอาวุโส ช่างเทคนิค เสมียนเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องจักร กรรมการ ช่างก่อสร้าง ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การคัดเลือกและการฝึกอบรม จะเสนอคณะกรรมการโครงการในการประชุมวันที่ 2 กุมพันธ์

ด้านนายนัที เปรมรัศมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงการตั้งงบฯที่ให้สำนักนายกฯเป็นฝ่ายเลขานุการโครงการว่า เพราะตัวเลขผู้ว่างงานยังไม่แน่ชัด จึงให้หน่วยงานต่างๆ มาเสนอวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ซึ่งถ้าจัดงบฯตัวนี้เป็นรายกระทรวง จะโยกงบฯไม่ได้ แต่ถ้าตั้งที่สำนักนายกฯจะสามารถโยกได้ ทำให้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน พรรคเพื่อไทย กรรมาธิการ ตั้งข้อสังเกตว่ากรณีแบบนี้อาจมีการตีความกรณีที่ไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบเบ็ดเสร็จว่าอาจขัดรัฐธรรมนูญ เพราะโครงการเกี่ยวกับผู้ว่างงานแต่ไม่ได้ลงไปที่กระทรวงแรงงาน จึงขอสงวนคำแปรญัตติ ที่ขอให้ตัดงบประมาณ 6,900 ล้านบาท ทั้งหมด เพื่อรอแต่ละกระทรวงทำกรอบข้อมูลให้ชัดเจนก่อน

สปส.ชี้ปีนี้ตกงานแค่5แสน

สำหรับตัวเลขคนตกงาน ล่าสุด นายปั้น วรรณพินิจ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในงานสัมมนาที่จัดโดยสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ตอนหนึ่งว่า แม้หลายฝ่ายจะระบุว่าในปีนี้จะมีผู้ถูกเลิกจ้างประมาณ 1 ล้านคน แต่ สปส.เชื่อว่าไม่น่าเกิน 500,000 คน เนื่องจากการติดตามสถานการณ์การเลิกจ้างในปี 2551 พบว่ามีจำนวนผู้ถูกเลิกจ้าง 380,000 คน ขณะเดียวกันจากการติดตามตัวเลขการเลิกจ้างช่วงต้นปีนี้สิ้นสุดวันที่ 26 มกราคม อยู่ที่ 27,000-28,000 คน และเชื่อว่าสิ้นเดือนมกราคมนี้ จะอยู่ที่ 36,000 คน นอกจากนี้ สปส.ยังเชื่อมั่นว่ามาตรการของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ หรือมาตรการทางภาษี อย่างไรก็ตาม ผู้ประกันตนที่ถูกเลิกจ้าง สปส.ปัจจุบันได้สิทธิคุ้มครอง 8 เดือน แต่หลังจากนั้นรัฐบาลควรหามาตรการคุ้มครองในเดือนที่ 9 และเดือนต่อๆ ไปให้คนกลุ่มนี้ ให้มีรายได้เพื่อใช้จ่าย รวมทั้งการรักษาพยาบาลของตัวเองด้วย

ซัดกู้รบ.2.7แสนล.ตำน้ำพริก

ที่พรรคเพื่อไทย นายพร้อมพงศ์ นพฤทธิ์ โฆษกพรรคเพื่อไทย แถลงว่า จากข้อมูลที่ระบุว่ามีเงินคงคลังเหลือเพียง 5.2 หมื่นล้านบาท แสดงให้เห็นว่ารัฐบาลชุดนี้ดำเนินนโยบายอย่างประมาท ไม่ตรวจสอบรายได้การจัดเก็บภาษีของรัฐบาล นอกจากนี้ ยังระบุว่าจะกู้เงินเพิ่มอีก 2.7 แสนล้านบาท ถือเป็นการก่อหนี้ให้กับคนไทยทั้งประเทศ เพื่อตอบสนองนโยบายตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงินคนละ 2 พันบาท ไม่เกิดประโยชน์กับการกระตุ้นเศรษฐกิจเลย นอกจากนี้ การขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ทำให้ประชาชนต้องจ่ายราคาน้ำมันเพิ่มขึ้นอีกลิตรละ 1.50 บาท ก็มีผลให้การกระตุ้นเศรษฐกิจชะลอตัวลง พรรคเห็นว่ามาตรการดังกล่าวที่ออกมาไร้การรองรับหรือไร้การตรวจสอบการกักตุนน้ำมัน จึงขอเรียกร้องรัฐบาลประชาธิปัตย์ให้ดูแลกวดขันขบวนการค้าน้ำมันเถื่อน ที่ลักลอบเข้าประเทศไทยแถบฝั่งทะเลด้านอันดามันและทางสุราษฎร์ธานี รวมทั้งชายแดนด้านติดกับมาเลเซียด้วย รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์อย่าลูบหน้าปะจมูก

จี้มาร์คแจงตัวเลขเศรษฐกิจ

นายคณวัฒน์ วศินสังวร รองหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะทีมเศรษฐกิจของพรรค แถลงว่า ขอเรียกร้องให้นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกฯ ชี้แจงถึงเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นใจให้ประชาชนได้จับจ่ายใช้สอย เนื่องจากขณะนี้ตัวเลขทางเศรษฐกิจส่อเค้าไม่ค่อยดี ทั้งขาดดุลการคลังและขาดดุลบัญชีเดินสะพัด อีกทั้งกระทรวงการคลังเตรียมเสนอที่ประชุม ครม.ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ เพื่อกู้เงินทั้งในและต่างประเทศเพิ่มอีก 2.7 แสนล้านบาท และเงินคงคลังลดวูบลงเหลือเพียง 5.2 หมื่นล้านบาท เหลือเพียงพอแค่จ่ายเงินเดือนข้าราชการแค่เดือนครึ่ง จึงขอให้นายกฯออกมาพูดความจริง เพราะประชาชนเป็นห่วงที่รัฐบาลกำลังจะไปสร้างหนี้ให้กับประเทศเหมือนที่เคยทำไว้ในคราววิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ส่วนกรณีที่ประชาชนได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันเพิ่มนั้น ประชาชนฝากถามนายกฯว่าได้ยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันแล้วหรือยัง แล้วเหตุใดน้ำมันในตลาดโลกลดลง แต่น้ำมันในประเทศแพงขึ้น หรือว่าแผนปฏิบัติการเร่งด่วน 99 วันของพรรคประชาธิปัตย์ทำไม่ได้จริง ที่ระบุว่าจะยกเลิกการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน แบบนี้สร้างความสับสนให้ประชาชน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook