เพื่อไทยยันไม่เคยได้ยินแม้วล้มอาเซียน ด้านมาร์คถกดาวอสเรียกความเชื่อมั่นคืนประเทศไทย

เพื่อไทยยันไม่เคยได้ยินแม้วล้มอาเซียน ด้านมาร์คถกดาวอสเรียกความเชื่อมั่นคืนประเทศไทย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook
วิทยายันไม่ได้ข้อมูลแม้วขวางประชุมอาเซียน อภิสิทธิ์บันทึกเสียงผ่านรายการ ขอบคุณเพื่อนส.ส.-ส.ว.ผ่านกรอบอาเซียน แจงภารกิจเวทีศก.โลกเน้นเรียกความเชื่อมั่นคืนนายกฯ ลั่นกลางสื่อเวทีศก.โลก เชื่อความรู้สึกคนไทยพลิกกลับต้านฝั่งไม่ชอบรบ. ชี้พลังแม้วยังทรงอิทธิพล เดินสายล็อบบี้ภาคีล้มอาเซียนซัมมิท ไม่กังวลม็อบ อยากเห็นปท.ก้าวไปข้างหน้า

นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคเพื่อไทย (พท.) กล่าวเมื่อวันที่1 ก.พ. ภายหลังเข้าร่วมประชุมสภาสมัยวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ที่อาคารรัฐสภา ถึงกรณีกระแสข่าวการมีส่วนเกี่ยวข้องของพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาสร้างกระแสข่าวโจมตีรัฐบาล เพื่อไม่ให้ประเทศต่างๆ ให้ความร่วมมือในการเข้าประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ว่า ในเรื่องนี้ตนยังไม่ได้รับข้อมูลว่า อดีตนายกฯมีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่า น่าจะเป็นความรู้สึกของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี เพียงฝ่ายเดียว เพราะบรรดาประเทศสมาชิกลุ่มอาเซียนของแต่ละประเทศ น่าจะมีกระบวนการการตัดสินใจเองว่า จะให้ความร่วมมือหรือไม่

ส่วนกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่ออกมาชุมนุมเพื่อกดดันให้รัฐบาลให้ทำตามคำเรียกร้อง และพยายามคัดค้านไม่ให้ประเทศต่างๆ เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นายวิทยา กล่าวว่า กลุ่ม นปช.หรือกลุ่มเสื้อแดงที่ออกมาชุมนุม เป็นเพียงการแสดงออกในฐานะประชาชนคนหนึ่ง ที่มีสิทธิแสดงความคิดเห็นตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องรับฟัง ส่วนการจะปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่นายกฯต้องตัดสินใจ เพราะหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้ คือ การทำให้การแบ่งแยกสีของประชาชนหมดไป และการจัดการเรื่องรัฐธรรมนูญ โดยเห็นว่า หากไม่สามารถดำเนินการได้ ก็น่าจะฟังความคิดเห็นจากประชาชน คือ การยุบสภาคืนอำนาจให้กับประชาชน

เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 1 กุมภาพันธ์ รายการเชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์ ทางเอ็นบีที แพร่ภาพเสียงสัมภาษณ์ของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงก่อนขึ้นเครื่องบินเดินทางกลับประเทศไทย หลังการประชุมเวิลด์อีโคโนมิกฟอรัมที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ความยาวประมาณ 30 นาที

นายอภิสิทธิ์ กล่ววว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการประชุมสภา 4 วัน ซึ่งมีความสำคัญมาก โดยใน 2 วันแรก วันจันทร์ที่ 26 ม.ค. และวันอังคารที่ 27 ม.ค. เป็นการประชุมร่วม 2 สภา ซึ่งได้ผ่านร่างหนังสือสำคัญที่เกี่ยวกับการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนทั้งหมด 41 ฉบับ จึงถือโอกาสนี้ขอบคุณเพื่อน ส.ส.และ ส.ว. ทำให้เรามีความพร้อมจัดการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ในปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ นอกจากนี้ การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันพุธที่ 28 ม.ค. ที่ผ่านมา ได้ผ่านมาตรการสำคัญหลายรายการ แต่ที่จะนำมาพูดคือเรื่องการแก้ปัญหากองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เน้นการปรับปรุงระบบบริหาร เพื่อเงินถึงมือลูกหลานเร็วขึ้นรวมทั้งเพิ่มวงเงิน

หลังประชุมสภาฯ เมื่อวันพฤหัสที่ 29 ม.ค. ได้ขึ้นเครื่องบินเดินทางมายังเมืองซูริค สวิตเซอร์แลนด์ เชิญเอกอัครราชทูตและกงศุลใหญ่ในประเทศยุโรปและแอฟริกาเหนือ เพื่อชี้แจงการทำงานของรัฐบาลที่ผ่านมา ให้เมิตรประเทศเข้าใจว่าประเทศไทยกำลังเดินไปข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยายามทำสถานการณ์กลับสู่ปกติ ซึ่งเอกอัครราชทูตและกงศุลได้สะท้อนว่าต่างมองเห็นประเทศไทยในเชิงบวกขึ้น

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากนั้นเดินทางต่อไปยังไปดาวอส เพื่อประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก ซึ่งมีผู้นำรัฐบาลและธุรกิจโลกมาประชุมร่วมกันทุกปี จึงเป็นโอกาสดีได้พบบุคคลชั้นนำจากหลายวงการ พร้อมเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในประเทศไทยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น นอกจากนี้ได้เน้นย้ำการแก้ปัญหา ต้องไม่นำไปสู่การปิดกั้นทางการค้าและการลงทุน นอกจากนี้ ตนยังได้รับเชิญให้อภิปรายในหัวข้อการฟื้นฟูเศรษฐกิจโลก เกี่ยวกับการดูแลสภาพคล่องโดยรวมและประเทศต่างๆ ด้วย

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้รับเชิญในการกล่าวนำอภิปรายเกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยว พบว่าการท่องเที่ยวทั่วโลกลดลงร้อยละ 20 เช่นเดียวกับประเทศไทย จึงเห็นว่าเป็นประเด็นปัญหาทั่วโลก และกล่าวนำการอภิปรายปัญหาวิกฤตอาหาร ตนได้สะท้อนปัญหาเบือนตลาดและปิดกั้นตลาด ส่งผลให้ผลิตอาหารน้อยกว่าที่ควรจะเป็น

นอกจากนี้ยังได้พบผู้นำภาครัฐหลายประเทศ ทั้งการหารือกับประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ ยืนยันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ รวมทั้งพยายามผลักดันให้ภูมิภาคอาเซียนก้าวหน้า มาตรการการเงินการคลัง และความมั่นคงทางอาหาร ทักทายนายกรัฐมนตรีอังกฤษ ขอบคุณนายกรัฐมนตรีปากีสถาน ให้ความช่วยเหลือให้ชาวมุสลิมเข้าใจปัญหาภาคใต้ นอกจากนี้ ยังได้พบดยุคออฟยอร์ค หรือเจ้าชายแอนดรูว์ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเสด็จเยือนประเทศไทย ขณะรัฐมนตรีอินเดียยืนยันมีความยินดีในการลงนามการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน นอกจากนี้ ยังได้ร่วมเวทีกับโคฟี อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ และนายบิล เกตต์ อดีตผู้บริหารไมโครซอฟท์ อีกด้วย

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มีข่าวดี คือ กลางเดือนมิถุนายน เกาหลีใต้เป็นเจ้าภาพจัดประชุมย่อยต่อเนื่องจากเวทีนี้ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้บริหารทางธุรกิจชั้นนำจะแวะมาที่ประเทศไทย เพื่อเข้าหารือกับรัฐบาลไทย ซึ่งไม่แน่ว่ากรุงเทพฯ อาจได้เป็นสถานที่จัดประชุมในปีหน้า

มาร์คแฉสมุนแม้วเดินสายล็อบบี้ล้มอาเซียนซัมมิท

ก่อนหน้านี้สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 31 มกราคมว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีไทย กล่าวกับผู้สื่อข่าวระหว่างการเข้าร่วมประชุมเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยแสดงความเชื่อมั่นว่า กระแสความรู้สึกของคนไทยพลิกกลับไปเป็นการต่อต้านกลุ่มผู้ประท้วงที่ต่อต้านรัฐบาลแล้ว และไม่ได้เป็นกังวลกับเรื่องการชุมนุมประท้วงนี้แต่อย่างใด

รองนายกรัฐมนตรีได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องนี้ให้แน่ใจว่า จะไม่มีการกระทำในแบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปีที่แล้วเกิดขึ้นซ้ำอีก ผมคิดว่าความรู้สึกของประชาชนตอนนี้ก็คือ พวกเขาอยากให้สังคมก้าวไปข้างหน้าอย่างมาก อยากก้าวข้ามความแตกแยกที่เป็นอยู่ในเวลานี้ไป พวกเขาต้องการเห็นรัฐบาลทำงานหนัก รับมือกับปัญหาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับประชาชน ซื่อสัตย์ และมีจริยธรรม ซึ่งล้วนแต่หายไปนานมากแล้ว นายอภิสิทธิ์กล่าว พร้อมกับเสริมว่า ถ้าหากรัฐบาลสามารถทำงานต่างๆ ได้เหมือนๆ กับเดือนที่แล้ว ก็ไม่รู้สึกกังวลอะไรกับการประท้วงอีกต่อไป

นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกต่างหากที่เป็นความเสี่ยงที่ใหญ่โตกว่า ทั้งนี้ อาจสั่งให้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นอกเหนือจากมาตรการกระตุ้นต่างๆ มูลค่ารวม 3,300 ล้านดอลลาร์ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาไปแล้วเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดย นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อยู่ระหว่างการเจรจากับสถาบันการเงินระหว่างประเทศ โดยมีธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (เอดีบี) เป็นหลัก เพื่อขอความช่วยเหลือทางด้านการเงินสำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่นี้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวกับเอเอฟพีด้วยว่า รัฐบาลมีความเข้มแข็งมากขึ้นหลังจากได้รับเสียงสนับสนุนมากขึ้นในรัฐสภาหลังการเลือกตั้งซ่อม แต่ฝ่ายของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีก็ยังคงมีอิทธิพลอยู่ต่อไป โดยบอกด้วยว่า ฝ่ายสนับสนุนอดีตนายกรัฐมนตรีพยายามล็อบบี้สถานทูตของประเทศภาคีสมาชิกอาเซียน ไม่ให้เข้าร่วมประชุมสุดยอดกลุ่มประเทศอาเซียนในไทยในเดือนกุมภาพันธ์นี้

คุณไม่สามารถประเมินคนที่มีเงินระดับนั้นต่ำๆ เป็นอันขา ด แต่ด้วยความเป็นจริงที่ว่า ตอนนี้คนไทยอยากให้ประเทศเคลื่อนไปข้างหน้า ทำไมเราต้องมาถูกฉุดรั้งไว้เพราะคนเพียงคนเดียว นายอภิสิทธิ์กล่าว

นายอภิสิทธิ์ยืนยันกับสำนักข่าวต่างชาติว่า ในความคิดของตน ตอนนี้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลแล้วว่า จะสามารถทำหน้าที่ได้ดีแค่ไหน ตอบสนองประชาชนได้หรือไม่ เพราะคนไทยเบื่อหน่ายความขัดแย้งและแตกแยกมากแล้วจริงๆ

รอยเตอร์ระบุด้วยว่า นายกรัฐมนตรีไทยแสดงความเชื่อมั่นว่า แม้ในทางเทคนิคด้านเศรษฐศาสตร์แล้วเศรษฐกิจไทยอาจตกอยู่ในภาวะถดถอย กล่าวคือมีการเติบโตเป็นลบต่อเนื่องกันทั้งในไตรมาสที่ 4 ของปีที่ผ่านมาและในไตรมาสแรกในปีนี้ ที่เศรษฐกิจอาจหดตัวลงอีกก็เป็นได้ เพราะการท่องเที่ยวของไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกในหลายเดือนที่ผ่านมา แต่หวังว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลจะช่วยให้อัตราการขยายตัวโดยเฉลี่ยทั้งปีเป็นบวกได้

นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า มาตรการกระตุ้นของรัฐบาลที่ดำเนินการไป น่าจะเกิดผลต่อเศรษฐกิจตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป ดังนั้น การเติบโตทั้งปีน่าจะดีขึ้น โดยหวังว่า การฟื้นตัวน่าจะเป็นไปได้ในไตรมาสที่สองและสาม ซึ่งจะทำให้โดยรวมทั้งปีเป็นบวกหรืออย่างน้อยที่สุดก็ไม่ตกลงไปในแดนลบ

รายงานข่าวระบุว่า ในระหว่างการประชุมครั้งนี้ นายอภิสิทธิ์พบหารือกันายไซยิด ยูซุฟ ราซา กีลานี นายกรัฐมนตรีปากีสถาน เมื่อวันที่ 30 มกราคม โดยได้หยิบยกประเด็นสำคัญทั้งด้านทวิภาคีและระดับภูมิภาคขึ้นมาหารือ และต่างเห็นพ้องที่จะกระชับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศทั้งสองให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในด้านความสัมพันธ์ทวิภาคีและด้านเศรษฐกิจ ที่ปากีสถานคาดหวังว่าจะสามารถสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนโดยสมบูรณ์กับประเทศไทยขึ้นได้ ในขณะที่นายอภิสิทธิ์แสดงความยินดีที่จะสนับสนุนปากีสถานให้ได้รับสถานะเป็นประเทศคู่เจรจาของกลุ่มประเทศอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบเช่นกัน นอกจากนั้น ยังตอบรับคำเชิญของนายกีลานีว่าจะเดินทางไปเยือนปากีสถานในอนาคตอันใกล้นี้

สำนักข่าวไทยรายงานภารกิจนายกรัฐมนตรีว่า หลังจากนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมเอกอัครราชทูต ประจำภาคพื้นยุโรป ณ โรงแรม Radisson นครซูริก ในช่วงเช้าวันที่ 30 มกราคม ตามเวลาท้องถิ่นซึ่งช้ากว่าประเทศไทย 6 ชั่วโมง นายกฯเดินทางต่อไปยังเมืองดาวอส เพื่อเข้าร่วมเสวนาระหว่างรับประทานอาหารกลางวัน หัวข้อ Growth via Traveland Tourism ณ โรงแรม Waldhuss

ด้านนายปณิธาน วัฒนายากร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในเวทีเสวนาดังกล่าว นายกรัฐมนตรีได้รับโอกาสกล่าวนำ ในหัวข้ออุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในวิกฤตเศรษฐกิจ ซึ่งประธานในที่ประชุมและสมาชิกที่เข้าฟังเป็นเจ้าของกิจการโรงแรมขนาดใหญ่ทั่วโลก ทั้งในยุโรป เอเชีย และตะวันออกลางต่างให้การตอบรับ และเห็นพ้องกับคำกล่าวของนายกฯที่นำเสนอแนวทางให้ภาคเอกชนและรัฐบาลมีความร่วมมือในการฟื้นฟูการท่องเที่ยว ในภาวะเศรษฐกิจถดถอย ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการท่องเที่ยว เพื่อรองรับโอกาสใหม่เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัว

ที่ประชุมเห็นว่านายกรัฐมนตรีเป็นคนที่เข้าใจถึงคุณค่าของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและยังเข้าใจถึงความสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในยามที่เศรษฐกิจถดถอยรวมทั้ง มีแนวทางในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ให้พัฒนาไปข้างหน้าโดยมีแผนพัฒนาระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว นายปณิธานกล่าว

ขณะที่นายอภิสิทธิ์เปิดเผยภายหลังเข้าร่วมการประชุมหัวข้อต่างๆ ในเวทีเศรษฐกิจโลก หรือ เวิลด์ อีโคโนมิค ฟอรัม ร่วมกับผู้นำรัฐบาลกว่า 20 ประเทศ ว่า ที่ประชุมได้พูดถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และวิกฤตการเงินโลกโดยผู้นำของทุกประเทศมีความพ้องกันถึงความจำเป็นเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาสถาบันการเงินของโลกตะวันตก และการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยจะต้องเร่งดูแลไม่ให้มีการกีดกันทางการค้าและต้องไม่ลืมพัฒนาประเทศกำลังพัฒนาด้วย

ผู้สื่อข่าวสำนักข่าวไทย รายงานด้วยว่า นายกรัฐมนตรีได้มีโอกาสเข้าเฝ้าเจ้าชายแอนดรูว์แห่งสหราชอาณาจักร ซึ่งนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เจ้าชายแอนดรูว์ได้แสดงความสนับสนุนประเทศไทย ในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจและมีแนวโน้มที่จะเสด็จฯเยือนประเทศไทยทันทีที่มีโอกาส เพื่อทรงเป็นองค์กระชับความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับสหราชอาณาจักร

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook